สหราชอาณาจักร กับ วิกฤติอัตลักษณ์

ความพยายามใช้นโยบาย “โดดเดี่ยว ไม่เดียวดาย” ของรัฐบาลอังกฤษ ในฐานะแกนกลางของสหราชอาณาจักร กำลังสั่นคลอนเก้าอี้ของนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของประเทศอย่างรุนแรง 


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ความพยายามใช้นโยบาย “โดดเดี่ยว ไม่เดียวดาย” ของรัฐบาลอังกฤษ ในฐานะแกนกลางของสหราชอาณาจักร กำลังสั่นคลอนเก้าอี้ของนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของประเทศอย่างรุนแรง

เช้านี้ก็คงรู้ผลกันแล้วว่า

การลงมติต่อร่างข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในเวลา 20.00-21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเช้ามืดวันพุธเวลา 03.00-04.00 น. ตามเวลาไทย จะออกมาเช่นไร หลังจากที่มีการคาดเดาล่วงหน้าว่า เดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตการเมืองของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งต้องการผลักดันให้ร่างข้อตกลง Brexit ฉบับนี้ผ่านการอนุมัติในรัฐสภา หลังจากที่ได้เลื่อนการลงมติมาแล้วครั้งหนึ่งจากเดิมที่มีกำหนดในวันที่ 11 ธ.ค.ปีที่แล้ว เนื่องจากวิตกว่าจะถูกสภาคว่ำ จะลงเอยด้วยการที่ถูกคว่ำมากกว่าเดิม

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะถือเป็นจุดจบของการเป็นนายกรัฐมนตรีของนางเมย์

กรณีนี้ดูน่าตื่นเต้น แต่ไม่ถือว่าน่าประหลาดใจ เพราะความซับซ้อนของประเด็นการแยกตัวจากสหภาพยุโรปมีหลากมิติมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นมิติไหน ก็ไม่อาจเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า กำหนดวันออกจากสหภาพยุโรปคือ 29 มีนาคม 2562 เวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร อันเป็นเงื่อนเวลานับตั้งแต่ทราบผลการลงประชามติ ด้วยคะแนนเสียงคู่คี่ 52% ต่อ 48% ให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป แต่บนบัตรลงคะแนน โดยไม่ได้บอกรายละเอียดว่า จะเป็นการออกแบบไหน

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งอังกฤษและสหภาพยุโรป สามารถบรรลุข้อตกลงกันแล้ว แต่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาสหราชอาณาจักร

ประเด็นที่อ่อนไหวมีอยู่หลายเรื่อง เช่น

ฮาร์ด หรือ ซอฟต์ เบร็กซิท ความหมายที่ต่างกันคือ “ฮาร์ด เบร็กซิท” สหราชอาณาจักรตัดสัมพันธ์หลายอย่างกับสหภาพยุโรป ส่วน “ซอฟต์ เบร็กซิท” สหราชอาณาจักรยังมีความสัมพันธ์ และใช้กฎเกณฑ์หลายอย่างของสหภาพยุโรปอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการอยู่ในตลาดร่วม (ใช้ระบบภาษีเดียวกัน) ไม่ใช่สหภาพศุลกากร (ใช้อัตราภาษีคนละแบบ)

การตรวจคนเข้าเมือง…อังกฤษต้องการลดจำนวนพลเมืองของสหภาพยุโรปที่เข้ามาในสหราชอาณาจักรได้ หลังจากเบร็กซิท นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิของพลเมืองสหราชอาณาจักรที่เดินทางเข้าสหภาพยุโรปเช่นกัน

– แผนรับมือที่ไอร์แลนด์เหนือ เกาะไอร์แลนด์แบ่งออกเป็นสาธารณรัฐไอร์แลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ แต่ 2 อาณาเขตนี้ ไม่มีด่านตรวจพรมแดน เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป ถ้าสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพศุลกากร จะต้องมีการตรวจตราสินค้าที่ผ่านพรมแดน แต่การมีพรมแดนที่มีด่านตรวจศุลกากร ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่า จะเกิดความแตกแยกและความรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ความซับซ้อนเช่นนี้ ทำให้คนหวนย้อนกลับไปคิดถึงคำเตือนในกลางปี 2559 ของนักวิเคราะห์แห่งวาณิชธนกิจใหญ่ของสหรัฐฯ โกลด์แมน แซคส์ ไปยังลูกค้าของบริษัทในวันอาทิตย์ 26 มิถุนายน ว่า อังกฤษอาจจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ หลังจากการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT โดยคาดว่าจะเริ่มต้นภายในต้นปีหน้า พร้อมกับหั่นตัวเลข GDP อังกฤษลงถึง 2.75% ในอีก 18 เดือนข้างหน้า

ครั้งนั้น โกลด์แมน แซคส์ ยังคาดเดาว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน โดยคาดว่า GDP ของกลุ่มยูโรโซนในช่วงปีนี้ จะอยู่ที่ 1.25% โดยชี้ว่า จุดเสี่ยง 3 ประการที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 1) การค้าระหว่างประเทศที่คาดว่าจะเสื่อมถอยลง 2) การลงทุนลดลงเพราะบริษัทส่วนใหญ่จะลดการลงทุนจากความไม่แน่นอน 3) ปัจจัยการผันผวนของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และความอ่อนแอของสินทรัพย์เสี่ยง ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ยากจะควบคุมได้

การวิเคราะห์ดังกล่าว ระบุว่า แม้โดยภูมิศาสตร์การเมืองอังกฤษมีสภาพเป็นเกาะ แต่โดยชาติพันธุ์แล้วอังกฤษไม่ใช่ชนชาติที่แตกต่างจากคนยุโรปอื่น ๆ ในอดีตนับแต่ยุคกลางตอนกลางเป็นต้นมา อังกฤษถูกชาติต่าง ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวเคลท์ที่อยู่มาดั้งเดิม ทั้งจากยุโรปตอนเหนือและฝรั่งเศส จนผสมผสานกลายมาเป็นชนเชื้อสายแองโกล-แซกซอนในปัจจุบัน แม้กระทั่งราชวงศ์อังกฤษในปัจจุบันก็ยังสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ฮันโนเวอร์ของเยอรมนีด้วยซ้ำ

อังกฤษเริ่มมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปมาตั้งแต่สงครามครูเสด ต่อมาในยุคเรเนสซองส์ตอนปลาย อังกฤษได้กลายเป็นชาติการค้าที่เที่ยวไปสร้างพันธมิตรทางการค้าและการทหารกับหลายชาติในยุโรป นับตั้งแต่การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสเปนเพื่อสร้างพันธมิตรต่อต้านฝรั่งเศส และสร้างพันธมิตรกับเนเธอร์แลนด์เพื่อหาทางลดอำนาจของสันนิบาตผูกขาดการค้าฮันเซียติกในทะเลบอลติกลง จนกระทั่งกลายมาเป็น “พันธมิตรโปรเตสแตนท์” ในยุคของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8

นับจากนั้นเป็นต้นมา อังกฤษไม่เคยร้างราจากการสร้างพันธมิตรและมีบทบาทในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของยุโรปเลย มีสนธิสัญญาในประวัติศาสตร์ยุโรปที่อังกฤษร่วมลงนามด้วยมากกว่า 500 สัญญาในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา

บทบาทของความสัมพันธ์ในการสร้างและเปลี่ยนพันธมิตรแต่ละครั้งของอังกฤษ (รวมทั้งเป็นชาติคริสเตียนรายแรก ที่สร้างพันธมิตรทางทหารและการค้ากับจักรวรรดิออตโตมันที่เป็นมุสลิม เพื่อประโยชน์ทางการค้าในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17) มีส่วนสร้างอิทธิพลของอังกฤษต่อยุโรปต่อเนื่องไม่เคยขาดสายจนถึงสหัสวรรษ 2001 เป็นต้นมา จนได้ชื่อว่าเป็นชาติหนึ่งที่มีความช่ำชองกับชั้นเชิงทางการทูตและการทหารในเวทีระหว่างประเทศอย่างยิ่งชาติหนึ่งในโลก

การถอนตัวไม่ว่าจะเกิดขึ้นบางส่วน หรือเบ็ดเสร็จ ล้วนเป็นการบั่นทอนรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น ถือเป็นวิกฤติอัตลักษณ์ชัดเจน

การสังเวยนายกรัฐมนตรีหญิงอีก 1 คน เพื่อเป็นการพลีให้กับประชามติของประชาชน จึงเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว

Back to top button