SCB ในอนาคต
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่งจะแถลงข่าวแผนงานปี 2562
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่งจะแถลงข่าวแผนงานปี 2562
เป้าการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ระหว่าง 5-7% และจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย และเอสเอ็มอีขนาดเล็กให้มากขึ้น
ส่วนปี 2561 เห็นว่า อาจจะ “ใกล้เคียง” กับเป้าหมาย 6-8%
ผมถามคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอ SCB ว่า คำว่าใกล้เคียงนี่คือ เราพอใจหรือไม่
เขาเงียบไปชั่วครู่ ก่อนจะบอกว่า “ไม่ค่อยพอใจ”
จากคำตอบ ผมเลยเดาเอาเองว่า อาจจะออกมาต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย
อย่างที่ทราบกันว่า SCB อยู่ระหว่างการทำเรื่อง SCB Transformation และเฟสแรกดำเนินการเสร็จไปแล้ว
ตอนนี้อยู่ในช่วงของเฟสสอง ที่เรียกว่า “กลับหัวตีลังกา” หรือ Going Upside Down ซึ่งไทยพาณิชย์จะต่อยอดจากโครงสร้างที่ทำไว้ในเฟสแรก
อาจมีคำถามว่า ไทยพาณิชย์ทำอะไรไปแล้วบ้าง
เท่าที่ดูจากข้อมูล ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มความสะดวกการทำธุรกรรมที่ง่าย และรวดเร็วขึ้น
หรือเป็นด้านของ Banking Technology
เช่น E-KYC Account Opening ผ่าน SCB Easy App ที่จะใช้เวลาเพียง 10 นาที
การบันทึกรายรับ-รายจ่าย ผ่าน Chat board ของ “เผือกหอม” ช่วยสรุปยอดรับ-จ่ายเป็นหมวดหมู่
SCB SME ร่วมมือกับ Google My Business ช่วยให้ลูกค้า SME สามารถปักหมุดเพื่อโปรโมตธุรกิจได้ภายใน 30 นาที จากเดิมที่ใช้เวลาถึง 30 วัน
ความร่วมมือกับ Ripple ให้บริการโอนเงินข้ามประเทศด้วย Block chain แบบ Real time จากปกติใช้เวลา 2 วัน
Customer Data Analytics ให้ Relationship Manager วางแผนดูแลและเสนอผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าอย่างเหมาะสม
และยังมีการการลงทุน Digital banking ผ่าน SCB Easy App ที่ได้รับผลตอบรับดีจากลูกค้า สามารถ Acquire ลูกค้า Digital users เพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านราย
และยังมีธุรกรรมการเงินอีกหลายรายการที่ไทยพาณิชย์กำลังทำให้ตัวเองนั้นเกิดการ “เปลี่ยนแปลง”
ส่วนเฟสสอง ก็เป็นเรื่องการนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ ๆ
นัยสำคัญ ก็เพื่อนำมารองรับความต้องการของลูกค้าท่ามกลางสภาวะธุรกิจธนาคารที่เปลี่ยนไป
คาดว่า ไทยพาณิชย์จะเปิดตัวบริการทางการเงินบนช่องทางดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบในไตรมาส 1/62
เช่น บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล การขอเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลที่แข็งแกร่งขึ้น จะช่วยให้ธนาคารสามารถเพิ่มรายได้ใหม่ ๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน และช่วยลดค่าใช้จ่าย
คุณอาทิตย์ ย้ำว่า ธนาคารต้องมองให้มากกว่าเป็น “แหล่งระดมทุน”(หรือจะไปยึดอยู่กับการปล่อยสินเชื่ออย่างเดียวไม่ได้)
ธนาคารต้องปรับเปลี่ยนขีดความสามารถให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ธนาคารต้องดูว่า ทำอย่างไรให้ลูกค้ามาใช้บริการทางการเงิน หรือสินค้าทางการเงินเหล่านั้น
และทำอย่างไรให้ธนาคารเกิดการปรับเปลี่ยนทั้งวัฒนธรรม และเทคโนโลยี และมีเป้าหมายว่า “ลูกค้าต้องพอใจ”
ผมเชื่อว่า ในช่วงต้นปี 2562 น่าจะเริ่มเห็นอะไรใหม่จากไทยพาณิชย์ออกมาเพิ่มเติม
ปัจจุบัน ไทยพาณิชย์มีสินค้าทางการเงินค่อนข้างหลากหลาย
และไม่ได้ขายสินค้าทางการเงินของบริษัทในเครือ และบริษัทลูกเท่านั้น
ทว่ายังมีสินค้าทางการเงินของสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ไทยพาณิชย์นำเข้ามาขายด้วย เช่น ประกันชีวิตแบบ “ยูนิตลิงค์” ที่เป็นช่องทางขายให้กับพรูเด็นเชียล
วิธีการแบบนี้ทำให้บริษัทลูกค้าต้องพัฒนาตัวเอง จะมาเกาะบริษัทแม่เพื่อเติบโตต่อไปไม่ได้
เช่นเดียวกับตัวของธนาคารไทยพาณิชย์ เขาก็ต้องเพิ่ม “โอกาส” ในการหารายได้ให้กว้างขึ้น
ไทยพาณิชย์เองนั้น กำลังทำเรื่องของ Wealth หรือการให้คำปรึกษาการลงทุนด้านการเงินกับลูกค้า และเป็นเรื่องที่ทางธนาคารกล่าวถึงบ่อยมาก
บริการนี้ถือว่าซ้ำซ้อนกับ บลจ.ไทยพาณิชย์
แต่ตัวของธนาคารไทยพาณิชย์เองมองว่า “ต้องแข่งขันกัน”
นี่คือวิธีการ และความคิดของ ไทยพาณิชย์ ภายใต้กลยุทธ์ “กลับหัวตีลังกา”