เค้าลางของลิงแก้แห
ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามออกมาดิสเครดิตรายงานวิเคราะห์ของธนาคารเครดิตสวิสว่าข้อมูลเก่าเกิน หรือวิธีการไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนไทย เป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามออกมาดิสเครดิตรายงานวิเคราะห์ของธนาคารเครดิตสวิสว่าข้อมูลเก่าเกิน หรือวิธีการไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนไทย เป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้
ไม่ว่าจะเป็นอันดับหนึ่งของโลกหรือไม่ แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง ดำรงอยู่จริง ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์
ในเชิงทฤษฎี ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ
– ในทางเศรษฐกิจ หมายรวมถึง ภาวะที่คนรวยรวยขึ้นและคนจนจนลง มาร์กซ เรียกว่า กฎแนวโน้มกำไรลดลง หรือ กฎแห่งความยากจนเพิ่มขึ้น หรือ กฎการรวมทุนเข้าสู่ศูนย์กลาง ที่เข้าข่ายรวยกระจุก จนกระจาย
– ในทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำจากการเลือกปฏิบัติด้วยอำนาจรัฐ ทำลายความอดกลั้นทางความคิด ส่งผลต่อการขาดขันติธรรมทางกลุ่มผลประโยชน์ลงไป ส่งผลต่อความแตกแยกที่นำไปสู่ภาวะรัฐ
– ในทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส วัดจาก ดัชนีการพัฒนามนุษย์ เกี่ยวข้องกับการคาดหมายคงชีพ การศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อหัว ได้แก่
การมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดี – วัดจากอายุขัย
ความรู้ – วัดจากการรู้หนังสือ (มีน้ำหนักเป็นสองในสามส่วน) และอัตราส่วนการเข้าเรียนสุทธิที่รวมกันทั้งระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา (มีน้ำหนักเป็นหนึ่งในสามส่วน)
มาตรฐานคุณภาพชีวิต – วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวและความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อทั้งหมดของปัจจัยว่าด้วยมิติความเหลื่อมล้ำ คือเกณฑ์ใช้วัดคุณค่าของคำว่า “ประชาธิปไตย” ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
เรื่องนี้ คนในสังคมไทย ยากจะเข้าใจเพราะเกณฑ์ดังกล่าวมาถูกกระแสทำให้เจือจางลงไป
ความหมายของ ประชาธิปไตย และความเหลื่อมล้ำ จึงโยงใยกันลึกซึ้งและผกผันกัน
ถ้ามีความเหลื่อมล้ำสูงถือว่าเป็นประชาธิปไตยต่ำ
เหตุผลเชิงทฤษฎีคือ ประชาธิปไตยเป็นระบบการเมือง (ตามนิยามของ กมล สมวิเชียร) ที่มีจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม
ความยุติธรรมข้างต้นที่ว่ามา อาจแบ่งออกได้เป็น 2 อย่างคือ ความยุติธรรมทางกฎหมาย อันได้แก่การที่ประชาชนทุก ๆ คนไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจนแค่ไหนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ขึ้นศาลอย่างเดียวกัน และได้รับความคุ้มกันจากกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งบางครั้งเราจะใช้คำว่า “ความเสมอภาคในกฎหมาย” ส่วนความยุติธรรมอีกแบบหนึ่งนั้น มีความละเอียดอ่อนและยุ่งยากมากกว่า ซึ่งเราเรียกโดยทั่วไปว่า “ความยุติธรรมในสังคม”
ความยุติธรรมในสังคม เป็นหัวใจอันสำคัญอย่างยิ่งยวดของวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ซึ่งถ้าหากปราศจากแล้วไซร้ ประชาธิปไตยก็จะหมดความหมาย ตามตัวของมันนั้นคงจะแปลความได้ว่าคือ “ความถูกต้องของระบบสังคม และของสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่อยู่ร่วมกัน” ซึ่งเมื่อแปลออกมาก็ยังไม่ให้ความเข้าใจมากขึ้นสักเท่าใด เพราะคำถามที่ติดตามมาจะมีต่อไปว่า “อะไรคือความถูกต้อง” หรือ “อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ถือว่ายุติธรรม” ฯลฯ เป็นต้น
ในสังคมของประชาธิปไตยแบบตะวันตก (ได้แก่แบบอังกฤษ สหรัฐฯและกลุ่มสแกนดิเนเวีย เป็นอาทิ) “ความยุติธรรมในสังคม” เข้าใจกันว่า คือการปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างมากมายของบุคคลในสังคม ความเหลื่อมล้ำหรือแตกต่างอย่างมากนี้ ได้แก่ความแตกต่างในฐานะทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ความร่ำรวยหรือยากจน ความแตกต่างทางการศึกษาอันได้แก่ความรู้ ความแตกต่างในทางสังคมอันได้แก่เกียรติยศ ความมีหน้ามีตาหรือบรรดาศักดิ์ รวมไปถึงความแตกต่างในด้านต่าง ๆ ทั้งหมด
หมายความว่าประเทศที่มีความยุติธรรมทางสังคม จะต้องหาทางให้บุคคลทุกคนมีฐานะความเป็นอยู่ในด้านต่าง ๆ ทัดเทียมกัน ให้มากที่สุด ความว่าจะต้อง เท่ากัน เพราะการที่จะทำให้บุคคลเท่ากัน แต่มิได้หมายถึงมีฐานะเท่ากันในทุก ๆ ด้านนั้นย่อมเป็นไปมิได้ เนื่องจากบุคคลย่อมมีความแตกต่างกันในทางความสามารถ สติปัญญา พื้นฐานชีวิตและอื่น ๆ มาแล้ว จะทำได้ก็ต่อเมื่อต้องมีการลิดรอนสิทธิพื้นฐานของแต่ละคนเป็นอย่างมากซึ่งผิดหลักประชาธิปไตย
ความพยายามที่จะให้บุคคลมีความเป็นอยู่และศักดิ์ศรีทัดเทียมกันนี้ สามารถทำได้มากมายหลายทาง และแต่ละประเทศก็เลือกวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผลทำให้เราสามารถวัดได้ว่าประเทศใดให้ความยุติธรรมในสังคมแก่ประชาชนของเขามากหรือน้อยกว่าประเทศใด
วิธีการหนึ่งก็คือรัฐพยายามให้การศึกษาแก่ประชาชนให้มากที่สุดและสูงสุดโดยไม่คิดมูลค่า พยายามให้มีระบบสงเคราะห์คนยากจนให้สามารถมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น พยายามให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เช่นทางการแพทย์ การสาธารณสุข การคมนาคม ฯลฯ เงินที่รัฐนำมาใช้จ่ายในการนี้ได้มาจากการเก็บภาษีอากรซึ่งคนรวยจะต้องจ่ายมากกว่าคนจน โดยถือว่าทุก ๆ คนมีความรับผิดชอบต่อสังคม และคนที่โชคดีกว่าหรือมีความสามารถสูงกว่า จะต้องมีความรับผิดชอบช่วยเหลือสังคมมากกว่า (โดยการเสียภาษี) อันเป็นหลักปรัชญาของระบบสังคมสงเคราะห์
นอกจากนั้นจะมีการประกันสังคมในลักษณะต่าง ๆ เช่นให้เงินช่วยเหลือเลี้ยงดูเมื่อไม่สามารถทำงานได้หรือตกงาน หรือให้การเลี้ยงดูเมื่อมีอายุอยู่ในวัยชรา ดังนี้ เป็นต้น
การเก็บภาษีเพื่อนำไปช่วยคนยากจน หรือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำในด้านต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ เก็บมากน้อยแตกต่างกันแล้วแต่ละประเทศ เช่นประเทศสวีเดนซึ่งมีการประกันสังคมในด้านต่าง ๆ อันเป็นผลทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีน้อย และระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศนี้ใกล้เคียงกันอย่างน่าชมนับเป็นตัวอย่างของโลก มีการเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้สูงมากและระบบภาษีเป็นแบบก้าวหน้า
ประเทศด้อยพัฒนาส่วนมาก ยังไม่มีระบบประกันสังคม หรือสังคมสงเคราะห์ หรือ ถ้ามีก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ การเก็บภาษียังเป็นแบบที่คนรวยหรือคนมีอำนาจ ใช้พลังการสมคบคิดอันทรงอิทธิพล (ซึ่งมักเป็นคนพวกเดียวกัน) เพื่อทำให้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมน้อยลง (หักค่าลดหย่อนสารพัด) ส่วนคนจนกลับเสียภาษีมากเมื่อเทียบอัตราส่วนกับรายได้
ผลลัพธ์โดยรวม คือความยุติธรรมในสังคมมีมาก ความเหลื่อมล้ำอย่างมากในทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและอื่น ๆ สามารถแลเห็นได้อย่างเด่นชัด ซึ่งหมายความว่า ประชาธิปไตยในส่วนที่เป็นพื้นฐานเป็นชีวิตประจำของคนในสังคมมีน้อย หรือในบางแห่งนั้นแทบจะไม่มีเอาเลย
ไทยจะเป็นแชมป์โลกหรือไม่จึงไม่ใช่ประเด็น แต่การที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากเป็นปัญหาที่ไม่อาจจะละเลยได้
เว้นแต่เชื่อหมอดูว่า ความเหลื่อมล้ำนี้ยังเป็นภาวะ “โลกสวย” สำหรับการมีอำนาจเหนือรัฐอันวุ่นวายในสภาพ “ลิงแก้แห” ต่อไป