ซ้ำรอยเดิม

นักวิเคราะห์ขาทุบ กลับมาส่งเสียงดังอีกครั้ง ทั้งในตลาดหุ้นสำคัญของโลก และตลาดเกิดใหม่


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

นักวิเคราะห์ขาทุบ กลับมาส่งเสียงดังอีกครั้ง ทั้งในตลาดหุ้นสำคัญของโลก และตลาดเกิดใหม่

ที่น่าสนใจคือมีคนเชื่อมากกว่าไม่เชื่อ ทำให้บรรดาพวกโลกสวยไปต่อไม่เป็น

การรีบาวด์นานเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่ถือว่าเพียงพอสำหรับการพลิกกลับเป็นแรงเหวี่ยงขาขึ้นของตลาดระลอกใหม่ได้ แต่กลับกัน มีคนเริ่มพูดถึงภาวะหมีจริงจังมากขึ้น

นอกจากประเด็นเรื่องกองหนี้ภาคธุรกิจในตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ ของบริษัทอเมริกัน 122 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 6 เท่าของจีดีพี กำลังย่างเข้าสู่ภาวะอันตรายแล้ว ตัวเลขล่าสุดจากจีนก็ส่งข่าวร้ายทำนองเดียวกัน

สำนักงานศุลกากรจีน รายงานวานนี้ว่า ยอดส่งออกเดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้า หดตัวลง 3.1% เทียบรายปี ส่วนยอดเกินดุลการค้าของจีนในเดือน ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 3.95 แสนล้านหยวน ทำให้ยอดส่งออกตลอดปี 2561 ขยายตัว 7.1% เทียบรายปี แตะที่ระดับ 16.42 ล้านล้านหยวน ขณะที่ยอดนำเข้าขยายตัว 12.9% แตะที่ 14.09 ล้านล้านหยวน ส่งผลให้จีนมียอดเกินดุลการค้าในปี 2561 ที่ระดับ 2.33 ล้านล้านหยวน ซึ่งปรับตัวลดลง 18.3%

ขณะที่การค้าต่างประเทศของจีนในปี 2561 ขยายตัว 9.7% เทียบรายปี แตะที่ระดับ 30.51 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ตัวเลขที่ถดถอยที่แสดงขีดจำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งของจีนและสหรัฐฯ ทำให้ความเสี่ยงที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่ำลง เท่ากับเครื่องมือของเฟดในการทำลายปริมาณเงินที่มีประสิทธิผลคือ ทำให้เงินเฟ้อพุ่งจนกระทั่งการถือเงิน มีค่าต่ำกว่าถือทรัพย์สินในรูปอื่น ๆ จากนั้นก็ออกพันธบัตรมาดูดซับเงินออกไปอย่างง่าย ๆ เป็นกรรมวิธีเก่าในยุคทุนนิยมคริสต์ศตวรรษทำกันคล่องแคล่ว หมดความจำเป็นต่อไป

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า วงจรเศรษฐกิจของอเมริกาหดตัวกระชั้นขึ้น ความพยายามยก “ธงเหลือง” และ “ธงแดง” เพื่อควบคุมการเติบโตของสินเชื่อหนี้ภาคธุรกิจเพื่อเร่งโต (so-called leveraged loans) ของธนาคารกลางทั่วโลกยามนี้ คือการส่งสัญญาณชัดเจนก่อนฟองสบู่เศรษฐกิจจะเกิดขึ้น

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เมื่อขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจบสิ้นลง แต่มีการควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดแทน ปัญหาฟองสบู่เศรษฐกิจก็กลับมาเป็นประเด็นที่กระทบถึงตลาดหุ้นและตราสารหนี้โดยปริยาย

แม้ว่าตามมาตรฐานของไฮแมน มินสกี้ นักคณิตศาสตร์ด้านตลาดเก็งกำไร ตลาดหุ้นทั่วโลกยามนี้ ยังห่างไกลจากสถานการณ์ที่กำลังจะพังทลาย หากพิจารณาจากกรอบที่วางเอาไว้ทั้งหมด 7 ขั้นตอนที่ต้องผ่านให้ครบ ได้แก่

– Displacement ความผันผวนในอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตที่แท้จริง ที่มีตลาดใหญ่อย่างใดอย่างหนึ่ง (เทคโนโลยีใหม่สุด นโยบายใหม่สุด อุตสาหกรรมใหม่สุด กระบวนผลิตใหม่สุด) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานและมุมมองของตลาด

– Prices start to increase ราคาและค่าแรงเพิ่มขึ้นจนผิดสังเกต จนต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปรับให้เหมาะกับภาวะเงินเฟ้อ

– Easy Credit สินเชื่อเงินกู้ราคาถูก (นวัตกรรมการเงินใหม่) ถูกนำเสนอเข้ามา จุดประกายให้เงินนั้นถูกนำไปเริ่มเก็งกำไร

– Excessive Trading ตลาดที่ร้อนแรงเกินขนาด ส่งผลให้ราคาหุ้นสูงเกินจริง หรือ พี/อี ตลาดสูงเกินกว่าตลาดอื่น ๆ ในโลก มีวิศวกรรมการเงินทำให้ปริมาณเทรดหุ้นมากเกินสมควร (เทิร์นโอเวอร์สูงกว่าจำนวนหุ้น) ดันราคาหุ้นทะยานรุนแรง

– Euphoria คนที่ไม่มีความรู้ พากันเข้ามาซื้อขายหุ้น แม้กระทั่งคนเช็ดรองเท้า และแคดดี้สนามกอล์ฟก็ยังเล่นหุ้น

– Insider profit taking พ่อมดการเงินอาละวาด ด้วยการครอบงำราคาผ่านข้อมูลวงใน

– Revulsion บรรยากาศเข้าสู่สภาพหนีน้ำท่วม ใครหนีก่อนรอด ขายทีหลังตาย มีคนขายมากกว่าคนซื้อ

การกล่าวถึงความเสี่ยงเรื่องคุณภาพหนี้และสินเชื่อ จึงมีความหมายว่า ปีนี้มีโอกาสที่การเติบโตของธุรกิจโดยรวม และการลงทุนใหม่ ๆ จะพบข้อจำกัดมากกว่าเดิม สอดรับกับพัฒนาการว่าด้วยการท้าทายและตอบสนองของ อาร์โนลด์ ทอยน์บี ที่ว่าด้วยรัฐในโลกทุนนิยม 3.0 แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งรัฐมีบทบาทเป็นผู้ประสานการกระทำร่วมทางสังคมที่เน้นบทบาทของภาคมวลชนและชุมชนโดดเด่น ภาคการเงินมีบทบาทเข้มข้นยิ่งขึ้น ในขณะที่ภาคการผลิตลดบทบาทและอำนาจต่อรองลงไป

จอร์จ ซานตายาน่า นักคิดอเมริกันเชื้อสายสแปนิช เคยกล่าวนานมาแล้วว่า ประวัติศาสตร์มักจะถูกเขียนผิด ๆ เสมอ และเมื่อใดที่มีความพยายามแก้ไขมัน ก็มักจะถูกแก้ไขด้วยความผิดใหม่ ๆ เสมอเช่นกัน

การเดินย่ำรอยเดิมของดัชนีตลาดหุ้น สอดรับกับคำกล่าวนี้ได้ดี

 

Back to top button