รัฐประหารออนไลน์ที่เวเนซุเอลา

เอ่ยชื่อประเทศเวเนซุเอลา คนจะนึกถึง 3 เรื่องคือ ขบวนการส่งสาวงามขึ้นเวทีประกวดอย่างเอาเป็นเอาตายระดับโลก น้ำมันดิบสำรองมากเป็นอันดับสองในโอเปก และเศรษฐกิจล่มสลายจาก “คำสาปชาติพึ่งทรัพยากรอย่างเดียว” หรือ Dutch's disease


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล                              

เอ่ยชื่อประเทศเวเนซุเอลา คนจะนึกถึง 3 เรื่องคือ ขบวนการส่งสาวงามขึ้นเวทีประกวดอย่างเอาเป็นเอาตายระดับโลก น้ำมันดิบสำรองมากเป็นอันดับสองในโอเปก และเศรษฐกิจล่มสลายจาก “คำสาปชาติพึ่งทรัพยากรอย่างเดียว” หรือ Dutch’s disease

สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องประหลาดเกือบจะเป็นเรื่องที่สี่ ที่ทำให้คนจดจำต่อไปอีก นั่นคือจู่ ๆ ประเทศนี้ก็ดันมีประธานาธิบดี 2 คนพร้อมกัน

คนแรกนายนิโคลัส มาดูโร ทายาททางการเมืองของ อูโก ชาเวซ มีต่างชาติคือจีน รัสเซีย อินเดีย และคิวบาหนุนหลัง

คนหลังคือ อภิสิทธิ์ เวชชา…ขออภัย..นายฮวน กุยโด หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ที่ไม่ยอมลงสมัครรับเลือกตั้งกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งประกาศทางทวิตเตอร์ว่าตั้งตนเองดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาล มีสหรัฐฯ หนุนหลังชนิดอุ้มสม และมีสหภาพยุโรปคอยเอาใจช่วยห่าง ๆ

สหรัฐฯ ออกนอกหน้าชนิดภาพยนตร์ทางโทรทัศน์อย่าง มาดาม เซเคร็ททารี ได้อาย ถึงขั้นผลักดันให้มีการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติฉุกเฉินขึ้น โดยนายไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศในที่ประชุมว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศจะต้องเลือกระหว่างพลังของเสรีภาพ กับรัฐมาเฟียนอกกฎหมายของมาดูโร ที่ทำให้เศรษฐกิจเวเนซุเอลาล่ม ประชาชนราว 2 ล้านคน หนีตายจากสถานการณ์ขาดแคลนอาหารและยาออกนอกประเทศ

น่าเสียดายที่จีนและรัสเซียไม่ยอมเล่นด้วยจึงเป็นอัน “ว่าว” ไป

ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศยอมรับกุยโดในฐานะประธานาธิบดีรักษาการของเวเนซุเอลาเมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม ตามมาด้วยชาติในลาตินอเมริกา อาทิ บราซิล โคลอมเบีย และอาร์เจนตินา ต่างออกมาสนับสนุนกุยโดอย่างรวดเร็ว

นายพอมเพโอเรียกร้องให้นานาชาติยอมรับกุยโดขึ้นเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลของเวเนซุเอลาเช่นเดียวกับอเมริกา รวมทั้งยุติการทำธุรกรรมการเงินทั้งหมดกับรัฐบาลมาดูโร ที่ปัจจุบันมีปัญหาในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งที่ประเทศร่ำรวยน้ำมัน

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังประณามรัสเซียและจีน ว่า ที่หนุนหลังมาดูโรเพราะต้องการถอนทุนคืนจากโครงการลงทุนที่ไม่พิจารณาให้ดีเสียก่อน และความช่วยเหลือตลอดหลายปีที่ผ่านมารวมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ พร้อมกันนั้นก็ส่งสัญญาณว่า พร้อมเพิ่มมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจเพื่อให้มาดูโรลงจากอำนาจ ทว่า พอมเพโอปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการ

ส่วนสหภาพยุโรปก็อ้อม ๆ แอ้ม ๆ ว่าพร้อมสนับสนุน และส่งสัญญาณจะรับรอง ฮวน กุยโด ในตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาลเวเนซุเอลา หากมาดูโรไม่สามารถจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรม เสรี และโปร่งใสภายใน 8 วัน

รัสเซียก็ไม่ธรรมดา ประกาศเดินหน้ากล่าวหาว่าสหรัฐฯ พยายามทำรัฐประหาร และโจมตียุโรปที่ขีดเส้นตายให้มาดูโรจัดการเลือกตั้ง

นายวาสสิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ตอกกลับว่า อเมริกาแทรกแซงกิจการภายใน และต้องการทำรัฐประหารในเวเนซุเอลา รวมทั้งยังคงปฏิบัติต่อลาตินอเมริกาเสมือนเป็น “สนามหลังบ้าน” ที่อยากทำอะไรก็ได้ พร้อมสำทับว่า ควรหลีกเลี่ยงการแทรกแซงทางทหารในเวเนซุเอลาโดยเด็ดขาด

เหล่านักการทูตระบุว่า แม้อเมริกาสามารถจัดให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ เปิดหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเวเนซุเอลา แต่การดำเนินการของคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อจัดการกับวิกฤตนี้มีแนวโน้มถูกคัดค้านจากรัสเซียและจีน

สำหรับสหภาพยุโรป แม้มหาอำนาจในยุโรป ได้แก่ สเปน อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ออกมาขีดเส้นตายเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า จะยอมรับกุยโด เว้นแต่มาดูโรสามารถจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรม เสรี และโปร่งใสภายใน 8 วัน แต่สมาชิกทั้ง 28 ประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เช่น พรรคไซซิรา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของกรีซ ประกาศสนับสนุนมาดูโรเต็มที่

มาดูโรได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยเมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ถูกประท้วงจากฝ่ายค้าน ขณะที่อเมริกา รัฐบาลฝ่ายขวาในลาตินอเมริกา อียู และยูเอ็น ประณามว่าเป็นการโกง เนื่องจากกีดกันไม่ให้ผู้นำอาวุโสของพรรคฝ่ายค้านหลายคนลงเลือกตั้ง กระนั้น มาดูโรยังคงได้รับความจงรักภักดีจากกองทัพทรงอำนาจ

หลังจากการประกาศตั้งตนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลในสัปดาห์ที่แล้ว กุยโดพยายามดึงดูดการสนับสนุนจากกองทัพโดยเสนอนิรโทษกรรมผู้ที่ไม่ยอมรับมาดูโร รวมทั้งยังเสนอนิรโทษกรรมให้มาดูโรด้วย ทว่า ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง มีทหารเพียงคนเดียวที่ยอมเล่นด้วยเมื่อวันเสาร์ คือพันเอก โฆเซ หลุยส์ ซิลวา ทูตทหารของเวเนซุเอลาประจำวอชิงตัน ประกาศตัดขาดจากมาดูโรและเรียกร้องทหารคนอื่น ๆ ให้ทำตามตน แต่ไม่เป็นผล

การประกาศตนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลของกุยโด นำเวเนซุเอลาเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยมีคำถามตามมาว่า ความเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านที่บริหารรัฐบาลคู่ขนานอยู่ อาจได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ไม่มีอำนาจควบคุมหน่วยงานใด ๆ ของรัฐเลย จะมีความชอบธรรมแค่ไหน

ด้านมาดูโรที่ติดตรึงกับดักประชานิยมจนพาชาติล่มสลาย ได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว หลังสหรัฐฯ ประกาศรับรองนายฮวน กุยโด ผู้นำฝ่ายค้านของเวเนซุเอลาที่ประกาศตัวเป็นผู้นำรักษาการ แทนรัฐบาลนายมาดูโร จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

สถานการณ์ล่าสุด แม้ว่าการรัฐประหารทางทวิตเตอร์ที่ชาติตะวันตกสนับสนุนล้มเหลวแล้ว เพราะความเหนียวแน่นของกลุ่มประเทศองค์การแห่งเซี่ยงไฮ้ มีรัสเซีย จีน อินเดีย อิหร่าน คิวบาช่วยเอาไว้ สามารถทำให้ประเทศเหล่านี้ส่งทหารเข้าไปช่วยรัฐบาลเวเนซุเอลาอยู่ก่อนแล้วได้ 3 การรัฐประหารในเวเนซุเอลา ก่อขึ้นโดยต่างชาติ ทางรัสเซียได้ส่งข่าวให้กับรัฐบาลเวเนซุเอลาเตรียมพร้อมอยู่

การที่สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ EU รับรองผู้ที่ไม่ใช่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้ง ยิ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่องค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ในการช่วยเหลือเวเนซุเอลาเต็มที่ ในขณะที่กองทัพเวเนซุเอลาประกาศสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่และประธานาธิบดีตัวปลอมที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นหายไปแล้ว

จะยิ่งทำให้ความชอบธรรมหมดไป

เพียงแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอนาคตของมาดูโรจะยั่งยืนต่อไปอีก เพราะสถานการณ์ภายในประเทศก็วิกฤตถึงขีดสุด หน่วยงานรัฐแทบจะไม่มีเงินมาจ่ายเงินเดือนคนงาน ถึงขั้นต้องให้หยุดเวลาทำงานลง

การล่มสลายทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เวเนซุเอลามีคนแค่ 2 ชนชั้น ก็คือคนรวยมาก และคนจนที่ไม่มีอันจะกิน เปิดทางให้กับหายนะไม่จบสิ้น สถานการณ์เน่าเฟะอย่างนี้ แม้ความพยายามโค่นล้มอาจไม่สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

Back to top button