คนอยากเลือกตั้ง

ดัชนี SET พุ่งแรง ประมาณ 15 จุด ชนิดเพิกเฉยต่อการเจรจาการค้าที่ล้มเหลวของสหรัฐฯ-จีน และการที่สภาอุตสาหกรรมฯ ปรับลดเป้ายอดผลิตรถยนต์ปี 2562 ที่ 2.15 ล้านคัน ลดลง 0.82% จากปีก่อน ด้วยเหตุที่การส่งออกลดลงและค่าบาทแข็งขึ้นผิดปกติ


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ดัชนี SET พุ่งแรง ประมาณ 15 จุด ชนิดเพิกเฉยต่อการเจรจาการค้าที่ล้มเหลวของสหรัฐฯ-จีน และการที่สภาอุตสาหกรรมฯ ปรับลดเป้ายอดผลิตรถยนต์ปี 2562 ที่ 2.15 ล้านคัน ลดลง 0.82% จากปีก่อน ด้วยเหตุที่การส่งออกลดลงและค่าบาทแข็งขึ้นผิดปกติ

เหตุผลเดียวที่อธิบายการพุ่งของราคาหุ้นและดัชนี SET วานนี้คือ การประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง เปิดทางให้ กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นไปตามคาด เพราะ กกต.เคาะแล้ว ให้วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้ง เตรียมส่งรัฐบาลประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยกำหนดวันรับสมัคร ส.ส. 4-8 กุมภาพันธ์ แล้วประกาศรายชื่อผู้สมัคร 15 กุมภาพันธ์ ให้มีการลงคะแนนนอกราชอาณาจักร 4-16 มีนาคม ลงคะแนนนอกเขต 17 มีนาคม

นักวิเคราะห์หุ้นส่วนใหญ่ขานรับว่านี่คือสัญญาณบวกชัดเจนของตลาดหุ้นไทย ราชกิจจานุเบกษาที่เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ออกมา ซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นแน่นอน ส่งผลให้ดัชนีฯ ปรับขึ้นสู่ระดับ “ที่ควรจะเป็น”

มุมมองแบบโลกสวยของนักวิเคราะห์ระบุอีกว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร คาดว่าหลังการเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น จะเริ่มเห็นสัญญาณกระแสเม็ดเงินไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติ แม้อาจมีจำนวนไม่มากนัก มองว่าหุ้นขนาดใหญ่จะเป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ อาทิ หุ้นในกลุ่มพลังงานและโรงกลั่น, กลุ่มธนาคารพาณิชย์, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

มุมมองดังกล่าวเพิกเฉยต่อเสียงจิ้งหรีดเตือนสติ อย่างนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ ที่เคยนำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ว่า การเลื่อนเลือกตั้งเท่ากับไม่มีเลือกตั้ง

เหตุผลของหมอเลี้ยบ ระบุว่า การกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 สุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญฯ เพราะคณะกรรมการเลือกตั้งอาจไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และอาจมีผู้ไปร้องให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ คณะกรรมการเลือกตั้งถูกฟ้องร้องทั้งแพ่งและอาญา

ประเด็นนี้ หากมีผู้ร้องจริง และศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีกำหนด ตามบทบัญญัติในมาตรา 263 และ 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ในกรณีที่หากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณายาวนาน อาจไม่มีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ หรือหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกเมื่อไร ไม่มีใครทราบได้ เพราะบทเฉพาะกาลไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาในสถานการณ์จำลองนี้

มุมมองเชิงบวกต่อการเลือกตั้งของไทยในอนาคต จึงเข้าข่าย “ประเทศกูมี” อีกครั้งว่า อะไรจะเกิดขึ้นจากนี้ไป

ว่ากันตามเนื้อผ้า การขานรับข่าวจะประกาศเลือกตั้งวานนี้ ก็ตามมาด้วยคำถามว่า เป็นการแสดงความดีใจเกินจริงหรือเหนือจริงหรือไม่ เพราะเรื่องว่ากันในทางปฏิบัติแล้ว ผลของการเลือกตั้งนั้น ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าจะทำให้หุ้นขึ้นหรือลงหลังจากรู้ผล

โดยทั่วไปแล้ว สื่อและนักวิเคราะห์มักจะตั้งเป็นประเด็นตลอดมา คำตอบที่ได้มักจะไม่เป็นเอกฉันท์ และขัดแย้งในตัวเสมอมา

พวกที่เชื่อว่าเลือกตั้งแล้วราคาหุ้นหรือดัชนีจะวิ่งขึ้น เพราะมีความเชื่อว่าการได้รัฐบาลที่มาจากประชาชน และมาโดยชอบธรรม จะทำให้เศรษฐกิจเดินสะพัดกว่าปกติ เพราะการเบิกจ่ายเงินต่าง ๆ ของรัฐบาลก็ง่ายขึ้น และประชาชนมั่นใจจนบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างน้อยช่วงการหาเสียงจะมีปรากฏการณ์ “คืนหมาหอน” เกิดขึ้นเสมอ

ส่วนพวกที่เชื่อว่าหุ้นจะตกหลังเลือกตั้ง ก็เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นแค่ปาหี่เท่านั้น เพราะอีกไม่นานความวุ่นวายจะตามมา และกลับไปมีรัฐประหารซ้ำอีก ไม่จบสิ้นวัฏจักรชั่วร้ายของอำนาจ เปลืองงบประมาณเปล่า ๆ

เคยมีคนพยายามยกเอาข้อมูลเชิงสถิติมาอ้าง ว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทยจำนวน 10 ครั้ง ในอดีต ไม่รวมปี 2539 ซึ่งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง พบว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยมีทิศทางปรับตัวขึ้นแต่ละครั้งโดยเฉลี่ยราว 10.3% เนื่องจากมีความคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาสานต่อนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเข้ามาผลักดันตลาดให้ปรับตัวขึ้นได้ในรอบนี้

คำแนะนำที่ได้ยินซ้ำซากเสมอ มักจะระบุว่า ก่อนการเลือกตั้งจะต้องขอแนะนำหุ้น 3 กลุ่ม คือ ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มค้าปลีก และหุ้นที่เกี่ยวกับการสื่อสาร เพื่อลงทุน เพราะเป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายมากที่สุด โดยเน้นหนักไปที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) อยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มอื่นเสมอ

อีกเหตุผลสำคัญอยู่ที่ว่า เม็ดเงินต่างชาติยังมีแนวโน้มที่จะไหลเข้ามาในประเทศไทยอีก เพราะต่างชาติจะปลอดจากข้อห้ามในการนำเงินเข้ามาลงทุนในชาติที่เป็นเผด็จการ โดยเฉพาะกองทุนข้ามชาติบางแห่งจากยุโรปหรือสหรัฐฯ

ข้อมูลดังกล่าวสวนทางกับสถิติของประเทศเกิดใหม่ (กำลังพัฒนา) ทั่วโลก ที่เคยมีผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือได้ (แต่อาจจะใช้การไม่ได้กับประเทศไทย) ระบุว่า ก่อนการเลือกตั้ง หุ้นจะลงเป็นประจำ

คำอธิบายระบุไว้ว่า เพราะนักลงทุนรายใหญ่ ต้องการลดความเสี่ยงในการลงทุน เนื่องจากไม่ทราบว่ารัฐบาลชุดใหม่มาจะมีความคิด แนวทางด้านเศรษฐกิจอย่างไร มีความเสี่ยงทางนโยบาย

ข้อสรุปข้างต้น มีส่วนไม่ถูกต้องในกรณีของไทย เพราะรู้กันดีว่า หลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้ คสช.และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะยังเป็นรัฏฐาธิปัตย์เหนือรัฐบาลต่อไปอีกเกือบ 20 ปี รัฐบาลใหม่ก็คงทำได้เฉพาะเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งเท่านั้นเอง ไม่สามารถแหกกรอบที่วางเอาไว้ได้

การทะยานของราคาหุ้นวานนี้ จากข่าวเรื่องประกาศเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องของความรู้สึกและความเชื่อ-การคาดเดาล้วน ๆ ของนักลงทุนที่อยากทันสมัยเลือกตั้งกับเขาด้วย

Back to top button