พาราสาวะถี
ท่าทีผ่านถ้อยแถลงของ ธีรยุทธ บุญมี ที่สังคมตั้งคำถามต่อการไม่อินังขังขอบในการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเคยถูกเรียกว่าเป็นคนเดือนตุลา หรือเป็นคนที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างที่ จาตุรนต์ ฉายแสง คนเดือนตุลาด้วยกันบอกว่า ไม่น่าเชื่อว่าการพูดเพื่อส่งเสริมการสืบทอดอำนาจเผด็จการที่แฝงเร้นด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงจะเกิดขึ้นในวันรัฐธรรมนูญจากผู้ที่เคยเรียกร้องรัฐธรรมนูญมาก่อน
อรชุน
ท่าทีผ่านถ้อยแถลงของ ธีรยุทธ บุญมี ที่สังคมตั้งคำถามต่อการไม่อินังขังขอบในการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเคยถูกเรียกว่าเป็นคนเดือนตุลา หรือเป็นคนที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างที่ จาตุรนต์ ฉายแสง คนเดือนตุลาด้วยกันบอกว่า ไม่น่าเชื่อว่าการพูดเพื่อส่งเสริมการสืบทอดอำนาจเผด็จการที่แฝงเร้นด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงจะเกิดขึ้นในวันรัฐธรรมนูญจากผู้ที่เคยเรียกร้องรัฐธรรมนูญมาก่อน
หรือแม้แต่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ก็มองอย่างเข้าใจว่าท่วงทำนองเช่นนี้ของธีรยุทธก็เหมือนการแทงกั๊กเหมือนเสื้อที่ตัวเองชอบใส่เวลาแถลงข่าวนั่นแหละ แต่มีอีกหนึ่งคนที่อธิบายภาพของธีรยุทธในมุมวิชาการได้อย่างน่าสนใจนั่นก็คือ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้ที่แสดงตัวว่ายืนอยู่ฝั่งตรงข้ามเผด็จการอย่างชัดเจน
สุรพศเริ่มต้นด้วยมุมมองที่ว่า รัฐประหาร 2549 และ 2557 เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีมวลชนสนับสนุน และรัฐบาลเผด็จการทหารก็อยู่ยาวไม่ได้ถ้าไม่มีประชาชนสนับสนุน แต่มวลชนหรือประชาชนที่สนับสนุนรัฐประหารและรัฐบาลเผด็จการไม่ใช่คนต่างจังหวัด คนชนบทที่ถูกปรามาสว่า “ไม่รู้ประชาธิปไตย” และขายสิทธิ์ขายเสียง หากมวลชนและประชาชนที่ส่วนใหญ่ที่สนับสนุนรัฐประหารและรัฐบาลเผด็จการกลับเป็นชนชั้นกลางในเมือง ปัญญาชน นักวิชาการ และสื่อมวลชนบางส่วน
ทั้งที่แท้จริงแล้ว การเถียงว่าคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัดใครรู้ประชาธิปไตยดีกว่า หรือเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพดีกว่า เป็นปัญหาปลอม ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเท่านั้น แต่ในสังคมการเมืองไทยที่ชนชั้นกลางในเมืองมีอำนาจการสื่อสารเหนือกว่า หรือเสียงดังกว่ามายาวนาน การผลิตและผลิตซ้ำปัญหาปลอมดังกล่าวมักจะทำให้บรรลุผลในทางการเมืองเสมอมา
ธีรยุทธคือปัญญาชนสาธารณะระดับแถวหน้าที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนเสียงที่ดังกว่าของชนชั้นกลางในเมืองตลอดกว่า 10 ปีในวิกฤตการเมืองไทย ในช่วงการชุมนุมขวางเลือกตั้งต้นปี 2557 มีการเสนอทฤษฎีมะม่วงหล่น เชียร์การชุมนุมของ กปปส.ว่าเป็นการปฏิวัติแบบใหม่ที่เรียกว่าสันติภิวัฒน์ ที่ทุกภาคส่วนมุ่งปฏิรูปทุกโครงสร้าง ทำลายโครงสร้างที่เป็นปัญหา และพูดถึงทักษิณว่าเป็นเสมือนพญาแร้งดำหิมาลัย
วิพากษ์การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ธีรยุทธพูดถึงสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ทำว่าคือการสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นการก็อปปี้ระบอบทักษิณมา ทำให้เกิดคำถามว่า อะไรคือจุดยืนในการวิจารณ์การเมืองของธีรยุทธกันแน่ หากจุดยืนคือประชาธิปไตยก็ย่อมชวนให้สงสัยว่า ที่ธีรยุทธเคยเสนอตุลาการภิวัฒน์ให้ตุลาการ องคมนตรีและบุคคลผู้มีบารมีตามคำของธีรยุทธ คานอำนาจนักการเมืองจากระบบเลือกตั้งนั้นเป็นประชาธิปไตยแบบไหนกัน
หากจุดยืนคือเสรีภาพ ก็ไม่เห็นธีรยุทธพูดถึงคนแบบไผ่ ดาวดิน และคนระดับชาวบ้านธรรมดาอีกจำนวนมากที่ติดคุก รวมทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหลายคนที่ต้องไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ คนเหล่านี้ถูกเผด็จการย่ำยีเสรีภาพ เป็นเสมือนแพะบูชายัญเกมบริหารอำนาจของชนชั้นนำเท่านั้น เพราะพวกเขาสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ไม่ได้สู้เพื่อมีอำนาจและตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด
คำถามต่อมา จุดยืนของธีรยุทธ คือ ปฏิเสธคอร์รัปชันจริงหรือ เพราะมีการพูดถึงปัญหาทุจริตในรัฐบาล คสช.แค่เรื่องนาฬิกาของพี่ใหญ่เท่านั้น ขณะที่พูดถึงเรื่องที่ส่อทุจริตการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าเป็นการก็อปปี้ระบอบทักษิณ ทำให้เห็นได้ว่า จุดยืนของธีรยุทธน่าจะอยู่ที่การปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองเรียกว่าระบอบทักษิณเป็นด้านหลัก
สำหรับธีรยุทธแล้ว สิ่งที่เรียกว่า ระบอบทักษิณเป็นเหมือนโมเดลของความเลวร้ายทั้งปวง เมื่อพูดถึงทุจริตเลือกตั้ง ก็มีแต่ทักษิณเท่านั้นที่ซื้อเสียง พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่น ๆ ไม่ซื้อ (เพราะไม่เห็นธีรยุทธพูดถึง) การคอร์รัปชันก็มีแต่ทักษิณเท่านั้น หรือไม่การคอร์รัปชันในประเทศนี้ก็เกิดจากทักษิณโมเดลเท่านั้น ส่วนระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ธีรยุทธไม่เคยมีคำถามถึงความโปร่งใสและการคอร์รัปชันเลย
แม้แต่ที่ธีรยุทธพูดเรื่องสัมปทานคะแนนเสียงก็เป็นความเลวร้ายที่มาจากทักษิณโมเดล โดยไม่จำแนกว่า ทักษิณเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เขียนรัฐธรรมนูญให้ตัวเองตั้ง ส.ว. 250 คนไว้โหวตเลือกนายกฯ 2 สมัย กำหนดกติกาการเลือกตั้งเอง เป็นกรรมการที่ลงแข่งในกติกาที่ตัวเองเขียนและคุมเอง แถมมีอำนาจแบบ ม.44 เหนือรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
การไม่จำแนกความแตกต่างระหว่างปัญหาในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้งกับปัญหาในรัฐบาลเผด็จการ ถือเป็นเรื่องตลกร้ายของปัญญาชนสาธารณะอย่างธีรยุทธ เพราะมันทำให้เขาละเลยการมองเห็น เสียงของคนต่างจังหวัด คนชนบทว่ามันมีความหมายมากกว่าเสียงที่ถูกซื้อ เพราะอย่างน้อยก็เป็นความจริงว่าคนเหล่านั้นอาจรับเงินจากทุกพรรค แต่เขาก็เลือกพรรคที่เห็นว่ามีนโยบายที่ดีกว่า
แน่นอนว่านโยบายที่ดีกว่าในมุมมองของเสียงข้างมากอาจไม่ได้ดีหรือเป็นเพียงนโยบายที่ธีรยุทธเรียกว่า “ประชาซาเล้ง” แต่ในเมื่อประชาธิปไตยจำเป็นต้องตัดสินความเห็นต่างในการเลือกพรรคการเมืองและนโยบายด้วยเสียงข้างมาก เราก็ต้องยอมรับมติของเสียงข้างมาก หากเห็นว่าผลของเสียงข้างมากมีปัญหาก็ต้องแก้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่แก้ด้วยการล้มเลือกตั้ง หรือใช้อำนาจนอกระบบที่ตรวจสอบไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหา
การวิจารณ์การเมืองบนจุดยืนที่ยกเอานักการเมืองที่ตรวจสอบได้มาเป็นโมเดลของความเลวร้ายทั้งปวง หรือสร้างให้เป็นปีศาจ ที่ต้องถูกขจัดอย่างไม่เลือกวิธีการว่าจะถูกหรือผิด แล้วเสนอให้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้มาค้านอำนาจนักการเมือง และไม่เคยตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของอำนาจเช่นนั้น ไม่คิดจะสร้างระบบตรวจสอบทุกอำนาจในมาตรฐานเดียวกันแบบที่ธีรยุทธทำมาตลอด ไม่ได้เป็นผลดีใด ๆ ต่อการสร้างประชาธิปไตย มีแต่เข้าทางหรือสนับสนุนเผด็จการทั้งโดยตรงและโดยปริยายอย่างที่เห็นและเป็นอยู่