รู้จักหุ้น TQM
TQM หรือ บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นไอพีโอล่าสุด และจะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ SET วันที่พฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคมนี้
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
TQM หรือ บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นไอพีโอล่าสุด และจะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ SET วันที่พฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคมนี้
ระหว่างนี้ (12-14 ธันวาคม) อยู่ในช่วงของการเสนอขายหุ้นไอพีโอ 75 ล้านหุ้น
ราคาจองซื้อ (ไอพีโอ) กำหนดไว้ที่ 23.00 บาทต่อหุ้น
และราคาตามมูลค่าตามบัญชี หรือ Book Value คือ 1.94 บาทต่อหุ้น
มูลค่าระดมทุนเบ็ดเสร็จ ราว ๆ 1,725 ล้านบาท
พี/อี เรโช อยู่ประมาณ 20 เท่า และมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท
ปัจจุบัน ใน SET ยังไม่มีธุรกิจในรูปแบบเดียวกับ TQM
หากจะมีก็จะอยู่ใน mai คือ ASN หรือ บริษัท เอเอสเอ็น โบรกเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่มีระดับพี/อี กว่า 50 เท่า (เฉลี่ย 12 เดือนย้อนหลัง หรือ 28 พ.ย.60–27 พ.ย.61)
แต่อยากจะบอกว่า “ขนาด” ของ TQM และ ASN นั้นแตกต่างกันมาก
TQM ใช้ “บล.บัวหลวง” และ “บล.ธนชาต” เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)
ในวันที่เซ็นสัญญาเพื่อแต่งตั้ง FA นั้น ฝั่งของ บล.บัวหลวง นำโดย “พิเชษฐ สิทธิอำนวย” กรรมการผู้อำนวยการ พร้อมผู้บริหารระดับสูงมากันพร้อมเพรียง
เช่นเดียวกับ บล.ธนชาต ที่นำโดย “สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ” พร้อมผู้บริหารระดับสูงมากันพร้อมหน้าพร้อมตาเช่นกัน
ดีลนี้จึงถูกจัดว่าไม่ธรรมดา
มีคำถามว่า TQM เป็นใครมาจากไหน
คำตอบคือ เขาทำธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น หรือ Holding Company
การประกอบธุรกิจหลัก คือ นายหน้าประกันภัย มีบริษัทย่อยที่ทำธุรกิจหลัก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด เป็นนายหน้าประกันวินาศภัย
และบริษัท ทีคิวเอ็ม ไลฟ์ อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด ทำธุรกิจเป็นนายหน้าประกันชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทย่อยอีก 1 บริษัทเพื่อสนับสนุนธุรกิจหลัก นั่นคือ บริษัท แคสแมท จำกัด เป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และซอฟต์แวร์
รายได้หลัก ๆ กว่า 97–99% มาจากการเป็นนายหน้าประกันภัย
ปี 2560 มีเบี้ยประกันภัยรับ 10,147 ล้านบาท เติบโต 7% และในจำนวนนี้กว่า 77% เป็นเบี้ยประกันภัยจากรถยนต์
ส่วนปี 2561 เป้าหมายเบี้ยประกันของ TQM อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท
แต่ด้วยความที่เป็นนายหน้าประกันภัย ดังนั้น เมื่อมีเบี้ยประกันเข้ามา ก็ต้องส่งให้กับทางบริษัทประกันที่เป็นพันธมิตร (ประมาณ 40 บริษัท)
ทว่าจะมีหักเบี้ยส่วนหนึ่งเพื่อเป็น “รายได้” ของบริษัท
ปี 2558 TQM มีรายได้ 2,184 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้เพิ่มเป็น 2,226 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้เพิ่มเป็น 2,281 ล้านบาท
ส่วนปี 2561 ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) มีรายได้รวม 1,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.11% จากช่วงเดียวกับของปี 2560
ดูรายได้แล้ว มาดูกำไรสุทธิกันบ้าง
ปี 2558 กำไรสุทธิ 140.4 ล้านบาท
ปี 2559 กำไรสุทธิ 178.2 ล้านบาท
ปี 2560 กำไรสุทธิ 268.3 ล้านบาท และคิดเป็นอัตราเติบโตสะสมเฉลี่ย (CAGR) 38.3%
ส่วน 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ปี 2561 กำไรสุทธิ 276.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 213 ล้านบาท
รูปแบบธุรกิจของ TQM นั้น จะไม่เหมือนกับบริษัทประกันทั่วไป (ทั้งประกันชีวิต และวินาศภัย) ที่จะต้องมีการตั้งสำรองฯ อะไรต่าง ๆ จำนวนมาก โดย TQM จะไม่มีรายจ่ายในส่วนนี้
ปัจจุบัน เมื่อดูจากขนาดของบริษัท และเบี้ยประกันภัยที่รับเฉลี่ยต่อปี
ถือว่า TQM เป็นบริษัทนายหน้าประกันภัยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 TQM มีพนักงานระดับผู้บริหาร พนักงานขาย และพนักงานระดับปฏิบัติการรวมราว ๆ 3,600 คน ประจำสำนักงานใหญ่ สาขา และศูนย์บริการทั่วประเทศ 74 สาขา และ 21 ศูนย์บริการ
อ้อ… ด้านการจัดสรรหุ้น 75 ล้านหุ้นนั้น
ฝั่งนักลงทุนสถาบันได้ไปกว่า 50.0 ล้านหุ้น หรือประมาณ 67% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด
ส่วนที่เหลือเป็นของผู้บริหาร พนักงาน และประชาชนทั่วไป