JMART พึ่งได้เพียง JMT

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หุ้นบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่ก่อนหน้านี้ ราคาวิ่งอยู่ช่วงระหว่าง 8-10 บาท ไหลรูดแบบไม่มีเบรกลงเรื่อย ๆ เคยสถิติต่ำสุด 4.38 บาท ขณะที่ล่าสุด (7 ธ.ค. 2561) ราคาปิดอยู่ที่ 5.35 บาท


สำนักข่าวรัชดา

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หุ้นบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ที่ก่อนหน้านี้ ราคาวิ่งอยู่ช่วงระหว่าง 8-10 บาท ไหลรูดแบบไม่มีเบรกลงเรื่อย ๆ เคยสถิติต่ำสุด 4.38 บาท ขณะที่ล่าสุด (7 ธ.ค. 2561) ราคาปิดอยู่ที่ 5.35 บาท

นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับหุ้น JMART ที่แค่ช่วงระยะเวลา 1 เดือนครึ่งราคาถึงลงเกือบ 5 บาท

ถ้าดูโครงสร้างธุรกิจของ JMART จะพบว่า ธุรกิจมือถือซึ่งเป็นธุรกิจหลักทุกวันนี้ไม่ค่อยดีนัก แม้จะมี J-Phone เป็นเฮ้าส์แบรนด์ ตีตลาดล่าง ก็เจอแบรนด์หลัก ๆ หันมาลดราคาสู้ ทำให้ตลาดล่างก็ไม่สำเร็จเท่าที่ควร

หวังจะพึ่งพาบรรดาบริษัทลูกช่วยหนุนแม่ บางบริษัทก็ยังเอาตัวไม่ค่อยรอด !!!

ไล่เรียงมาตั้งแต่บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ที่ JMART ทุ่มเงิน 945 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 24.99% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ SINGER ซึ่ง “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ซีอีโอ JMART หวังว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีแผน synergy ธุรกิจระหว่างกัน

แต่พอซื้อ SINGER มาแล้ว ก็มีปัญหากำไรหดหาย และเริ่มขาดทุนให้เห็น โดยปี 2558 จากเคยมีกำไร 143.15 ล้านบาท ในปี 2559 ลดเหลือ 119.81 ล้านบาท และปี 2560 พลิกมาขาดทุน 9.76 ล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกปีนี้ ขาดทุนไปแล้ว 98.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 10.01 ล้านบาท

ส่วนสิ่งที่เคยประกาศไว้ ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม เรียกว่าซื้อมาเสียของจริง ๆ

ด้านบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมาก็ไม่โดดเด่น

หันไปดูบริษัท เจ เวนเจอร์ จำกัด ที่ JMART ถือหุ้น 80% เมื่อช่วงต้นปีสร้างความฮือฮาด้วยการออก ดิจิทัล โทเคน หรือเงินดิจิทัลชื่อ “เจฟินคอยน์” มาขายเป็นครั้งแรกก็เงียบหายไปแล้ว ดูจะไม่สำเร็จ ไม่มีธุรกรรมให้เห็นอีกเลย

ส่วนบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ธุรกิจปล่อยสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อแฟคตอริ่ง หวังพึ่งพาไม่ได้ เพราะขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี 2559 ขาดทุน 149.83 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุนลดลงอยู่ที่ 47.05 ล้านบาท

เห็นจะมีแต่บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ธุรกิจบริหารหนี้ ที่ JMART ถือหุ้นใหญ่ 55.81% ที่พอจะช่วยกู้หน้าแม่..ได้บ้าง มีกำไรเติบโตทุกปี

โดยปี 2558 มีกำไร 94.64 ล้านบาท ปี 2559 กำไรเพิ่มเป็น 290.41 ล้านบาท ปี 2560 กำไรสูงถึง 396.13 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรกปีนี้ ฟาดกำไรไปแล้ว 374.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 296.84 ล้านบาท

แต่…ยังไม่เพียงพอที่จะหนุนให้งบไตรมาส 3/2561 ของ JMART ออกมาสวยหรู แถมน่าผิดหวังด้วยซ้ำ เพราะมีกำไรแค่ 2.62 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่เคยมีกำไรระดับ 130.82 ล้านบาท สาเหตุมาจากรายได้จากการขายลดลง 12.8% อยู่ที่ 2,101 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2,409 ล้านบาท รวมถึงรายได้ค่าเช่าและค่าบริการลดลงอยู่ที่ 151 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 178 ล้านบาท

ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ พลิกมาขาดทุน 140.09 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 394.12 ล้านบาท

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เผลอ ๆ ปีนี้อาจเป็นปีแรกที่ JMART ประสบปัญหาขาดทุนก็ได้ ใครจะไปรู้ ..!?

นี่อาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้น JMART ถึงรูดลงมาแบบไม่มีเบรกเช่นนี้ !!!

ส่วนการที่ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” แอบมาเก็บหุ้น JMART เข้าพอร์ตส่วนตัวช่วงวันที่ 26-27 พ.ย. 2561 เพิ่มอีก 1 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 4.86 บาท ใช้เงิน 4,868,000 บาท จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้แค่ไหนนั้น

อันนี้…ก็ไม่รู้สินะ

…อิ อิ อิ…

Back to top button