พาราสาวะถี

ผลการหารือระหว่าง กกต. กับ พรรคการเมือง และตามด้วยวงถก กกต.กับพรรคและสื่อมวลชน ประเด็นหลักคงอยู่ที่เรื่องข้อเสนอต่อกระบวนการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง โดยเรื่องของบัตรเลือกตั้ง เมื่อ กกต.เลือกที่จะใช้แบบสมบูรณ์คือมีชื่อและโลโก้พรรคทุกอย่างก็จบ ส่วนที่จะก้าวไปอีกขั้นคือให้ใช้แบบพรรคเดียวเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ตรงนั้นแหละที่เป็นปัญหาใหญ่


อรชุน

ผลการหารือระหว่าง กกต. กับ พรรคการเมือง และตามด้วยวงถก กกต.กับพรรคและสื่อมวลชน ประเด็นหลักคงอยู่ที่เรื่องข้อเสนอต่อกระบวนการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง โดยเรื่องของบัตรเลือกตั้ง เมื่อ กกต.เลือกที่จะใช้แบบสมบูรณ์คือมีชื่อและโลโก้พรรคทุกอย่างก็จบ ส่วนที่จะก้าวไปอีกขั้นคือให้ใช้แบบพรรคเดียวเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ ตรงนั้นแหละที่เป็นปัญหาใหญ่

ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองไม่เห็นพ้องต้องกัน เพราะทุกพรรคต่างมองตรงกันว่าเป็นเรื่องดีหากเป็นเช่นนั้นได้ แต่มันจะไม่ดีตรงที่หากมีบทสรุปร่วมกันว่าขอให้บัตรเลือกตั้งเป็นแบบพรรคเดียวเบอร์เดียว จะต้องเสียเวลาในการแก้ปัญหา นั่นก็จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจากเดิมคือ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมืองไม่พึงประสงค์

ส่วนที่จะไปถึงขั้นให้หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขให้นั้น หากคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่ควรที่จะไปใช้กลไกใด ๆ ของเผด็จการเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ การเดินไปบนเส้นทางที่ถูกขีดไว้ แม้อาจจะจำกัดหรือดูว่าจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าที่จะรับความปรารถนาดีอันมาจากระบอบที่ไม่พึงประสงค์

ขณะที่ประเด็นว่าด้วยรูปสำหรับใช้ในการหาเสียง ไม่ได้มีพรรคการเมืองใดติดใจ โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย คงจะไปงอแงหรือออกอาการใด ๆ ไม่ได้ ยิ่งดิ้นรนและอยากจะใช้ภาพของ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกบกับผู้สมัคร ส.ส.ในระบบแบ่งเขต ยิ่งเป็นการเดินไปเข้าทางตีนของฝ่ายที่จ้องจะเล่นงานอยู่แล้ว เพราะเท่ากับเข้าเงื่อนไขปล่อยให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกเข้ามามีส่วนครอบงำพรรค ซึ่งจะนำไปสู่การยุบพรรคได้ทันที ตามที่มีการตั้งเป้าและหาเหตุอยู่ก่อนหน้านั้น

กรณีจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับพรรคในคาถาของคนแดนไกล อย่างที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคว่า ประชาชนเข้าใจดีว่าพรรคเพื่อไทยมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ถึงไม่มีรูปทักษิณ คนก็รู้กันอยู่ดีว่าพรรคนี้ใครดูแล แต่รอบนี้คงจะยากขึ้นมาหน่อย เพราะการแตกแยกย่อยไปของคนจากพรรคนายใหญ่ อาจทำให้กองเชียร์สับสน เลือกไม่ถูกว่าพรรคไหนของจริงของก็อป

หากรูปคนอื่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับพรรคการเมืองอื่น แล้วพลังประชารัฐที่จะเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ล้านเปอร์เซ็นต์ ตามกฎหมายคือใช้รูปหาเสียงได้ แต่ต้องระมัดระวังอะไรบ้าง สมชัย ศรีสุทธิยากร มีคำตอบ รูปของบิ๊กตู่ที่ขึ้นในโครงการของรัฐต่าง ๆ ต้องเอาลงทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีผู้สมัคร ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเลือกตั้งร้อง กกต.ว่า มีการกระทำผิดกฎหมายฐานใช้ทรัพยากรของรัฐทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบ

ประเด็นนี้ พรรคที่มีเนติบริกรชั้นแนวหน้าของประเทศดูแลด้านกฎหมายอยู่คงไม่ตายน้ำตื้น เว้นเสียแต่ว่า ต้องการจะลักไก่สร้างความได้เปรียบ โดยใช้วิธีการแบบหัวหมอนั่นก็อีกเรื่อง และนั่นก็จะเป็นบทพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ในการทำหน้าที่และตีความของ กกต. เพราะระหว่างงานของรัฐบาลอำนาจเต็ม กับผู้ที่เป็นนักการเมืองมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้ง จะสร้างความกระจ่างให้สังคมอย่างไร ถ้าไม่เคลียร์ก็ตัวใครตัวมัน

จากบทสรุปของการหารือตามที่ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.แถลงนั้น มีประเด็นที่ชวนให้คิดตามและชวนให้เกิดคำถามย้อนแย้งไปยังท่านประธานก็คือ การบอกว่าพรรคเดียวเบอร์เดียวทั้งประเทศ โดยเสนอให้ กกต.ขอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวนั้น กกต.ไม่มีหน้าที่แก้กฎหมายรวมถึงไม่มีหน้าที่เสนอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 พร้อมทั้งย้ำว่า กกต.มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

หากเป็นเช่นนั้นจริง แล้วทำไมกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งจึงต้องใช้ มาตรา 44 คุ้มกะลาหัวเล่า คงอย่างที่สมชัยว่า กกต.มีหน้าที่ต้องมองปัญหาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นและเสนอไปยังผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกลียด เป็นหน้าที่จะมาบอกว่าไม่มีหน้าที่ไม่ได้ เช่นเดียวกับการที่มีคนบอกว่าการใช้มาตรา 44 เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจเหนือกฎหมาย ยิ่งไม่น่าฟัง

เพราะอะไรนะหรือ ก็ที่ผ่านมามาตรา 44 เคยใช้หลายครั้ง อาทิ การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ใช้มาตรา 44 ช่วยในการทำงานของ กกต. เกี่ยวกับการแบ่งเขตไม่ผิดกฎหมาย เพราะ กกต.แบ่งเขตไม่ทันตามกำหนดเวลาที่ กกต.กำหนดไว้เอง และยังให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งตามใจชอบอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของประธาน กกต.ก็ยังมีประเด็นที่น่าพอจะทำให้เห็นทิศเห็นทางว่าองค์กรอิสระแห่งนี้ยังมีศักดิ์ศรีอยู่บ้าง คงเป็นเรื่องที่บอกว่าจะไม่คำนึงถึงสถานการณ์พิเศษ มิเช่นนั้น จะทำงานไม่ได้ ความจริงก็ควรจะคิดตั้งแต่แรกและยืนยันกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้น แต่พอทุกอย่างต้องรอคำตอบจากคณะเผด็จการ วันนี้ต้นทุนความน่าเชื่อถือที่คนมีต่อองค์กรมันจึงติดลบ

ที่ต้องรอการพิสูจน์อีกประการคงเป็นคำประกาศิตของประธาน กกต.ต่อกรณีองค์กรต่างประเทศที่จะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องให้ชัดคือ การไม่มีข้อห้ามอะไร ผู้สังเกตการณ์ที่จะเข้ามาในความหมายของอิทธิพรนั้นคือ กกต.ต่างประเทศเท่านั้นใช่หรือไม่ หากใช่ก็คงไม่ตรงกับสิ่งที่มีการเรียกร้อง เพราะผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้เป็นเรื่องของเครือข่าย กกต. เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน กกต.จึงไม่สามารถจะปฏิเสธผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้ได้

สำหรับผู้สังเกตการณ์ที่ฝ่ายการเมืองมีการพูดถึงคือ กลุ่มผู้สังเกตการณ์อาชีพ ซึ่งมาจากกลุ่มองค์กรที่มีบทบาทในการสังเกตการณ์นานาชาติต่างหาก กลุ่มนี้จะค่อนข้างพูดตรง วิจารณ์ตรง และนั่นอาจจะไม่ไพเราะถูกใจผู้มีอำนาจในประเทศไทย แต่สมชัยก็ยืนยันว่า แม้กลุ่มดังกล่าวเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การจัดการเลือกตั้ง ทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดี หากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม มันมาสะดุดประโยคหลังนี่แหละ ถ้ายึกยักเล่นแง่ก็แปรความหมายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

Back to top button