กฎเหล็กนอกรัฐธรรมนูญ
เพื่อนฝูงหลายคน ส่งข้อมูลข่าวที่ลงใน นสพ.ข่าวสด เกี่ยวกับคำปราศรัยที่สนามกีฬา อบจ.นครพนม เมื่อวันที่ 20 มกราคม ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีคมนาคมยุคพรรคไทยรักไทยเป็นแกนรัฐบาลเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แล้วปัจจุบันย้ายขั้วมานั่งเก้าอี้ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมเสียงวิจารณ์มากมาย
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
เพื่อนฝูงหลายคน ส่งข้อมูลข่าวที่ลงใน นสพ.ข่าวสด เกี่ยวกับคำปราศรัยที่สนามกีฬา อบจ.นครพนม เมื่อวันที่ 20 มกราคม ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีคมนาคมยุคพรรคไทยรักไทยเป็นแกนรัฐบาลเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แล้วปัจจุบันย้ายขั้วมานั่งเก้าอี้ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมเสียงวิจารณ์มากมาย
นายสุริยะ ระบุ (หาก นสพ.ดังกล่าวไม่รายงานผิดพลาด) ว่า ถ้าไม่มีพรรคพลังประชารัฐมาให้เป็นทางเลือกกับพี่น้องประชาชน ก็เป็นการเป็นที่จะย้อนกลับไปให้ทหารออกมาปฏิวัติอีกแน่นอน ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่ไม่ให้ทหารออกมาปฏิวัติก็คือประชาชนต้องเลือกพรรคพลังประชารัฐ เป็นทางเลือกก้าวข้ามความขัดแย้ง เมื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทำให้ประเทศกลับมาสงบได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี 3 ปีแรก ที่ประเทศยังไม่สงบต่างประเทศก็ยังไม่มา จากนั้นเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมา ถ้าพลังประชารัฐได้รับเลือกจากพี่น้องประชาชนเป็นรัฐบาล จะสามารถแก้จนได้แน่นอน
ในบรรดาเสียงวิจารณ์ทั้งมวลนี้ มีคำชี้แนะด้วยความปรารถนาดี (หากไม่ถูกตีความหมายเป็นอย่างอื่น) คือ คำพูดของนายสุริยะ ทำให้นึกขึ้นได้ว่า รัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาทุกฉบับ หลงลืมระบุกฎเหล็กทางการเมืองที่มีทหารในกองทัพเป็นพลังขับเคลื่อนหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ไม่ว่ายุคสมัยไหน
คำชี้แนะของเขาในลักษณะจิ๊กโก๋ปากซอยคือ ให้เขียนลงไปในรัฐธรรมนูญให้ชัดไปเลย (จะแยกเป็นหมวดต่างหากก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลย) คือ 1) ทหารถูกเสมอ 2) หากมีการกระทำใดให้เกิดข้อสงสัยใดตามรัฐธรรมนูญ ให้กลับไปถามข้อ 1)
เพียงแค่ 2 ข้อนี้เท่านั้นแหละ ทุกอย่างก็เรียบร้อย ไม่ต้องถกกันหรือสร้างวาทกรรมให้เสียเวลา และเปลืองสมอง
เหตุผลของเขานั้น มีตั้งแต่ง่ายแบบกำปั้นทุบดิน ทำนองว่า สีที่ทนทาน (ยิ่งกว่า สีทนได้ ในโฆษณาโทรทัศน์) ที่สุดของวงการเมืองไทย คือ สีเขียวขี้ม้า
ส่วนเหตุผลยืดยาวที่ประกอบคำชี้แนะคือ ประวัติศาสตร์ไทยนับแต่พระพุทธเจ้าหลวงถูกสถานการณ์บีบคั้นจากนโยบายเรือปืนบังคับเปิดประเทศของมหาอำนาจตะวันตกรอบด้าน ต้องยกเลิกกฎหมายตราสามดวง ยกเลิกจตุสดมภ์ ยอมรับการปรับประเทศให้ทันสมัยตามแนวตะวันตก ยอมเสียดินแดนบางส่วน จนตั้งตัวไม่ติด
สีเขียวของทหารประจำการ กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของสังคมไทย เพราะก่อนหน้านั้นรัฐสยามในยุคโบราณไม่เคยมีกองทัพประจำการ มีแต่ทหารเกณฑ์แรงงานจากเลก-ไพร่-ทาสหรือบางส่วนที่เคยเป็นชุมโจร
ไม่มีใครรื้อค้นดูว่า เหตุใดชุดเสื้อทหารบกประจำการของกองทัพไทยถึงสีเขียว (ในขณะที่ทหารอากาศสีน้ำเงิน และทหารเรือสีกากี) ทั้งที่ก่อนหน้านั้น (ดูจากหลักฐานที่ปรากฏในหนังไทยหรือละครโทรทัศน์ไทย) ทหารไทยในยุคธงช้าง ล้วนสวมเสื้อแดงเขียนยันต์รอบตัวกันทั้งนั้น เอาเป็นว่า สีเขียวขี้ม้าคือสัญลักษณ์ของทหาร หรือกองทัพ
เขากล่าวว่า สิ่งที่เหนือพระราชปฏิภาณของพระพุทธเจ้าหลวงก็คือ ทหารสีเขียวที่พระองค์สร้างขึ้นมานี้แหละ (โดยที่พระองค์ก็ทรงพระทัยกว้างถึงขนาดไม่ยอมเอาวิธีการแบบรัสเซียที่แบ่งทหารออกเป็นทหารเจ้า (ชั้นสัญญาบัตร) กับ ทหารไพร่ (ชั้นประทวน) มาใช้เป็นมาตรฐานในกองทัพ) ในเวลาต่อมา จะกลายเป็นกลจักรสำคัญของขบวนการ “ล้มเจ้า” อย่างที่เรารู้ ๆ กัน นับแต่ ร.ศ. 130 หรือ ร.ศ. 150 มาจนถึง 24 มิถุนายน 2475
ประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ระบุชัดเจนว่า รัฐใดที่มีกองทัพประจำการ รัฐนั้นจะบังเกิด
ชนชั้นทหารเสมอ ไม่อาจเลี่ยงพ้น
ชนชั้นทหาร เป็นชนชั้นประหลาดที่ไม่ได้เกิดจากเทพประทาน หรือประกาศิตสวรรค์ แต่เริ่มต้นจากรัฐโรมัน คนสร้างชนชั้นทหารคือแม่ทัพโรมัน ไกอุส มาริอุส กงสุลนักรบของสาธารณรัฐโรมัน ยุคกลางค่อนมาทางปลาย ก่อนหน้ายุคของเขา รวมทั้งยุคของอเล็กซานเดอร์มหาราช ทหารส่วนใหญ่ของกองทัพทุกรัฐ เป็นพวกถูกเกณฑ์ หรือทหารรับจ้าง
ในช่วงนั้น สาธารณรัฐโรมันที่เพิ่งเติบใหญ่ มีแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำทางสังคมและชาติพันธุ์สูงยิ่ง ซุลลา และไกอุส มาริอุส มองเห็นล่วงหน้าว่า จะต้องเกิดสงครามใหญ่ระหว่างชาวละติน กับชาติพันธุ์อื่น และบรรดาชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง ต้องมีกองทัพที่เตรียมความพร้อม จึงจัดการปฏิรูปกองทัพครั้งใหญ่ เรียกว่า การปฏิรูปมาริยัน อันลือลั่น
การปฏิรูปครั้งนั้น กะเกณฑ์เอาชายหนุ่มของพวกไร้ที่ดิน มาเป็นทหารประจำการที่ปลอดจากการทำการผลิตในไร่นา จับปลา ทำหัตถกรรม ใช้แรงงาน หรือเลี้ยงสัตว์ มาฝึกฝนเพื่อให้มีความชำนาญเฉพาะทาง เป็นทหารม้า ทหารราบ ทหารยิงธนู ทหารช่าง หรือทหารเรือ
ผลพวงการปฏิรูปเพื่อสร้างกองทหารประจำการครั้งนั้น ทำให้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์และการฆ่าคนโดยคน เปลี่ยนโฉมไปพร้อมกัน คือ ชาวละตินกลายเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในโรมัน หลังจากเกิดสงครามกลางเมืองอิตาเลียนครั้งแรก (สงครามสังคม)
ชนชั้นทหารที่เกิดขึ้นมา แปรสภาพให้ชายไร้ที่ดินที่อยู่ “วงนอก” ของอำนาจรัฐ กลายเป็น “คนใน” ที่ยึดพื้นที่แสดงบทบาทในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำในสังคมทางลัด โดยไม่ต้องอาศัยชาติกำเนิด เปลี่ยนจากชนชั้นสวะเป็นผู้ทรงเกียรติที่สวมยูนิฟอร์มน่าเกรงขาม
ชะตากรรมอันน่าสลดของไกอุส มาริอุส แห่งยุคโรมัน ไม่ได้สั่นคลอนฐานะอันยิ่งใหญ่เหนือรัฐโดยพฤตินัยของทหารมาจนถึงปัจจุบันและอนาคตแม้แต่น้อยนิด
ผู้ชี้แนะจึงสรุปว่า ยิ่งเทคโนโลยีการฆ่าและทำลายล้างพัฒนามากเท่าใด ทหารยิ่งจำเป็นต่อสังคมมนุษย์มากเพียงนั้น ทุกการกระทำของทหาร ไม่ควรถูกตั้งคำถามในความสะอาดบริสุทธิ์ เว้นเสียแต่รัฐใด จะไม่ต้องการทหารประจำการอีกต่อไป ซึ่งไม่เคยมี แม้กระทั่งที่วาติกัน
ดังนั้นการระบุโดยไม่ต้องเหนียมอายเลยลงในรัฐธรรมนูญว่า ทหารถูกเสมอ จึงเป็นสัจธรรมยิ่งกว่าหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรเลย มิหนำซ้ำยังจะทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนน้อยลงไปด้วย
เขาชี้แนะต่อไปอีกว่า หากเราจะยอมรับกันโดยดุษณีว่า การเมืองไทยขาดทหารไม่ได้ เพราะทหารคือส่วนหนึ่งของจารีตวัฒนธรรมไทยที่หยั่งรากลึกกว่าสถาบันสังคมอื่นใด เวลายึดอำนาจจะได้ไม่ต้องพูดด้วยภาษาอีแอบ และนิรโทษกรรมให้ตนเอง
ผมถามไปว่า ไอเดียเลอเลิศนี้ จะเป็นไปได้ก็ต้องหมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ใช้อยู่ ก็คงต้องถูกฉีกทิ้งไปก่อน เพื่อเขียนกันขึ้นมาใหม่ใช่หรือไม่
เขาบอกว่า ก็ต้องอย่างนั้น
ฟังแล้วสะอึก ไม่กล้าบอกผู้ชี้แนะคนนั้นว่า เห็นด้วย หรือเห็นต่าง
ใครเห็นด้วย ยกมือขึ้นเองละกัน