สังคมข่าวหุ้น

* ตลาดหุ้นไทยล่าสุดปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,577.41 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.41 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 5 หมื่นล้านบาท


นิวส์เวฟ

* ตลาดหุ้นไทยล่าสุดปิดการซื้อขายที่ระดับ 1,577.41 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.41 จุด มูลค่าการซื้อขายรวม 5 หมื่นล้านบาท

* ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่ตลาดหุ้นไทยพานักลงทุนเวียนหัวสุด ๆ ภาคเช้าปิดลบเกือบ 8 จุด แต่พอเข้าสู่ช่วงภาคบ่ายโดยเฉพาะหลังช่วงบ่าย 3 โมงเย็นเป็นต้นไป แรงซื้อหุ้นกลุ่มหุ้นใหญ่ไหลกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดอยู่ในแดนบวกได้เล็กน้อยอย่างที่พวกเราเห็นกัน

* งานนี้ถือเป็นการฉายภาพของตลาดหุ้นไทยให้เห็นว่ายังคงอยู่ในจุดของความผันผวนไม่เปลี่ยนและยากที่จะคาดการณ์ทิศทาง โดยสะท้อนได้จากมุมของกลุ่มผู้ลงทุนแต่ละส่วนยังคงอยู่ในจุดที่แตกต่างไม่ได้ไปทางเดียวกัน และการลงทุนอิงแค่ปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียวในขณะนี้ก็คงไม่พอแล้ว

* ภายใต้คำแนะนำ “ซื้อ” ของบทวิเคราะห์ สิ่งที่ไม่ได้บอกเราคือไทมิ่งการลงทุน ว่าตอนไหนละคือจังหวะที่เหมาะสม ? แน่นอนบทวิเคราะห์ไม่ได้ทำผิดเพราะถือเป็นการวิเคราะห์อิงที่ปัจจัยพื้นฐาน (ไม่ได้รวมถึงไทมิ่งเข้าซื้อ) ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในบทวิเคราะห์หนึ่งฉบับจะมีทั้งการวิเคราะห์เน้นพื้นฐาน (คำแนะนำ-กำไร-ราคาเป้าหมาย) และบทวิเคราะห์ที่อิงไปตัวเทคนิคล้วน ๆ ถึงได้บอกนักลงทุนเสมอว่า ในการลงทุน 1 หุ้น ต้องวิเคราะห์ควบคู่ไปกับกลยุทธ์หรือรูปแบบของตัวเอง

* ยกตัวอย่างเช่นหุ้น PTTGC ถ้ามองในมุมระยะสั้นแน่นอนราคาออกแนวน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะเป็นทั้งหุ้นใหญ่ที่โดนภาวะตลาดกดดัน แถมยังมีเรื่องราคาน้ำมันชะลอตัวฉุดรั้งในส่วนโรงกลั่นจนเกิดสต๊อกลอสไปแล้วในไตรมาส 4/61 (ส่วนไตรมาสแรกปีนี้ยังต้องลุ้นจะบวกหรือลบ)

*  แต่ถ้าข้ามมาในฝั่งของนักลงทุนระยะกลาง-ยาว จะกลายเป็นหุ้นที่อยู่ในจุดน่าสนใจทันทีทั้งค่า P/E เทรดต่ำกันแค่แถว 7 เท่า ค่า P/BV แค่ 1 เท่า แล้วเงินปันผลงวดครึ่งหลังปี 61 ถ้าอิงตามนักวิเคราะห์คาดน่าจะจ่ายแถว 2.30-2.40 บาท คิดเป็นผลตอบแทนกว่า 3% (เทียบราคาในกระดาน) นี่ถ้ารวมกับงวดระหว่างกาลจะคิดเป็นดิวิเดนด์ยีลด์เกิน 6% ไปแล้ว อ่านตามนี้คงเห็นภาพแล้วใช่หรือไม่ ในหุ้นตัวเดียวกันแต่เมื่อมีกลยุทธ์แตกต่าง ย่อมมีบทสรุปการลงทุนออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้น ในยามที่ตลาดหุ้นไทยเล่นยาก ต้องดูทั้งพื้นฐาน ไทมิ่งเข้าเก็บ กลยุทธ์ของตัวเอง และที่สำคัญอย่าลืมกำหนดจุดตัดขาดทุนไว้ด้วย

* หุ้น CKP เป็นหนึ่งในหุ้นดิ่งลงแรงแบบงง ๆ ขณะนี้ยังไม่พบปัจจัยลบพิเศษกดดันอะไร แต่ถ้าจะมองหาก็มีอยู่อย่างหนึ่งคือค่า P/E ของหุ้น CKP ที่ปัจจุบันสูงกระฉูดเกิน 70 เท่า หากสังเกตให้ดีกลุ่มหุ้นที่ดิ่งลงหนักในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นพวกหุ้นที่มีค่า P/E สูงมากเป็นพิเศษ เพราะเหมือนเป็นหุ้นที่เทรดจะเกินระดับพื้นฐานขึ้นไปแล้ว

* เมื่อตลาดผันผวนหนักและต้องมีการลดความเสี่ยงทำให้กลุ่มหุ้นพวกนี้มักโดนเทขายไปก่อนใคร ประกอบกับราคา CKP เมื่อวานหลุดลงมากันแทบทุกแนวรับ ยังดีที่ฐานราคา 4.66 บาท ยืนค้ำต้านแรงขายเอาไว้จนสุดท้ายดีดกลับขึ้นมาเล็กน้อยและปิดตลาดที่ 4.70 บาท ส่วนวันนี้ยังคงต้องลุ้นกันต่อเพราะดูทรงแล้วแรงขายอาจจะยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่ถ้าหุ้นยืนสู้ได้ไม่นานจะดีดกลับขึ้นมา เพราะจริง ๆ แล้วถือเป็นหุ้นที่ในงวดปีนี้มีปัจจัยบวกใหญ่โครงการไซยะบุรีช่วยผลักดันพื้นฐานแบบพลิกโฉมบริษัท

* ปิดท้ายด้วยหุ้น LH อัปเดตข้อมูลล่าสุดน่าจะไม่วิตกกังวลเหมือนในอดีต ตัวแบ็กล็อกของบริษัทเองมีอยู่ในมือ 1 หมื่นล้านบาท บุ๊กเข้ามาปีนี้ประมาณ 6 พันล้านบาท และที่เหลือจะไปรับรู้ในปีถัดไป ขณะที่สต๊อกในมือมีอยู่รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนในแง่รายได้ทางบริษัทตั้งเป้าปี 62 จะกวาดรวม 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนของอสังหาฯ เพื่อขายจำนวน 3.2 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการแนวราบถึง 90% และอีก 10% คือคอนโดมิเนียม ทำให้ผลกระทบกรณีตลาดคอนโดมิเนียมชะลอตัวจากมาตรการคุมเข้ม (กดดันต่อกลุ่มซื้อเพื่อเก็งกำไร) ไม่ได้มีผลต่อ LH มากนัก เพราะสินค้าที่เป็นหลักที่เป็นหัวใจสร้างรายได้-กำไรหลักให้บริษัทยังคงมาจากฝั่งของแนวราบเหมือนเช่นเดิม

Back to top button