หุ้นอสังหาฯ แตกไลน์ธุรกิจ “หนีตาย”!?
หลังจากนี้ไปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะต้องก้าวสู่สภาวะชะลอตัวจากหลายปัจจัยกดดัน เช่น สถาบันการเงินคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Post-finance) มากขึ้น ตลอดผู้ซื้อชาวต่างชาติชะลอตัวลง กำลังซื้อภายในประเทศไม่เติบโตอย่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคอนโดมิเนียมเริ่มมีสัญญาณโอเวอร์ซัพพลายในบางทำเล
เส้นทางนักลงทุน
หลังจากนี้ไปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะต้องก้าวสู่สภาวะชะลอตัวจากหลายปัจจัยกดดัน เช่น สถาบันการเงินคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Post-finance) มากขึ้น ตลอดผู้ซื้อชาวต่างชาติชะลอตัวลง กำลังซื้อภายในประเทศไม่เติบโตอย่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และคอนโดมิเนียมเริ่มมีสัญญาณโอเวอร์ซัพพลายในบางทำเล
ที่สำคัญจะเริ่มใช้เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำหรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ให้สะท้อนความเสี่ยงให้ดีขึ้น สำหรับการผ่อนที่อยู่อาศัยพร้อมกัน 2 หลังขึ้นไปและมีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท
และผ่อนชำระหลังแรกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะต้องวางดาวน์ 10% ขณะที่ถ้าผ่อนชำระหลังแรกยังไม่ถึง 3 ปี หรือกู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องวางดาวน์ 20% ส่วนที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ขึ้นไปจะต้องวางดาวน์ 30% ในทุกระดับราคา
ขณะที่การนับรวมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อ Top-up) ในวงเงินที่ขอกู้ จะนับรวมสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่อ้างอิงหลักประกันเดียวกันในวงเงินที่ขอกู้ โดยให้ยกเว้น 1.สินเชื่อที่ใช้ชำระเบี้ยประกันชีวิตผู้กู้และประกันวินาศภัย ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงของทั้งผู้กู้และสถาบันการเงิน และ 2.สินเชื่อที่ให้กับธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย
ผลดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักต่อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์!!! เพราะการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะทำให้ผู้กู้ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ยากมากขึ้น หรืออาจไม่ได้เลย!!!
ดังนั้นทำให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เริ่มทยอยพลิกเกม แปรผันธุรกิจหรือแตกไลน์ธุรกิจไปทำธุรกิจอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อ “หนีตาย” เมื่ออสังหาริมทรัพย์จะก้าวสู่ภาวะชะลอตัว
สำหรับหลักทรัพย์ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีการแตกไลน์ธุรกิจไปยังธุรกิจอื่น ๆ อาทิ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML, บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK, บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA และ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH เป็นต้น
บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML นอกเหนือจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับลักซ์ชัวรี่ที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ แล้ว มีนโยบายที่จะต่อยอดธุรกิจไปสู่โครงการสำนักงานให้เช่า ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงธุรกิจทางด้านโรงแรม
อีกทั้งมีนโยบายที่จะต่อยอดธุรกิจไปสู่โครงการสำหรับสร้างศูนย์การแพทย์ เพื่อรองรับพันธมิตรซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัย มีความชำนาญทางด้านการทำเด็กหลอดแก้ว ผสมเทียม และการเก็บไข่แช่แข็ง ซึ่งคาดว่าจะเปิดบริการได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
ประกอบกับบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะร่วมทุนพันธมิตรทางการแพทย์มูลค่ากว่า 1.3 พันล้านบาท เพื่อตอบโจทย์การดูแลสุขภาพของทุกระดับ ที่เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทางบริษัทฯ ตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดในการอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ และจะมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความนำสมัยมาปรับใช้สำหรับการบริการอย่างดีที่สุด รวมถึงยังมีการสร้าง “ศูนย์สุขภาพการเจริญพันธุ์” เพื่อให้คำปรึกษาด้านการมีบุตร รวมไปถึง “ศูนย์เวชศาสตร์การชะลอวัย” เพื่อรองรับความต้องการของผู้รับบริการแต่ละบุคคล ที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพอย่างรอบด้าน
ขณะที่ธุรกิจด้านอาหาร และเครื่องดื่ม บริษัทฯ ยังคงดำเนินงานกับพันธมิตรกลุ่มบ้านหญิง (Baan Ying Group) อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายธุรกิจร้านอาหารต่อยอดจากสาขาที่มีอยู่ในสิงคโปร์ โดยมีแผนที่จะขยายแฟรนไชส์ร้านอาหารออกสู่ภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ไต้หวัน กัมพูชา และจีน ในปีนี้
บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK มีการแตกไลน์จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจบริการและการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากการตั้งบริษัท มั่นคงไลฟ์ จำกัด ช่วงต้นเดือน มี.ค. 2561 เพื่อพัฒนาโครงการสถานพยาบาลเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพแบบครบวงจร โดยร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท ไวทัลไลฟ์ จำกัด ในเครือบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH มีเป้าหมายเจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมียมทั้งไทยและต่างประเทศ
ตามด้วยการจัดตั้งบริษัท เอ็มเคเอช แอสเซทส์ จำกัด ช่วงเดือน พ.ย. 2561 เพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมและธุรกิจด้านการให้บริการ ประเดิมด้วยการเข้าซื้อหุ้น Cmego Joint Stock Company ในประเทศเวียดนาม เจ้าของธุรกิจโรงแรมที่ชื่อว่า Christina’s ในสัดส่วน 4.76% มูลค่า 33.24 ล้านบาท
นอกจากนี้ อนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ บริษัท เฮลท์ แอนด์ เวลเนสส์ วิลเลจ จำกัด มีเป้าหมายเพื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับสถานพยาบาล
บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA เริ่มหันมามุ่งเน้นการขยายศูนย์สุขภาพทั้งในประเทศไทยและจีน เนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตสูงจากการที่คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ศูนย์สุขภาพครบวงจร 70% เพื่อตอบสนองเทรนด์การท่องเที่ยว และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค และอีก 30% เป็นการพัฒนาที่พักอาศัยและอื่น ๆ
บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH แม้ว่าธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายยังคงเป็นรายได้หลัก แต่จะมีธุรกิจโรงพยาบาลวิมุตติเข้ามาเสริมที่จะเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2563 พร้อมกับมองหาโอกาสในการขยายสาขาของโรงพยาบาลวิมุตติเพิ่มเติมในอนาคต
เนื่องจากในปัจจุบันโรงพยาบาลวิมุตติอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่บริษัทได้มีโครงการนำร่องในธุรกิจโรงพยาบาล คือ บ้านวิมุตติรังสิต คลอง 3 ที่ได้เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 และในอนาคตก็มีโอกาสที่จะขยายสาขาบ้านวิมุตติไปตามชุมชนต่าง ๆ ต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมองหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่เพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในธุรกิจอื่นที่อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อทำให้พฤกษามีการกระจายรายได้ที่หลากหลาย ทำให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
เอาเป็นว่ากลุ่มธุรกิจอสังหาฯ เริ่มมีการรุกไปยังธุรกิจอื่น ๆ นั้น… ถือเป็นการ “แตกไลน์ธุรกิจเพื่อการเติบโต” อย่างชัดเจน..เพราะธุรกิจเดิมอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ชักเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดนั่นเอง…