พาราสาวะถี
กรณีคลิปฉาวล่าสุด เป็นปกติที่ความเห็นจะแบ่งเป็นสองทาง เห็นได้จากหลายครั้งที่ผ่านมา แต่กับบุคคลที่ปรากฏเป็นข่าวสองราย ไม่ธรรมดาตรงที่คนหนึ่งเป็นนักการเมือง อีกคนเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และแน่นอนว่าจุดยืนอยู่ตรงข้ามฝ่ายเผด็จการอย่างชัดเจน ดังนั้น การถูกตั้งกล้องแอบถ่ายจึงไม่ยากในการทำความเข้าใจว่า ฝีมือใครและทำกันอย่างไร
อรชุน
กรณีคลิปฉาวล่าสุด เป็นปกติที่ความเห็นจะแบ่งเป็นสองทาง เห็นได้จากหลายครั้งที่ผ่านมา แต่กับบุคคลที่ปรากฏเป็นข่าวสองราย ไม่ธรรมดาตรงที่คนหนึ่งเป็นนักการเมือง อีกคนเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และแน่นอนว่าจุดยืนอยู่ตรงข้ามฝ่ายเผด็จการอย่างชัดเจน ดังนั้น การถูกตั้งกล้องแอบถ่ายจึงไม่ยากในการทำความเข้าใจว่า ฝีมือใครและทำกันอย่างไร
น่าเห็นใจไม่เฉพาะสองคนที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ทุกกรณีที่กลายเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด แต่กับกรณีของนักการเมืองรุ่นใหญ่และสาวนักกิจกรรม สะท้อนให้เห็นถึงความต่ำตมในแง่ของคนเผยแพร่ที่หวังผลในการดิสเครดิตหรือลดความน่าเชื่อถือต่อสังคมของคนทั้งสอง อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากท่าทีของฝ่ายหญิง ไม่ได้สนใจต่อฝ่ายที่โจมตีและคงจะมุ่งมั่นในจุดยืนและเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการต่อไป
ส่วนนักการเมืองชาย ในทางการเมืองอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ พรรคต้นสังกัด คงต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ เพราะบทบาทในฐานะแกนนำย่อมมีผลต่อคะแนนเสียง ซึ่งถึงนาทีนี้ก็ยังชี้ชัดไม่ได้ว่าจะให้พัก วางมือ หรือเดินหน้าลุยตามสไตล์ เพราะประเมินกันไว้ว่า ถ้าเรียกคะแนนสงสารก็จะเป็นประโยชน์ต่อพรรค แต่หากถูกโจมตีนำไปเทียบกับพฤติกรรมเชิงชู้สาวของนักการเมืองบางรายจากพรรคคู่แข่ง กระแสก็อาจจะไปอีกทางก็ได้
แต่หากประเมินจากกระแสของการแสดงความเห็นใจ มีแนวโน้มที่นักการเมืองชายจะได้ไปต่อ ซึ่งก็ต้องปรับกลยุทธ์ในเชิงการตลาดกันพอสมควร อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณดีจากคนที่เป็นผู้มีอำนาจตัวจริงเสียงจริงในพรรคที่มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะสถานะของนักการเมืองชายคือหย่าร้าง ไม่ได้ประพฤติผิดศีลธรรม หรือสร้างปัญหาครอบครัว ดังนั้น จึงไม่ถือว่าสร้างความเสียหายต่อพรรค
งานเลี้ยงเลิกราไปแล้ว แต่ผลจากการเลี้ยงโต๊ะจีนหรูในการระดมทุน 650 ล้านบาทของพรรคพลังประชารัฐยังอยู่ในความสนใจของผู้คน ประเด็นว่าด้วยหน่วยงานรัฐร่วมบริจาคด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ปล่อยให้ฝ่ายที่มีอำนาจว่ากันไป ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ ตัวแทนพรรคการเมืองที่เดินทางไปร่วมงาน
โดยปกติถือเป็นมารยาทที่จะต้องไปร่วมแสดงความยินดี แต่ในภาวะที่ไม่ปกติย่อมถูกมองว่าพรรคที่เดินทางไปเพื่อต่อท่อเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสืบทอดอำนาจ ถือเป็นสิทธิที่จะคิดและมองกันอย่างนั้นได้ ทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับท่าทีของพรรคที่ผู้แทนไปร่วมงานดังว่า จริงจังขนาดไหนต่อการไม่สยบยอมให้มีการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ
ถ้าถึงขนาดประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า ไม่มีทางจับมือหรือสนับสนุน สังคมก็จะเลิกกังขา แต่เท่าที่พิจารณาจากรายชื่อแล้ว ไม่มีพรรคใดที่จะเป็นเช่นนั้น ขนาดพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ แม้ระยะหลังจะแสดงท่าทีรังเกียจพวกที่ถูกจับให้อยู่ในซีกเดียวกัน คนก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะไม่สังฆกรรมกับพรรคของเผด็จการ นี่ถือเป็นกรรมเก่าที่พรรคเก่าแก่ได้สร้างมา
ส่วนพรรคขนาดกลางทั้งหลายแหล่ คงไม่มีใครคาดหวังจะได้เห็นทีท่าที่ชัดเจน ยิ่งเส้นทางการสืบทอดอำนาจเด่นชัดจากถ้อยคำอันอหังการของ วันชัย สอนศิริ ผู้ยกหางตัวเองว่าเป็นคนเขียนกฎหมายให้ 250 ส.ว.ลากตั้งมีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ถือเป็นใบเสร็จชั้นดี ซึ่งอันที่จริงสังคมก็รับรู้กันมานาน เพียงแต่ว่าเสียงยอมรับมากหรือน้อยนั้นเป็นสิ่งที่เผด็จการเองก็ต้องการคำตอบที่แน่ชัดเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม โฉมหน้าก่อนการเลือกตั้งใครเป็นใคร วางแผนกันอย่างไร แปรสภาพจากกรรมการเป็นผู้เล่น สังคมต่างรับรู้และทำได้เพียงมองตาปริบ ๆ ดังนั้นวันนี้คนจำนวนไม่น้อยจึงรอวันที่จะไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง เพื่อที่จะรอดูว่าหลังการเลือกตั้งการเมืองไทยจะเดินกันไปอย่างไร การสืบทอดอำนาจที่เตรียมการกันไว้นั้นจะราบรื่น เรียบร้อย ตามแผนหรือไม่
มีความเห็นทางวิชาการต่อภาพหลังการเลือกตั้งจาก สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่มองว่าเป็นหลุมพรางหลังการเลือกตั้ง ที่มองว่า การประกาศผลเลือกตั้งครั้งนี้ที่ให้เวลาถึง 2 เดือน จึงมีความเป็นไปได้ที่ กกต.จะแจกใบเหลือง-ใบส้ม หรือเสนอศาลให้ใบแดง-ใบดำกับผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
กรณีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถูกนำไปสร้างพลังดูด โดยยื่นเงื่อนไขกับอดีต ส.ส.เพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจว่าย้ายมาอยู่กับพรรคการเมืองจอมดูดแล้วไม่มีถูกจับแพ้ฟาวล์แน่นอน แต่กับพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะพรรคในเครือข่ายทักษิณมีสัญญาณว่าระวังจะถูกเล่นงานด้วยวิธีการสามานย์ ยิ่งได้เห็นท่าทีของผู้คุมกฎแล้ว คงเสียวสันหลังกันเป็นแถว
หลุมพรางหลังการเลือกตั้งประการต่อมาคือ การอ้างว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯ แค่ถูกเสนอไว้ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองก็ถือว่าไม่ใช่นายกฯ คนนอกแล้ว ซึ่งสิริพรรณเห็นว่าคำอ้างนี้บิดเบือนหลักการรัฐศาสตร์ และท้ายที่สุดจะเกิดปัญหาขึ้นมาว่า นายกฯ คนนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนหรือต่อผู้ที่เสนอชื่อตัวเอง แต่คนที่อยากสืบทอดอำนาจคงไม่ใส่ใจต่อประเด็นนี้
อย่างไรก็ตาม แม้จะรู้ว่ามีหวยล็อกบทสรุปของการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แต่ โอมาร์ หนุนอนันต์ ตัวแทนเครือข่าย We Watch ประจำภาคกลางน่าสนใจไม่น้อย เพราะมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญของประชาชนในกลับมาการเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชน บางครั้งอาจจะดูสิ้นหวัง เพราะมันโดนเซ็ตมาตั้งแต่แรกด้วยกลไกสารพัด แต่มันมีข้อดีอยู่บ้าง คือกลไกลแบบนี้อย่างน้อยมันก็ทำให้ประชาชนรวมตัวกันได้ง่ายขึ้น ทำให้ประชาชนมีศัตรูร่วมกัน เห็นศัตรูคนนั้นชัดมากขึ้น นี่แหละที่ต้องขีดเส้นใต้