หุ้นโรงเรียนหลุดจอง
นักลงทุน“หุ้นจอง”หรือที่เรียกว่า“หุ้นไอพีโอ”จำนวนรายย่อย5,693คน คงจะจดจำวันที่29พ.ย.เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหุ้นSISBหรือโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์เข้าเทรดเป็นวันแรกได้เป็นอันดี
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
นักลงทุน“หุ้นจอง”หรือที่เรียกว่า“หุ้นไอพีโอ”จำนวนรายย่อย5,693คน คงจะจดจำวันที่29พ.ย.เดือนที่ผ่านมา ซึ่งหุ้นSISBหรือโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์เข้าเทรดเป็นวันแรกได้เป็นอันดี
ราคาจอง5.20บาท แต่หุ้นหลุดจองลงมาอยู่ที่4.36บาท ปรับตัวหลุดจองลงมาถึง16%
ถ้าจะถามว่าใครเสียหาย ก็ต้องมองไปที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า5.6พันคน และกองทุนเช่น เอไอเอ อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการบินไทย กองทุนหุ้นระยะยะยาวบัวหลวง และกองทุนเปิดภัทรนั่นแหละ
กองทุนมักจะถือยาว การลงทุนมุ่งหวังที่เงินปันผลมากกว่า อาจจะไม่ได้รับผลกระทบตรงมากนัก แต่รายย่อยกว่า5.6พันคน ซึ่งน่าจะประกอบไปด้วยผู้ปกครองนักเรียน และนักลงทุนทั่วไปซึ่งได้รับการจัดสรรหุ้น ก็น่าจะได้รับความเดือดร้อนที่สุด
ถ้าไม่ยอมตัดขายขาดทุนหรือที่เรียกว่า“คัท-ลอส” ก็ต้องรอคอยให้หุ้นฟื้นคืนกลับมา เงินไปจม กลายเป็นนักลงทุนVIไปโดยปริยาย
แต่ผู้เสียหายหนักที่สุด อันประเมินค่าเป็นตัวเลขมิได้ก็คือ ตลาดหุ้นไทยนะ เพราะเป็นช่วงต้องมรสุม “กระแสหุ้นหลุดจอง” ซึ่งปีนี้ ก่อนSISBเข้าเทรด มีหุ้นเข้าใหม่ในตลาดใหญ่และตลาดmaiทั้งสิ้น15ตัว หลุดจองในวันแรกซะ3 เสมอตัว2 รอดชีวิต10ตัว
SISBตกเป็น“เหยื่อ”ตัวที่4ที่บันทึกไว้ในกลุ่มหุ้นหลุดจอง
ภารกิจหน้าที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการระดมทุนใน“ตลาดแรก”ไปหล่อเลี้ยงภาคเศรษฐกิจจริง อย่างเช่นกรณีSISBที่ระดมทุนมาได้1,300ล้านบาท จะช่วยประหยัดดอกเบี้ยบริษัทได้ถึงปีละ30ล้านบาท และสามารถนำเงินที่ระดมทุนมาได้ไปลดหนี้ จากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนหรือดี/อีระดับ2.79เท่า ก็จะลดลงเหลือต่ำกว่า0.5เท่าเท่านั้น
แต่พอเข้าไปใน“ตลาดรอง”ที่มีการซื้อขายกันในตลาดหลังไอพีโอ ก็กลับกลายเป็นว่า หุ้นโดนกระหน่ำซะเละเทะจน“หลุดจอง” ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศก็เสียหายสิครับ กลายเป็นการซ้ำเติม“กระแสหุ้นหลุดจอง” ทำให้หุ้นIPOไม่ได้รับความน่าเชื่อถืออีกต่อไป
โบรกเกอร์ไปเสนอขายใคร ใครๆก็ส่ายหน้า ต่อไปนี้อาจจะได้เห็น“หุ้นจอง”เหลือบานเบอะ ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ฟันเฟืองระดมทุนไปช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจจริงของตลาดหลักทรัพย์ฯแน่ และผู้ลงทุนรายย่อยเป็นพันเป็นหมื่นราย ก็ต้องเสียหายจากหุ้นจอง
ผู้เสียหาย คงไม่ใช่นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปร้องศาลปกครอง กล่าวหาก.ล.ต.อนุมัติให้SISBเข้าตลาดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และผิดทำนองคลองธรรมที่เอาสถาบันการศึกษาไปเข้าตลาดหุ้นซึ่งหวังผลกำไรสูงสุดหรอก
ขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวโดยการระงับการเข้าซื้อขายในตลาดของหลักทรัพย์SISBด้วย
เดชะบุญในนัดไต่สวน ศาลปกครองกลางเมื่อวันที่7ธ.ค.ไม่ให้การคุ้มครองชั่วคราว เพราะกระบวนการก้าวล่วงเข้าสู่ขั้นตอนการซื้อขายหลักทรัพย์ไปแล้ว
อีกทั้งยังเห็นว่าคำร้องยังไม่ครบ ขอให้ผู้ร้องคือนายจุติไปเอาคำร้องของตลาดหลักทรัพย์ฯกลับมายื่นใหม่ภายในวันที่11ธ.ค.ด้วย(ซึ่งเลยกำหนดมาแล้ว ยังไม่มีรายงานข่าวยืนยันว่านายจุติทำคำร้องครบหรือไม่)
หุ้นSISBก็ตอบรับทันทีครับ เด้งกลับมา10% แต่ก็ติดอยู่ที่กรอบใต้5บาท ยังไม่กลับมาที่ราคาจอง5.20บาาทได้สักที นักลงทุนรายย่อยที่เสียหายไปแล้ว ก็เสียหายไป และตลาดหลักทรัพย์ฯที่สูญเสียความศรัทธาในเรื่องหุ้นจองไปแล้ว ก็สูญเสียไป
แต่ก็น่าเก็บรับบทเรียนเป็นอุทาหรณ์ว่า สังคมไทยเราในเวลานี้ ถูกปลุกปั่นกันด้วยความไม่มีเหตุผลง่ายเหลือเกิน
การกล่าวหาว่าผิดกฎหมายนั้นก็เลื่อนลอย เพราะก.ล.ต. กระทรวงการคลัง หรือกระทรวงศึกษาฯก็ไม่มีข้อห้ามในเรื่องเอาโรงเรียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต.ก็ถามไปทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)ไปแล้ว สช.ก็ตอบกลับว่าไม่มีหลักเกณฑ์การห้ามไว้แต่ประการใด
สรุปว่า ไม่มีข้อห้าม และไม่มีอะไรผิดกฎหมาย
ส่วนการอ้างเรื่องทำนองคลองธรรม อันนี้เป็นเรื่อง“จินตนาการ”ของปัจเจกบุคคล ทำนองคลองธรรมของแต่ละใครแต่ละคนมันแค่ไหนล่ะ
อย่าดัดจริตกันให้มากนักเลยว่า ตลาดหุ้นเป็นแหล่งอบายมุขการพนัน ไม่ควรเอาสถาบันการศึกษาไปเกลือกกลั้ว ทั้งที่ตัวเองก็เคยทำมาหากินกับตลาดหุ้นมาก่อน
โรงเรียนเอกชนที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากรัฐบาล นั่นก็เป็นนโยบายจากรัฐบาล ที่เห็นโรงเรียนเอกชนซึ่งเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าการศึกษาของชาติ เจ๊งมาเสียนักต่อนักแล้ว
ไปขอกู้เงินแบงก์มาทำโรงเรียน ก็ขอบอกไว้ ณ ที่นี้เลยนะว่า ไม่มีแบงก์ใดให้กู้หรอก ขณะที่ค่าที่ดินทำโรงเรียนเอย เครื่องมืออุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายก็ต้องซื้อในราคาตลาดทั้งนั้น ฉะนั้นส่วนใหญ่ก็จะเจ๊ง รัฐบาลจึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วย
เรื่องรัฐบาลต้องส่งเสริมกับการที่เอกชนดิ้นรนใช้เครื่องมือทางการเงิน มันเป็นคนละเรื่องกัน ในเมื่อไม่มีกฎเกณฑ์ห้ามไว้จะมาขี้ตู่ว่าโรงเรียนหรือก.ล.ต.ที่ให้การอนุมัติ ทำผิดกฎหมายไม่ได้
แต่ถ้าต่อไป จะออกกฎหมายห้ามส่งเสริมเฉพาะโรงเรียนนานาชาติ ก็คงไม่ว่ากัน
นี่คือบทเรียนราคาแพงสำหรับการกล่าวหาที่เลื่อนลอยและมโนธรรมจอมปลอมอันไร้ขอบเขต