ชวน ตั้งมติธรรมล้างมือจาก MK
MK ถือเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นเก่าแก่ของกรุงเทพฯ หลายทศวรรษ โดยมีชื่อเสียงโด่งดังจากการสร้างบ้านจัดสรรแนวราบ ในตราสินค้า “บ้านชวนชื่น” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาอย่างดี ถืงแม้ว่าจะไม่เป็นผู้นำธุรกิจเมื่อเทียบกับกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือบางกอกแลนด์ แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับหัวแถวต่อเนื่อง
การตัดสินใจขายทิ้งกิจการที่สร้างมากับมือของนายชวน ตั้งมติธรรม และครอบครัว ในบริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ ไม่ใช่การตัดสินใจทางธุรกิจอย่างแน่นอน แต่เหตุผลส่วนตัวที่อยู่เบื้องลึก ไม่มีใครเอ่ยปากเฉลยออกมา ปล่อยให้กาลเวลาคลี่คลายปริศนาด้วยตัวเองในอนาคต
หากพิจารณาโดยเนื้อแท้ การขายกิจการที่แม้จะโตต่อเนื่องอย่างเงียบเชียบ ในตลาดที่นับวันจะมีการขยายตัวและการแข่งขันสูงขึ้น แต่ยังสามารถรักษาความสามารถทำกำไรโดดเด่นมาโดยตลอด เป็นช่วงเวลาที่ดีเพราะขายได้ราคาที่ดี แต่นั่นยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายว่า ทำไมถึงต้องการขาย
MK ถือเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นเก่าแก่ของกรุงเทพฯ หลายทศวรรษ โดยมีชื่อเสียงโด่งดังจากการสร้างบ้านจัดสรรแนวราบ ในตราสินค้า “บ้านชวนชื่น” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาอย่างดี ถืงแม้ว่าจะไม่เป็นผู้นำธุรกิจเมื่อเทียบกับกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือบางกอกแลนด์ แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับหัวแถวต่อเนื่อง
ตำนานของนายชวน ตั้งมติธรรม (ชื่อเดิม อิ่มช้วน แซ่ตั้ง) ในฐานะผู้ก่อตั้งและปลุกปั้น MK หรืออาณาจักร “มั่นคงเคหะการ” จนเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยชั้นนำของประเทศในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้แบรนด์ “ชวนชื่น” และ “สิรีนเฮ้าส์” ซึ่งเริ่มโครงการหมู่บ้านจัดสรร ภายใต้ชื่อ “ชุมชนชวนชื่น” ที่ประชาชื่นเป็นแห่งแรกในปี 2520
หลังจากความสำเร็จระยะแรก เติบโตขึ้นตามลำดับด้วยผลงานที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ต่อมาได้รับการพิจารณาให้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2533 และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2536 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้น 866.68 ล้านบาท และมีโครงการที่ประสบความสำเร็จและดำเนินโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 33 โครงการ
นอกจากพัฒนาที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นธุรกิจหลักแล้ว MK ยังมีรายได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อาคารสำนักงาน และศูนย์กีฬา นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการสนามกอล์ฟ “ชวนชื่นกอล์ฟคลับ” เป็นสนามกอล์ฟ 18 หลุม พร้อมคลับเฮาส์และสนามไดร์ฟกอล์ฟ ตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเทพฯ-ปทุมธานีด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น แรงบันดาลใจจากความสำเร็จของนายชวน และ MK ยังได้ทำให้เกิดการแตกสาขาโดยน้องชายคือ นายประทีป ตั้งมติธรรม ไปเป็นบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI ที่ปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน TOP 5 ของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย
ระยะ 10 ปีหลังนี้ ชื่อเสียงของแบรนด์สินค้าบ้านจัดสรรของ MK ถูกกลบให้ลดคุณค่าโดยเปรียบเทียบลง จากการพุ่งขึ้นมาของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับกลยุทธ์การตลาด เครื่องมือทางการเงิน และแนวคิดใหม่ที่สนองตอบความต้องการของคนในสังคมเมืองใหญ่ได้โดดเด่นกว่า ขณะที่ MK ยังคงยึดกุมแนวทางพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮม และสนามกอล์ฟ ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะพยายามมาทำโครงการแนวสูงอย่างคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงานอยู่บ้าง แต่ก็มีสัดส่วนไม่มากนัก โดยไม่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบให้เช่าอย่างศูนย์การค้าหรืออพาร์ตเมนต์
หากมองจากแง่มุมของฐานะทางการเงินของ MK ย้อนหลังในหลายปีมานี้ จะเห็นว่ายังคงมีการเติบโตของยอดขาย สินทรัพย์ รวมทั้งกำไรต่อเนื่อง แล้วมีอัตรากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ไม่มีแนวโน้มว่าจะเสื่อมทรุดไปกับการแข่งขันแต่อย่างใด การขายทิ้งกิจการจากมือหลังจากที่ทำกันมายาวนานกว่า 50 ปี จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างมากทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น ราคาหุ้นของบริษัทก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน แม้จะขึ้นแบบช้าๆ ก่อนที่จะมาหวือหวาในช่วงก่อนดีลนี้จะเกิดขึ้นไม่กี่วัน
เพียงแต่เมื่อคำนึงถึงอายุขัยของนายชวน ตั้งมติธรรม ที่มากถึง 77 ปีแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจหรือสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การ ”ถอดใจ” อำลาวงการที่ก่อตั้งและบุกเบิกมายาวนาน อาจจะเป็นเพราะขาดผู้สืบทอดทางธุรกิจจากภายในครอบครัว ในยามที่ฐานะการเงินยังคงแข็งแกร่ง แทนที่จะปล่อยออกจากมือเมื่อกิจการเสื่อมทรุด
ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ กลุ่มนายชวน ถือหุ้นใน MK เพียงแค่ 26.44% เท่านั้น และมีคนในครอบครัวแค่ 3 คนเท่านั้น คือ นายชวน นางอัญชัน ตั้งมติธรรม ภรรยา และนางสาวชุติมา ตั้งมติธรรม ลูกสาว ที่นั่งในฐานะกรรมการของบริษัท ซึ่งว่าไปแล้ว เหมาะสำหรับฐานะของบริษัทมหาชนอย่างแท้จริง แต่ไม่ได้เป็นผลดีต่ออนาคตของธุรกิจมากนัก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงอาณาจักรที่นับวันจะหดแคบลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวของธุรกิจในภาพรวม
ต้นปีนี้ ขณะที่แถลงแผนธุรกิจประจำปีของบริษัท นายชวน ตั้งมติธรรม ได้ระบุว่า ในปี 2558 บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 28% จากปี 2557 ที่มีรายได้อยู่ที่ 2,400 ล้านบาท โดยรายได้ในปี 2558 ส่วนใหญ่จะมาจากโครงการแนวราบที่จะเปิดขายกว่า 2,500 ล้านบาท และจากโครงการคอนโดมิเนียม 500 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ทั้งหมด 500 ล้านบาท แบ่งเป็นจากคอนโดมิเนียมประมาณ 200 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 300 ล้านบาทมาจากโครงการแนวราบ
นอกจากนั้น MK ยังตั้งยอดขาย (พรีเซล) ปี 2558 ไว้ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากปี 2557 ทำได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยจะมาจากการเปิดโครงการใหม่จำนวน 6 โครงการ มูลค่ารวม 5,900 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 4 โครงการ มูลค่ารวม 3,160 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 2 โครงการ มูลค่ารวม 2,730 ล้านบาท
แผนการเติบโตก้าวกระโดดดังกล่าว คงต้องการคำตอบจากผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาบริหารต่อไปว่า จะยังคงยืนยัน หรือสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้เดิม หรือจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยที่ถือหุ้นรวมแล้วในสัดส่วนค่อนข้างมากพึงพอใจ รวมทั้งกลุ่มนายชวนเองด้วยที่ยังเหลือหุ้นถือไว้ไม่ได้ขายอีก 5.80% ซึ่งเหลือทิ้งเอาไว้
รายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงอำนาจใน MK ครั้งนี้ ระบุว่า กลุ่มนายชวนขายหุ้นของ MK ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กับบริษัท แคสเซิล พีค ดีเวลลอปเม้นท์ส จำกัด และบริษัท ซีพีดี โฮลดิ้ง จำกัด เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 177.55 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 20.64% ของทุนชำระแล้ว ในราคา 6.75 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท (เป็นราคาที่สูงกว่าราคาในกระดาน ที่ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2558 ซึ่งปิดตลาดที่ราคา 6.25 บาท)
หลังจากการขายหุ้นแล้วครอบครัวของนายชวน ตั้งมติธรรม จะคงเหลือสัดส่วนการถือหุ้นรวม 5.80% ขณะที่ผู้ซื้อได้ซื้อหุ้นยังไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องทำรายการ Tender Offer
เจตนาดังกล่าวเป็นที่เข้าใจกันดีว่าเป็นการออกแบบเพื่อจะไม่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ซึ่งจะต้องเปิดเผยตัวตนของผู้ซื้อที่แท้จริง เพราะเป็นที่กล่าวกันว่า นายสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ์ นักการเงินรุ่นอาวุโส อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (CMIC) ในอดีต และอดีตประธานกรรมการบริหารและกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นนิติบุคคลนั้น แท้จริงแล้วเป็นคนที่ออกหน้าแทนคนที่อยู่เบื้องหลังคือ นายทศพงศ์ จารุทวี (เจ้าของฉายา ขงเบ้ง) อดีตกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ N-PARK ที่หวนกลับเข้ามาสู่วงการอีกครั้ง โดยซ่อนตัวอยู่ในหลืบเงา เพื่อหลบเรดาร์
กลุ่มนายชวนอ้างเหตุผลเบื้องหลังการขายหุ้นของครอบครัวครั้งนี้ว่า เป็นการส่งต่อธุรกิจที่พัฒนามากว่า 50 ปีให้กับทีมงานที่มีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะพัฒนาบริษัทให้เจริญก้าวหน้า รวมถึงเป็นโอกาสอันดีในการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ โดยเชื่อมั่นว่าจากการวางรากฐานบริษัทให้มีความพร้อมทั้งบุคลากรที่มีประสบการณ์ ฐานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่ง จนได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาอย่างยาวนาน
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ MK ภายหลังการทำรายการซื้อขายหุ้นดังกล่าว บริษัท แคสเซิล พีค ดีเวลลอปเม้นท์ส จำกัด โดย UBS AG ถือหุ้น 104,550,000 หุ้น หรือคิดเป็น 12.15% บริษัท ซีพีดี โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 73,000,000 หุ้น หรือคิดเป็น 8.49% ส่วนที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายอื่น 632,902,126 หุ้น หรือคิดเป็น 73.56% ของทุนชำระแล้ว
นายสุเทพ ระบุเหตุผลแบบสูตรสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ว่า เล็งเห็นศักยภาพในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ MK ที่เป็นหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยชั้นนำของประเทศ มีจุดเด่นในโครงการประเภทที่อยู่อาศัยในแนวราบ เน้นทำเลที่มีศักยภาพที่ครอบคลุมในทุกมุมเมือง มีโครงการในระดับราคาประมาณ 3-10 ล้านบาท จึงมั่นใจในศักยภาพการทำธุรกิจพัฒนาที่ดินเพื่อขายของ MK และหลังจากนี้ไป ก็จะปรับเปลี่ยนแผนงานที่จะเพิ่มรายได้จากธุรกิจอสังหาฯ เพื่อเช่าเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง โดยวางเป้าหมายทำธุรกิจอสังหาฯ ครบวงจร
พร้อมกับข้อตกลงซื้อขายกิจการที่จบลงอย่างรวดเร็ว ก็มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในคณะกรรมการของบริษัททันทีเช่นกัน โดยนายชวน นางอัญชัน และนางสาวชุติมา ลาออกจากตำแหน่งกรรมการทั้งหมด แล้วนายสุเทพก็เข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท โดยมีอีก 2 คนคือ นายฟิลิปวีระ บุนนาค และนางสุธิดา สุริโยดร เข้าเป็นกรรมการแทน ในเวลาใกล้เคียงกัน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2558 แม้ว่าขั้นตอนที่บันทึกโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ จะยังคงไม่แล้วเสร็จเป็นทางการก็ตาม เป็นการเทกโอเวอร์กิจการฉันมิตรที่ง่ายดายและเรียบร้อย เพราะทั้งคนขายและคนซื้อพึงพอใจทุกฝ่าย
สำหรับตัวนายชวนเอง จะรับตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริษัท ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กำหนดเวลาเอาไว้ชัดเจน
ขั้นตอนต่อไปคือ จะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด
ดีลซื้อขายกิจการฉันมิตรของ MK จบสิ้นลงอย่างง่ายดาย แต่หลังจากนี้ บริษัทจะกลับมามีบทบาทเด่นระดับหัวแถวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศอีกครั้งได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ว่ากันในอนาคต ด้วยฝีมือของกลุ่มทุนใหม่ที่ต้องแสดงฝีมือให้นักลงทุนประจักษ์
ส่วนชวน ตั้งมติธรรม และครอบครัวนั้น คงถึงเวลาปิดตำนาน เพื่อล้างมือในอ่างทองคำเสียทีกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์