พาราสาวะถี
เมื่ออ้างข้อกฎหมายใครก็ไม่กล้าขัด แต่คงต้องอธิบายกันให้ชัดในบางเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่า ผิดหรือไม่ผิด ไม่ใช่จะตะแบงว่าไม่รู้ข้อกฎหมายหรือขอดูรายละเอียดของกฎหมายก่อน เหมือนอย่าง พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. พยายามจะชี้แจงกรณีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐที่ก่อความเคลือบแคลงให้สังคมหลายประการ
อรชุน
เมื่ออ้างข้อกฎหมายใครก็ไม่กล้าขัด แต่คงต้องอธิบายกันให้ชัดในบางเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่า ผิดหรือไม่ผิด ไม่ใช่จะตะแบงว่าไม่รู้ข้อกฎหมายหรือขอดูรายละเอียดของกฎหมายก่อน เหมือนอย่าง พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. พยายามจะชี้แจงกรณีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐที่ก่อความเคลือบแคลงให้สังคมหลายประการ
ประเด็นที่ถูกจับจ้องเป็นพิเศษคือกรณีหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจมีชื่อบนโต๊ะจีน โต๊ะละ 3 ล้านบาทนั้น ตามกฎหมายผิดชัดเจนหากเป็นการนำเงินของแผ่นดินไปบริจาคให้พรรคการเมือง ซึ่งคงไม่มีใครโง่ถึงขนาดนั้น แต่ฟังคำอธิบายของเลขาฯ กกต.ก็รีบออกตัวก่อนว่า พรรคจัดระดมทุนได้ ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ต้องชี้แจงให้ กกต.ทราบอยู่แล้วภายใน 30 วัน
เป็นการยืนกรานโดยหลังพิงข้อกฎหมาย แต่ไม่ได้แสดงท่าทีที่สังคมอยากเห็นก่อน คือ กกต.พร้อมที่จะตรวจสอบเรื่องนี้ แม้จะเป็นสิทธิ์ที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายก็ตาม เช่นเดียวกับกรณีเมื่อถูกถามเรื่องมีเจ้าหน้าที่ของรัฐไปร่วมงานหรือถูกใช้งานในการระดมครั้งนี้ จะมีความผิดหรือไม่ ไม่ใช่บอกว่าขอดูเนื้อหาของข้อกฎหมายก่อน ต้องบอกไปเลยว่าถ้ามีจริงก็ถือว่าผิด ส่วนจะผิดมากผิดน้อยผิดถึงขั้นไหนนั้นหรือไม่ผิดเลยไม่มีเลยค่อยว่ากันไปตามข้อเท็จจริง
พอเข้าใจได้ต่ออาการเกร็งของคนในองค์กรอิสระแห่งนี้ อย่างที่รู้กันคือมันมีอำนาจเด็ดขาดของเผด็จการครอบอยู่อีกที ไม่ได้หมายความว่าถูกครอบงำหรือแทรกแซง แต่ดูเหมือนว่าคนในองค์กร กกต. ไม่ว่าจะเป็น 7 เสือ รวมไปถึงฝ่ายสำนักงาน ต่างออกอาการไม่กล้าฟันธงในส่วนที่เป็นอำนาจของตัวเองและมีกฎหมายรองรับชัดเจน ก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องกลัวกันขนาดนั้น
กรณีนี้ไม่ใช่การตั้งตาจับผิด กกต. เพราะแม้แต่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่วันนี้มีหัวโขนเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวโดยชี้ให้เห็นว่า “กกต.อย่าทำงานเชิงรับ” แต่ต้องติดต่อกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อขอดูรายชื่อแขกที่ร่วมงานทั้งหมด แผนผังจากออแกไนซ์ และต้องขอดูกล้องวงจรปิดภายในงานว่ามีใครบ้าง และข้อมูลจากสื่อที่ลงข่าวว่าได้แผนผังมาอย่างไร
การแสดงออกของคนในองค์กร กกต.ทั้งหมด ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมันมีผลต่อความเชื่อถือ เชื่อมั่น เว้นเสียแต่จะมั่นใจว่าองค์กรนี้มีความน่าเชื่อถือสูงยิ่งนั่นก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าให้ประเมินนับตั้งแต่เสียรังวัดคราว กกต.ชุดของสมชัยที่ทำตัวไม่อยากจัดการเลือกตั้ง มาจนถึงวันนี้เชื่อได้เลยว่าประชาชนส่วนใหญ่ ยังไร้ความไว้วางใจองค์กรแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงท่าทีคอยเงี่ยหูฟังเผด็จการอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม กรณีงานระดมทุน 650 ล้านของพรรคในคาถาเผด็จการ สมชัยขีดเส้นให้ กกต.เร่งตรวจสอบ โดยขู่ว่าจะให้เวลา กกต.ในการรวบรวมข้อมูล 1 สัปดาห์ ถ้ายังไม่คิดทำอะไร อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผิดมาตรา 157 เพราะสังคมอยากเห็นการทำงานเชิงรุกของ กกต. เพื่อให้เห็นว่ากฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่นอนรอว่าเมื่อไรจะครบ 60 วัน ที่พรรคการเมืองจะส่งรายละเอียดมาให้
เพราะประเด็นนี้เป็นที่สงสัยของสังคม มีการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ และข้าราชการการเมืองไปทำให้เกิดประโยชน์และความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งหรือไม่ กกต.จะนิ่งเฉยไม่ได้ ไม่เช่นนั้น กกต.จะเสื่อมศรัทธาไปมากกว่านี้ ถ้าจะอ้างว่ายังไม่มีพระราชกฤษฎีเลือกตั้ง อดีต กกต.อย่างสมชัยก็ไล่ให้กลับไปดูข้อกฎหมายเสียใหม่
เนื่องจากในกฎหมาย กกต.มาตรา 22 วรรครองสุดท้าย ระบุไว้ชัดเจนว่า ในการควบคุม กำกับ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการที่จะดำเนินการสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวน เพื่อป้องกันและขจัดการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันใดที่อาจก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม
มาตรานี้เป็นไม้เด็ดของ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีต กรธ.ที่ให้อำนาจ กกต.ไว้ ความจริงก็ควรที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะเห็นหลายเรื่อง กกต.ก็ขู่ฟ่อ ๆ กับพรรคการเมืองว่าให้ระวัง แม้จะไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง แต่กับกรณีพรรคเผด็จการกลับแสดงออกไปอีกทาง ขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงออกลูกยึกยัก แต่ฝ่ายถูกกล่าวหาดูเหมือนจะสารภาพเสียเองด้วยซ้ำ กับการพูดที่ว่า หากมีการบริจาคที่ผิดกฎหมายก็พร้อมที่จะคืนเงิน
คนที่พูดก็ไม่ใช่ใครอื่น ณัฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค ผู้ที่ทำหน้าที่แทน 4 รัฐมนตรีในการกล่าวขอบคุณท่านเศรษฐีทั้งหลายบนเวทีงานเลี้ยงนั่นเอง จนกระทั่งมีคนไปถาม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต้นสังกัดเก่าของณัฐพล จนทำให้ได้รับคำตอบแบบทันทีทันใดว่า “แสดงว่ารับผิด” ตรงนี้มีความหมายอย่างยิ่งในทางการเมือง
ขณะเดียวกัน นอกจากต้องชี้แจงต่อ กกต.แล้ว สงสัยผู้บริหารพรรคเผด็จการ โดยเฉพาะ 4 รัฐมนตรี คงต้องไปสะกิดลิ่วล้ออย่างเหิมเกริมออกนอกหน้ากันให้มาก เพราะล่าสุดไม่รู้ว่าคนที่ฟัง ธรรมนัส พรหมเผ่า คณะทำงานยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคเหนือของพรรคคุยฟุ้ง เงินก้อนใหญ่ที่ระดมได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้สนับสนุนที่มองว่าพรรคเป็นทางเลือกใหม่ของคนไทย ซึ่งหากพรรคไม่ชนะการเลือกตั้งคงไม่กล้ามาลงทุน
ไม่รู้ว่าเป็นการสร้างความฮึกเหิมให้ทีมงานหรือยังไง แต่คนจำนวนไม่น้อยหมั่นไส้แน่ ๆ เช่นเดียวกับวาทกรรมที่ว่า อาหารคำละ 3,000 บาทนั้น มันยิ่งเป็นใบเสร็จสะท้อนความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรัฐบาลเผด็จการได้เป็นอย่างดี งานนี้ดีตรงที่ได้ตีปีกกันพรึบพรับกับตัวเลขเม็ดเงินที่ได้ แต่คุ้มค่าหรือไม่ต่อการเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน คนที่เป็นนักการเมืองมืออาชีพน่าจะรู้คำตอบดี