กองทุนหลังลาย
สัปดาห์ก่อน นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนหุ้นหรือกองทุนลูกผสม ของ บลจ.ทั้งหลาย ออกมาให้ความเห็นแบบโลกสวยตามเคยว่า เม็ดเงินใหม่จากกองทุน LTF-RMF หลายหมื่นล้านจะทำให้ดัชนีตลาดหุ้น SET มีโอกาสยืนเหนือ 1,620 จุดได้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
สัปดาห์ก่อน นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนหุ้นหรือกองทุนลูกผสม ของ บลจ.ทั้งหลาย ออกมาให้ความเห็นแบบโลกสวยตามเคยว่า เม็ดเงินใหม่จากกองทุน LTF-RMF หลายหมื่นล้านจะทำให้ดัชนีตลาดหุ้น SET มีโอกาสยืนเหนือ 1,620 จุดได้
สัปดาห์นี้ เกิดปรากฏการณ์ตรงกันข้าม เมื่อกองทุนกลายเป็นผู้ขายหลังในตลาดหุ้นไทย. จนล่าสุดตัวเลขสะสมสุทธิเดือนธันวาคมลบไปเรียบร้อย
ปรากฏการณ์สวนทางของกองทุนยามนี้ตรงข้ามกับตลอดทั้ง 11 เดือนที่ผ่านมา อาจจะเกิดจากเหตุผลของการปิดงบสิ้นปีที่ผู้จัดการกองทุนต้องแสดงผลงานจากความสามารถของการบริหาร “เงินของคนอื่น” (OPM-other people’s money) เมื่อสิ้นงวด ว่าจะมีเงินกำไรดีขึ้นหรือเลวลง
หากคาดเดาไม่ผิด ตัวเลขกำไรของกองทุนรวมหุ้นหรือลูกผสมทุกชนิดในตลาดหุ้นไทยปีนี้ น่าจะถดถอยลงหรือขาดทุนได้ เมื่อเทียบกับ NAV ของปีก่อน ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ปีก่อนเป็นปีพิเศษที่ทำให้กำไรกองทุนมากกว่าปกติ และปีนี้ พฤติกรรม “ซื้อสวนดัชนี” มากกว่า 1.75 แสนล้านบาท คือการล้างผลาญกำไรที่ชัดเจน
ถ้าเป็นไปตามนี้ จะเห็นได้ชัดว่า คำกล่าวเก่าแก่ของ จอห์น โบเกิ้ล (John C. Bogle) ที่ว่า โดยเฉลี่ยในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนรวมหุ้นไม่ดีกว่าผลตอบแทนของตลาดมากนัก คำว่า “เอาชนะตลาด” เป็นแค่คำคุยโตโอ้อวดประเภท “หลอกคนโง่ขึ้นดอย” ธรรมดา
เหตุผลสำคัญที่เซียนระดับหัวโจกของกองทุนรวมบอกไว้คือ 1) ผู้จัดการกองทุนก็เป็นปุถุชนที่ทำผิดได้เหมือนนักลงทุนทั่วไป 2) อดีตไม่สามารถบอกผลลัพธ์อนาคตได้
ข้อสรุปข้างต้น จึงทำลายมายาคติของคำโฆษณาของบรรดา บลจ.ไทยทั้งหลายทางวิทยุที่อวดอ้าง ผลตอบแทนย้อนหลัง (past performance) เพื่อชี้ชวนให้ผู้มีเงินออมทั้งหลายลงกับกองทุนตนเอง (ภายใต้คำโฆษณาตามระเบียบที่เร็วจนฟังแทบไม่ออกว่า “การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยงขอให้ศึกษา….”) เพราะโดยข้อเท็จจริง ผลตอบแทนย้อนหลัง ไม่สามารถการันตีว่าอนาคตของผลตอบแทนกองทุนรวมได้สดใส
มายาคติดังกล่าว สร้างความเชื่อที่แอบสร้างปัญหาให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมอย่างไม่รู้ตัวว่า ผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนรวมเป็นสิ่งที่สามารถทำนายผลตอบแทนอนาคตได้ เพราะผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพเก่งกว่านักลงทุนกระจอก
สมมติฐานที่ผิดว่า กองทุนรวมที่ทำผลตอบแทนได้ดีในตอนนี้หรือในอดีต ควรจะทำผลตอบแทนได้ดีในอนาคต เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่จะค้นหาใน Google หรือ Morning Star ว่า กองทุนไหนทำผลตอบแทนดี หรือสิบอันดับผลตอบแทนกองทุนรวมย้อนหลัง หรือบางคนก็ไปตั้งคำถามกระทู้ว่ากองทุนไหนผลตอบแทนสูงสุดในรอบ 10 ปี 5 ปี 3 ปี 1 ปี หรือหน่วยเดือน สูงสุดของครึ่งปี หรือ 3 เดือน หรือ 1 เดือน หรือแม้กระทั่ง 1 สัปดาห์ดีบ้าง เรียกได้ว่า พลังงานที่คนส่วนใหญ่เสียไปในการลงทุน คือ การค้นหาผู้ชนะจากผลตอบแทนในอดีตของกองทุนรวมนี้แหละ
มายาคติถูกเสริมแรงจากวงการกองทุนรวมเองที่ขยันนำเสนอข่าวในลักษณะนี้เช่นกัน พวกเขามักจะบอกว่า กองทุนของพวกเขาได้ผลตอบแทนสูงสุด หรือทำผลตอบแทนได้ดี ฝ่ายขายกับฝ่ายการตลาด จึงมีภารกิจนำเสนอคำบรรยายความดีงามของกองทุนไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อนักลงทุน
สมมติฐานดังกล่าวคือค่าโง่ที่นักลงทุนต้องจ่ายเพื่อจะพบความผิดหวังในอนาคตเมื่อพบในภายหลังว่า ผู้จัดการกอนทุนล้วน “หลังลาย” ทั้งสิ้น
Burton G. Malkiel นักเขียนชำแหละกองทุนรวม ระบุว่า บันทึกผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนรวมและบรรดาผู้จัดการกองทุนทั้งหลายนั้นไม่มีค่าอะไรเลยในการทำนายความสำเร็จในอนาคตของกองทุนรวม ตัวอย่างน้อยนิดที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ชนะในระยะยาว (หมายถึงมีกองทุนไม่กี่กองที่ชนะตลาดได้) อาจเรียกได้ว่ามันเป็นแค่ความ “บังเอิญ” เท่านั้น เพราะจากประสบการณ์ผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการในลักษณะเลือกซื้อหุ้นรายตัว ส่วนใหญ่มักจะทำผลงานได้แพ้ตลาดหุ้นและสร้างผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน
มุมมองที่เลวร้ายกว่านี้ ระบุว่าบางกองทุนรวมที่ “ติดดาว” หรือ ได้รับการจัดอันดับ เพื่อประทับตราแปะบนเอกสารประกอบการขาย ก็ไม่อาจทำนายผลตอบแทนในอนาคตของกองทุนรวมได้ 11 กองทุนที่เคยได้ดาวน้อยในอดีตก็อาจจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าในอนาคต และกองทุนที่ได้ดาวมากในปัจจุบันก็อาจทำผลตอบแทนได้แย่ในเวลาต่อมา
มุมมองเชิงลบดังกล่าว อย่าได้เชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนนิสัยของบลจ.ทั้งหลายได้
เหตุผลที่ต้องยอมรับคือ พฤติกรรมดังกล่าว ยังมี “เหยื่อ” ให้ล่าอยู่มากมายในตลาดทุนนั่นเอง
แม้ว่าในสถานที่เลวร้ายสุด ๆ ยามนี้ก็ตาม