วัดใจ “ตู่” ห่วงฐานเสียงหรืออนาคตชาติ ??

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 ม.ค.) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งโต๊ะแถลงมติที่ประชุมฯ เห็นชอบยุติให้บริการ 2G


สำนักข่าวรัชดา

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 ม.ค.) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตั้งโต๊ะแถลงมติที่ประชุมฯ เห็นชอบยุติให้บริการ 2G

ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ประเทศไทยกำลังพยายามทิ้งความล้าสมัยไว้เบื้องหลัง และเตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวมากขึ้น

ขณะที่อีกหนึ่งกระแส ซึ่งกำลังเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงในแวดวงสื่อสาร โทรคมนาคม แต่ยังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงอุตสาหกรรม เกษตรกรรม กระทั่งสาธารณชน คนธรรมดาทั่วไป ในเวลานี้ด้วย

นั่นก็คือ การประมูล 5G ที่ถูกกล่าวขานว่า จะสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญต่อเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ และความเป็นไปของประเทศชาติหลังจากนี้

แน่นอน การปิดฉาก 2G ภายในวันที่ 31 ต.ค. 2562 กับการจัดประมูล 5G ตามกรอบคือ ภายในเดือน พ.ค.ปีนี้ ถือเป็นเรื่องเดียวกัน ในลักษณะที่เรียกได้ว่า เป็นช็อตต่อเนื่อง!

คำถามบังเกิดขึ้นว่า การประมูล 5G จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะได้รับความสนใจจากผู้ให้บริการ คือ โอเปอเรเตอร์เดิม 3 รายหลัก มากน้อยเพียงใด

โดยเฉพาะ TRUE ซึ่งขณะนี้ ถือเป็นเพียงเจ้าเดียวที่ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนต่อการประมูล

ซึ่งไฮไลต์สำคัญอยู่ตรงที่ว่า ความชัดเจนของทรูอาจจะหมายถึงความไม่ชัดเจน กระทั่งความไม่แน่นอนของการก้าวเข้าสู่สังคม 5G ของประเทศไทยได้อย่างทันท่วงที

ด้วยเนื้อหาใจความตามหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็คงไม่ต้องสืบสาว หรือตีความกันให้ยุ่งยาก และเสียเวลาอีกแล้ว

เพราะ “ทรู คอร์ปฯ” ออกตัวเด็ดเดี่ยว ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหนว่า บริษัทไม่มีแผนเข้าร่วมประมูล เนื่องจากอยู่ระหว่างรอผลพิจารณายืดเวลาจ่ายค่าใบอนุญาต 900 MHz ซึ่งต้องชำระงวดสุดท้ายในปี 2563 กว่า 6 หมื่นล้านบาท

โดยการพิจารณาในส่วนนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงิน (Term of Payment) เกิดขึ้นจริง นั่นเท่ากับเป็นการไม่ปฏิบัติตาม “ทีโออาร์” ซึ่งมีรัฐเป็นผู้ว่าจ้าง และเอกชน กรณีนี้คือ TRUE กับ ADVANC เป็นผู้รับจ้าง

แน่นอนเรื่องระดับคอขาดบาดตาย อย่างการเปลี่ยนเงื่อนไขในสัญญาจ้างของรัฐ อย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องไปพึ่งใบบุญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เรื่องนี้ทางผู้ประกอบการเคยยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้พิจารณา และทางคสช.ก็ได้สอบถาม จนได้รับความเห็นจาก กสทช.กลับไปเรียบร้อยหลายเดือนแล้ว

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า “บิ๊กตู่” ยังใจเย็นเฉียบ! ไม่เทกแอ็กชั่นออกประกาศิตอย่างไรทั้งสิ้น จนค่ายมือถือต่างรู้สึกหวั่นใจไปตาม ๆ กัน

สรุปคือ ทรูไม่ได้ตัดเยื่อใยจนสะบั้นซะทีเดียว แต่สร้างเงื่อนไข (ซึ่งอาจเป็นความจำเป็นทางการเงินจริง ๆ) ขึ้นมาเพื่อต่อรองความอยู่รอดของตัวเองเพียงเท่านั้น

คำถามถัดมาคือ หากไม่มีการประมูล 5G เกิดขึ้นตามไทม์ไลน์ที่เลขาฐากรตั้งเป้าไว้ หรือมีการประมูลแต่ไม่มีใครมาประมูล แล้วจะเป็นอย่างไร ?

ก็คงหนีไม่พ้นคำตอบที่ว่า ประเทศไทยจะเสียโอกาสในการเข้าสู่พัฒนาการแบบดิจิทัลอย่างแท้จริง ได้ทันชาวบ้านเขา

แต่ว่าไป ก็คงไม่กระไรนัก เพราะคนไทยคุ้นเคยกับคำว่าเสียโอกาส มาตั้งแต่สมัยประมูล 3G และ 4G ซะแล้ว ทว่า!ผลกระทบครั้งนี้ มันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่เพียงการเสียโอกาสนี่สิ

เพราะอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ยังรอการแก้ไข เสมือนหนึ่งรอพึ่งใบบุญบิ๊กตู่อยู่ด้วยกราย ๆ คือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันยังคงกระเสือกกระสน หาทางเอาชีวิตรอดกันอยู่

ความหวังอยู่ที่หนึ่งในหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz จากผู้ประกอบการทีวีฯ เพื่อนำมาให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไปพัฒนาระบบ 5G กำหนดให้ต้องมีการนำเงินที่ได้จากการประมูลไปเยียวยาช่องต่าง ๆ ด้วย

เช่นนั้น จึงหมายถึงว่าหากการประมูล 5G ไม่เกิด หรือเกิดแล้วไม่สำเร็จ บรรดาเจ้าของช่องทีวีคงน้ำตาเช็ดหัวเข่าไปตามกัน อย่างปฏิเสธความผิดหวังไม่ได้

ดูเหมือนเงื่อนไข 2 เรื่องหลักขณะนี้ คือ “5G” และ “ทีวีดิจิทัล” ถูกนำมาผูกรวมจนพันตูกันอย่างสมบูรณ์แบบ และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ ก็ถูกจับมาเป็นตัวประกันอีกครั้งหนึ่งซะแล้ว

เรื่องนี้คงไม่หมู และคงถือเป็น “เส้นทางวิบากสู่ 5G” จริง ๆ เพราะเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องทำเพื่อแก้ปม หนีไม่พ้น “บิ๊กตู่” ต้องใช้อำนาจพิเศษตาม “มาตรา 44” ลงนามออกคำสั่งให้มีการเปลี่ยน Term of Payment ของคลื่น 900 MHz

นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามต่อไปว่า ผู้ถืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาซึ่งอาจมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ อย่างชายชาติทหารที่ชื่อ “ประยุทธ์” จะยอมถูกสังคมบางส่วนตราหน้าว่า

ใช้อำนาจพิเศษทิ้งทวนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่อีกหรือไม่ ??

จริงอยู่การประคับประคองกระแสความนิยม หรือฐานเสียง ในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้ง ปี 2562 อาจไม่ใช่ประเด็นที่ “บิ๊กตู่” ให้ความสำคัญนัก เพราะก็ยืนยันมาโดยตลอดว่า ยังไม่ได้รับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ให้กับพรรคการเมืองใด

แต่อย่างที่รู้กัน เมื่อไหร่ที่มีการพูดถึง “พลังประชารัฐ” หรือ “พล.อ.ประยุทธ์” ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงอีกฝ่ายหนึ่งด้วยทุกทีไป

ส่วนกรณีที่ว่า หากพลาดโอกาส 5G ไปแล้วเราต้องเสียอะไรบ้าง ก็คงมีหลายคำตอบ ยากเกินกว่าจะสาธยายหมด

แต่ที่แน่ ๆ หนึ่งเรื่องที่จะเกิดขึ้นและ/หรือสำเร็จได้ยาก หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์เชิดหน้าชูตาของรัฐบาลชุดนี้

เพราะด้วยคาแรกเตอร์ และเหตุผลที่ต้องมี EEC กำหนดให้ระบบ 5G เป็นองค์ประกอบและปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่า ผู้เข้ามาลงทุนจะต้องไม่มีข้อเสียเปรียบคู่แข่งขันที่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมอื่น

ประเทศไทยวันนี้ มีทั้งผู้คนที่รู้สึกสะอิดสะเอียนกับการใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ของพล.อ.ประยุทธ์ ผู้คนที่สนับสนุน และผู้คนที่ไม่รู้สึกยินดียินร้าย

โจทย์ข้อใหญ่ของกสทช. และบรรดาโอเปอเรเตอร์ทั้งหลายคงอยู่ที่ว่า จะสามารถฉายภาพความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการที่ต้องก้าวเข้าสู่ยุค 5G ให้กลุ่มคนที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการใช้อำนาจพิเศษได้อย่างไร

แต่ไม่แน่ว่า “บิ๊กตู่” อาจสูญเสียความนิยมจากการถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์แก่คนบางกลุ่มไปบ้าง แต่อาจได้รับแรงหนุนจากผู้ประกอบการทีวีฯ ซึ่งถือเป็นกระบอกเสียงใหญ่ หากตัดสินใจใช้ ม.44 ยืดเวลาชำระเงินให้ผู้ชนะประมูล 4G จนนำไปสู่ความสำเร็จของการประมูล 5G และส่งอานิสงส์ต่อไปถึงช่องต่าง ๆ ได้

บทเรียนหลายครั้งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเล่นบนความจำเป็นของผู้อื่น อาจหมายถึงการสร้างอำนาจต่อรองที่ดีที่สุด จนนำไปสู่เป้าประสงค์ที่แท้จริงได้

อิ อิ อิ

Back to top button