สังคมข่าวหุ้น
* ตลาดหุ้นไทยล่าสุดปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,634.88 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.26 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 3.6 หมื่นล้านบาท
นิวส์เวฟ
* ตลาดหุ้นไทยล่าสุดปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,634.88 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 1.26 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 3.6 หมื่นล้านบาท
* วันนี้ หนึ่งในเรื่องราวที่น่าติดตามคงหนีไม่พ้นประเด็น กกพ.มีกำหนดประกาศเป็นทางการกับกรณีการอุธรณ์ GPSC ยื่นซื้อหุ้น GLOW มูลค่า 1 แสนล้านบาท ถ้าอิงกันที่ตามข้อมูลกระแสข่าวที่รายงานกันมาดูทรงแล้วคงไม่มีอะไรพลิกโผ และน่าจะจบลงด้วยทาง กกพ.ยังยืนยันและยึดมติเดิม คือ “ไม่อนุมัติให้ GPSC ซื้อ GLOW”
* คำถามที่ตามมาถ้า GPSC ไม่สามารถซื้อ GLOW ได้ จะเป็นอย่างไรต่อ ? แต่จะขอโฟกัสพูดถึง GPSC เป็นหลัก เพราะ GLOW เมื่อไม่ได้ถูกเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานจึงอิงตามเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เดิมที GPSC มีแผนซื้อทุ่มเงินร่วม 1 แสนล้านบาทเข้าซื้อกิจการ เพราะมองเห็นถึงโอกาสวางจิ๊กซอว์เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจไฟฟ้า (แบบรวดเร็ว) ซึ่งนอกจากจะทำให้พอร์ตลงทุนธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดแล้ว ยังทำให้บริษัทมีความมั่นคงในการขายไฟฟ้าในพื้นที่มาบตาพุด จนสุดท้ายกลายเป็นชนวนที่ทำให้ถูกมองว่าเข้าเกณฑ์ผูกขาด
* แต่เมื่อผลออกมาไม่น่าเข้าซื้อ GLOW ได้ตามแผน พื้นฐาน GPSC ต้องถอยกลับไปสู่จุดเดิมด้วยเช่นกัน ถ้าไม่ได้ GLOW แล้วมีข้อดีอะไร อันดับแรกที่เห็นชัดเจนเลยคือ บริษัทไม่ต้องมีภาระแบกการลงทุนมหาศาลถึง 1 แสนล้านบาท แน่นอนหลายฝ่ายอาจจะบอกว่า เงินลงทุนขนาดนี้ GPSC รับไหวสบาย สถาบันการเงินอ้าแขนพร้อมดูแลให้เงินกู้เต็มกำลัง แต่ดีลนี้มีขนาดใหญ่มหาศาล และมีมูลค่ามากกว่ามาร์เก็ตแคป GPSC ในปัจจุบันที่อยู่ระดับ 8 หมื่นล้านบาทด้วยซ้ำไป ดังนั้น ความเสี่ยงที่ตามมาก็คือ ภาระทางการเงินที่สูงขึ้นและช่วงเวลาคุ้มทุนที่น่าจะกินระยะยาวนาน
* สอง แม้ GLOW จะมีพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าในมือรวมกว่า 3 พันเมกะวัตต์ แต่หลายโครงการได้ดำเนินการ COD มาเป็นระยะเวลานานแล้ว จึงเริ่มใกล้ถึงจุดที่ต้องเดินหน้าขยับขยายการลงทุนรอบใหม่ ซึ่งหาก GPSC เข้าไปถือหุ้น เท่ากับต่อไปในวันข้างหน้า เมื่อเกิดการลงทุนใหม่ GPSC จะต้องมีส่วนร่วมควักเงินลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไปด้วยเหมือนกัน และนี่ก็เท่ากับเป็นอีกความเสี่ยงเพิ่มในภายหลัง
* ทีนี้ลองมาดู GPSC ในก้าวเดินที่ไม่มี GLOW เป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานกันบ้าง และบริษัทยังมีสตอรี่อะไรให้มองเห็นต่อ ถ้าเอาโปรเจกต์ใหญ่ที่ใกล้เป็นรูปธรรมและน่าจะได้เห็นความชัดเจนเร็วที่สุดก็คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “ไซยะบุรี” ซึ่งมีกำลังผลิตทั้งโครงการประมาณ 1.2 พันเมกะวัตต์ โดยบริษัทลูก GPSC คือ “นที ซินเนอร์ยี่” ถือหุ้นในโครงการอยู่ 25% ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง คือ CKP ถือหุ้นรวมกว่า 37%
* หากอิงตามแผนและถ้าไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน จะได้เห็นไซยะบุรี COD ภายในช่วงปี 2562 แน่นอน แต่จะเร็วหรือช้ากว่ากำหนดอันนี้คงต้องลุ้นกันต่อไป จึงหมายความว่าทันทีที่ไซยะบุรีเดินเครื่องขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ เท่ากับ GPSC จะมีรายได้และกำไรแห่งใหม่เติมเข้ามาสู่พอร์ตอีกหลายร้อยเมกะวัตต์ทันที และถือเป็นประเด็นบวกที่ยังไม่ได้สะท้อนต่อหุ้น GPSC เลยสักนิด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาโดนกระแส GLOW กลบสนิท สวนทางกับ CKP ที่วิ่งบวกรับประเด็นนี้จนราคาทะลุ 5 บาทไปแล้ว
* อีกประเด็นบวกคือ การเดินหน้าโครงการ EEC ที่ภาครัฐผลักดันจนเริ่มเป็นรูปร่าง ซึ่งกลุ่ม ปตท.เองมีแผนขยายการลงทุนรับ EEC ในอนาคต ดังนั้นในส่วนของการผลิตไฟฟ้า GPSC ย่อมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพราะอย่าลืม GPSC มี PTT-TOP-PTTGC ร่วมถือหุ้นอยู่ ถ้ากลุ่ม ปตท.ขยับมีแผนลงทุนใหญ่ขึ้นมา GPSC ต้องมีส่วนร่วมด้านโรงไฟฟ้าเช่นกัน และปัจจัยบวกสุดท้ายคือแผน PDP ฉบับใหม่ ที่คาดอีกไม่นานจะคลอดออกมาให้เห็นกันแล้ว โดยแผน PDP ฉบับนี้น่าจะได้เห็นการเปิดลงทุนโรงไฟฟ้าไอพีพี (รอบใหม่) ซึ่งในวันนี้ GPSC มีศักยภาพพร้อมเข้าแข่งขันแบบเต็มกำลัง จากที่เขียนมาทั้งหมดจึงเห็นได้ว่า ต่อให้ GPSC ไม่ได้ซื้อ GLOW ตามแผน แต่ในเชิงปัจจัยบวกหุ้นยังไม่ได้จบสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจแล้วว่าทำไมหุ้น GPSC เมื่อวานนี้ถึงปิดบวกแรงได้เกือบ 3% ทั้ง ๆ ที่ กกพ.ใกล้ประกาศผลออกมาเป็นทางการ