หมีครองตลาด

ดัชนีดาวโจนส์เมื่อวันศุกร์ ทำท่าฟื้นตัวในช่วงเปิดตลาด บวกไปเกือบ 200 จุด แต่เมื่อผ่านไป ก็เข้าอีหรอบเดิม เมื่อแรงขายออกมากลางตลาด จนท้ายตลาดปิดลบไปกว่า 400 จุด


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล 

ดัชนีดาวโจนส์เมื่อวันศุกร์ ทำท่าฟื้นตัวในช่วงเปิดตลาด บวกไปเกือบ 200 จุด แต่เมื่อผ่านไป ก็เข้าอีหรอบเดิม เมื่อแรงขายออกมากลางตลาด จนท้ายตลาดปิดลบไปกว่า 400 จุด

แรงเหวี่ยงของตลาดวันเดียว 600 จุด แถมมีลักษณะ “เปิดบวก ปิดลบ” สะท้อนภาวะหมีที่ครอบงำตลาดรุนแรงยามนี้ชัดเจน จากแรงกดดันหลายด้าน หนักหนาสุด 2 เรื่องคือ 1) การคาดเดาอนาคตเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับสงครามการค้าในเชิงลบ 2) ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ย่ำแย่ในระยะกลาง

สถานการณ์ภาวะหมีที่เคยอาละวาดในตลาดหุ้นเกิดใหม่เดือนที่ผ่านมา แพร่ระบาดไปยังตลาดหลักอย่างก่อนหน้านี้ แรงขายทิ้งหุ้นในตลาดหุ้นโตเกียวในสัปดาห์เดียวมากกว่า 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ตลาดโตเกียวย่างเข้าสู่ภาวะหมีเต็มตัวชนิดหลับไม่ตื่น กลับบ้านไม่ถูก

หนึ่งในตัวอย่าง สุดยอดของภูเขาน้ำแข็งในมุมมองที่เลวร้ายต่อตลาดหุ้นในอนาคต เห็นจะได้แก่ กลยุทธ์การลงทุนของทีมงานเฮดจ์ฟันด์ภายใต้คนระดับอดีตพ่อมดระดับโลกอย่าง จอร์จ โซรอส ที่ล่าสุดประกาศขอ “ย้อนศร” สิ่งที่โซรอสเคยประสบความสำเร็จมาแล้วเพื่อไม่ผูกติดกับ “กับดักความสำเร็จของอดีต”

การประกาศถอยร่น 180 องศา ของทีมงานโซรอส ทำให้หลายคนคิดถึงคำพูดเก่าที่โซรอสเคยบอกเมื่อสองปีก่อนว่า ให้ล้างพอร์ต และถือเงินสดเอาไว้ โดยให้เหตุผลว่าไม่น่าลงทุนเอาเสียเลยทั้งที่เครื่องมือใหม่ ๆ ของตลาดหุ้นโลก เปิดทางให้ไม่ต้องเล่นทำกำไรจากราคาหุ้นขึ้นขาเดียวแบบเดิมอีกแล้ว เหตุผลหลักยังคงเป็นปัจจัยเดิม คือ ราคาน้ำมันที่ร่วงหนัก และเศรษฐกิจที่มีอาการ “เอาไม่อยู่” ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่คำพูดของโซรอสก็ถูกหักล้างจากชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ทำให้ดาวโจนส์ทะลุ 26,000 จุด

หากมองจากมุมมองทางเทคนิค กลยุทธ์ถอนตัวถือเงินสด อาจจะถูกต้องเพราะตามกรอบทฤษฎีคลื่นเอลเลียต ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีไว้เป็นกรอบทางเทคนิคเพื่อสะท้อนพฤติกรรมการซื้อขายของคนหมู่มาก โดยเน้นวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของราคาตามหลักคณิตศาสตร์ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดทุนรวมถึงตลาดหุ้น เกิดจากจิตวิทยามวลชน การสวิงของราคารอบนี้ ยืนยันว่า “คลื่น (Wave)” ซึ่งถ้าหากเราสามารถวิเคราะห์คลื่นได้ น่าจะสามารถทำนายได้ว่าต่อไปทิศทางของราคาจะไปทางลงมากกว่าขึ้น

สูตรง่าย ๆ ของคลื่นเอลเลียตคือ เวลาตลาดเป็นขาขึ้น หรือภาวะกระทิง จะมีช่วงกราฟเป็นขาขึ้น (impulsive phase) 5 ช่วง และปรับหรือพักฐาน (corrective phase) 3 ช่วง ในทางกลับกัน หากตลาดเป็นขาลง หรือภาวะหมี จะเป็นช่วงปรับหรือพักฐาน 5 ช่วง ขาขึ้น 3 ช่วง

เพียงแต่ การขีดเส้นแบ่งช่วงเวลาเพื่อกำหนดขาขึ้น หรือขาลงของตลาด มีความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับมุมมองนักวิเคราะห์เป็นเกณฑ์

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทมองว่า 10 ปีของขาขึ้นอันยาวนาน และดัชนีดาวโจนส์ S&P500 และแนสแด็ก ต่างทำจุดสูงสุดมากันหมดแล้ว ด้วยปัจจัยที่ส่งเสริมสารพัด ดังนั้นหลังจากผ่านจุดดังกล่าวมา ก็เกิดตัวแปรหรือเหตุปัจจัยเชิงลบ ที่เข้าข่ายบาปพื้นฐาน 7 ประการ (7 original deadly sins) ที่อธิบายโดยนักบวชคริสต์มายาวนานพอดู

ตลาดหุ้นเกือบทั่วโลกเข้าสู่ภาวะหมีเต็มตัวอย่างเป็นทางการเพราะสัญญาณหนุนการฟื้นตัวทั้งหลายกลายเป็นมายาไปหมดเนื่องจากมีลักษณะขึ้นเพื่อลงต่อหรือแมวตายเด้งนั่นเอง

แต่คลื่นดังกล่าวอาจจะเป็นมายาได้ หากว่าคิดทบทวนย้อนไปก่อนหน้านี้หลายปีก่อน ที่นักวิเคราะห์กลยุทธ์ของธนาคารยูบีเอสในสหรัฐฯฟันธงว่าดัชนีตลาดปลายปีที่ผ่านมาเริ่มตั้งแต่การวิ่งขึ้นเดือนตุลาคมจากจุดต่ำสุดของปีแต่ไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ถึง 3 ครั้งสะท้อนชัดเจนถึงขีดจำกัดของตลาดแล้วว่าไปต่อไม่ได้ถือเป็นจุดสิ้นสุดวงจร “ภาวะกระทิง” ของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทที่ดำเนินมา 8 ปีจนถึงจุดสูงสุดใหม่ทุกดัชนีโดยภาวะจากนี้ไปคือช่วงเวลาของ “ภาวะหมี” ที่จะเข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งคาดว่าจะกินเวลาประมาณ 2 ปี แต่ก็ไม่เกิดขึ้น

ปรากฏการณ์ทิ้งหุ้น หลังจากทดลองใช้กลยุทธ์ “ซื้อที่จุดขายมากเกิน” หรือ buy the dip ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นใช้เป็นเครื่องมือรับขาลงมายาวนานเริ่มใช้การไม่ได้ผลแล้วนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผสมกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของจีน และราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งเหวครั้งใหม่ เพราะนั่นเป็นกลยุทธ์ขาเดียวที่แปรเปลี่ยนจาก “ซื้อที่จุดปลอดภัย” พ้นยุค

ส่วนหนึ่งของภาวะ เกิดจากเครื่องมือยุคใหม่ของตลาดโดยเฉพาะตราสารอนุพันธ์ และบล็อกเทรด เปิดช่องให้การทำกำไรช่วงตลาดขาลงทำได้สะดวกกว่าอดีต

ในขณะที่ ขาลงของตลาดอาจจะยาวนานและมากกว่าปกติ เพราะยามนี้ เครื่องมือสำคัญที่เคยได้ผลดีพยุงราคาหุ้น 2 อย่าง 2 ระดับคือ 1) การเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดช่วงขาลงในระดับมหภาคโดยธนาคารกลางหรือตลาดเช่น QE  (หรือคล้ายกัน) ที่ทำในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยูโรโซนและจีน 2) มาตรการของบริษัทพื้นฐานแข็งแกร่งในการรับซื้อหุ้นคืนจ่ายปันผลคงตัวหรือควบรวมกิจการหรือขายทิ้งกิจการที่ไม่ทำกำไรทิ้งเริ่มมีคำถามตามมาว่าได้ผลจริงหรือไม่ เพราะหลายรายทำไปแล้วไม่มีผลเชิงบวกเลย

นักลงทุนมีทางเลือก 2 ทางในยามที่ภาวะหมีครอบงำตลาดคือ 1) ถอนตัวถือเงินสดให้มากกว่าหลักทรัพย์ 2) เรียนรู้วิธีหากำไรใหม่จากเครื่องมือทำกำไรขาลงของตลาดที่มีอยู่โดยต้องตระหนักเสมอว่า ปรากฏการณ์ภาวะหมีที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลจาก “ฟ้ากำหนด” หรือ “วงโคจรของดวงดาว” ใด ๆ

 

Back to top button