แบงก์ตั้งการ์ดกันแน่น

หากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไม่ปรับลง


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

หากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไม่ปรับลง

ก็มีความเป็นไปได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจขึ้นไปทดสอบระดับ 1,600 จุด หรือเผลอ ๆ อาจยืนเหนือระดับดังกล่าวได้

จะเห็นว่า 2 วันทำการที่ผ่านไป ตลาดหุ้นเอเชียต่างบวกกันคึกคักมาก

เช่นเดียวกับเมื่อวานนี้ที่ปิดในแดนบวกเกือบทุกแห่ง (ยกเว้นตลาดหุ้นจีน)

ส่วนของไทยเอง ดัชนีถูกดันด้วยหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ที่นำโดย SCB และ KBANK รายงานผลประกอบการไตรมาส 4/2561 ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ส่วนหุ้นใหญ่อย่างแบงก์กรุงเทพ หรือ BBL เมื่อวันศุกร์ก็ร่วงด้วยเช่นกัน

ทั้งที่ BBL ยังไม่แจ้งผลประกอบการ

ทว่าราคาหุ้นในวันนั้นกลับหลุด 200 บาท

แต่จากรายงานผลประกอบการในช่วงค่ำวันศุกร์ของ BBL แม้กำไรจะต่ำกว่าคาดไป 10%

แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญเชิงลบอะไรมากนัก ทำให้ราคาหุ้นเด้งกลับมายืนเหนือ 200 บาทได้ หรือสรุปง่าย ๆ นักลงทุนที่ขายหุ้น BBL ออกมา ถือว่า “ขายหมู” กันเป็นแถว

สินเชื่อของ BBL เพิ่มขึ้น 4% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย และดีกว่าที่ตลาดคาดไว้

คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น พิจารณาจาก NPL Ratio ที่ลดลงมาอยู่ที่ 3.4% จาก 3.6% ในไตรมาสก่อน

และที่สำคัญคือ Coverage ratio ที่สูงถึง 191% จาก 180.1% ในไตรมาสก่อนหน้านี้ ทำให้โบรกฯ ต่างยังคงแนะนำซื้อหุ้น BBL ที่มีราคาเป้าหมายระหว่าง 220-250 บาทต่อหุ้น

มีข้อน่าสังเกตว่า แม้กำไรของ SCB และ KBANK จะลดลงบ้าง

แต่ตัวเลขสำคัญทางการเงินอย่าง Coverage ratio ต่างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยขึ้นมาอยู่ระดับ 147% และ 160%

ตัวเลขสำรองสูงระดับนี้ เห็นว่าเพียงพอต่อการรับมือกับ IFRS 9 ได้อย่างสบาย

เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น ๆ ที่แม้ว่ากำไรไตรมาส 4 จะต่ำกว่าคาด

ในทางกลับกัน Coverage ratio ต่างเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า รวมถึงธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก และน่าจะสะท้อนอะไรบางอย่างได้เป็นอย่างดี

เท่าที่ดูจากบทวิเคราะห์ของหุ้นแบงก์แต่ละตัว

ยังพบด้วยว่า นักวิเคราะห์ต่าง ๆ ยังมีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นในกลุ่มธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น BBL KBANK SCB

ส่วน KTB ต้องจับตาดูว่าวันนี้บทวิเคราะห์จะออกมามีมุมมองอย่างไร

KTB เพิ่งแจ้งผลประกอบการเมื่อวานนี้ช่วงค่ำ

กำไรที่ออกมา ดูเหมือนว่าต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดกันไว้เช่นกัน

แต่หากดูระดับของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ Coverage Ratio เพิ่มขึ้นมาเป็น 125.81% จาก 122.59% ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 และ 121.71 ณ สิ้นปี 2560

มาดูแบงก์ขนาดเล็กกันบ้าง

KKP เดิมนั้นก็ถูกคาดหมายว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นเยอะ

พอแจ้งออกมาแล้วต่ำกว่าที่ตลาดคาดกันไว้ราว ๆ 10-12% แต่ตัวเลขหนี้เสียหรือ NPL กลับมีทิศทางดีขึ้น

เพราะ NPL Ratio ลดลงมาอยู่ที่ 4.1% จาก 4.2% ในไตรมาสก่อนหน้า

ที่สำคัญ เป็นการปรับตัวลง 6 ไตรมาสติดต่อกัน จากการแก้ไขหนี้ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

และสำหรับ Coverage ratio อยู่ที่ 115% ทรงตัวจากไตรมาสก่อน

ส่วนสินเชื่อเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งมาก คือ ไตรมาส 4 +3.9% จากไตรมาสก่อนหน้า และสินเชื่อทั้งปี 2561 เพิ่มขึ้น 18.5% หากเทียบกับปี 2560

ขณะที่แบงก์ขนาดกลาง TMB ตัวเลข Coverage ratio ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 152%

สรุปภาพรวมกำไรไตรมาส 4 ของกลุ่มแบงก์ บวกขึ้นเล็กน้อย 1.58%

ส่วนทั้งปี กำไรอยู่ที่ 2.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 8.63%

จะเห็นว่านอกจากกำไร (ปี 2561) เพิ่มขึ้น

และยังตั้งการ์ดกันแน่นมากขึ้นด้วย

Back to top button