หุ้นกับวิลเลียม เจมส์
ดัชนี SET เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พยายามฝ่าแนวต้านปิดเหนือ 1,630 จุด แต่ผ่านไม่ได้ เลยต้องถอยร่นกลับมาแกว่งตัวไซด์เวย์แถวใต้ระดับเหนือ 1,620 จุด คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ จะไซด์เวย์อัพ หรือ ไซด์เวย์ดาวน์
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ดัชนี SET เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พยายามฝ่าแนวต้านปิดเหนือ 1,630 จุด แต่ผ่านไม่ได้ เลยต้องถอยร่นกลับมาแกว่งตัวไซด์เวย์แถวใต้ระดับเหนือ 1,620 จุด คำถามที่หลายคนอยากรู้คือ จะไซด์เวย์อัพ หรือ ไซด์เวย์ดาวน์
สถานการณ์อย่างนี้ ตั้งบนความไม่แน่นอน ความหวัง ผสมความคาดหวังปนเปคละเคล้ากัน
พวกมองโลกสวย จะมีความหวังมากกว่าความคาดหวัง บางคนถึงขนาดพยายามสรุปเอาเองว่า ความหวังเป็นเสมือนกับลมหายใจที่สูดเข้าออกอยู่ตลอดเวลา หากขาดลมหายใจชีวิตก็สิ้นสุดเมื่อนั้น โดยถือหลักเดียวกับนักบุญ อไควนัส ที่บอกว่า ความหวังคือสิ่งที่ดีในอนาคต ยากแต่เป็นไปได้ด้วยความส่งเสริมจากศรัทธาของสรวงสวรรค์ หรือคนรอบข้างที่ปรารถนาดี
ส่วนความคาดหวัง มักจะเกิดขึ้นมาท่ามกลางข้อสงสัยในความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายรอบตัว มีรากเหง้าจากความเชื่อ ที่หมกมุ่นว่าอนาคตต้องดีกว่าปัจจุบัน แม้ว่าจะจริงหรือไม่ หากความคาดหวังไม่สมจริงความผิดหวังจะเป็นผลพวงที่ตามมา แต่ในอีกมุม หากดีเกินคาด ความประหลาดใจจะเกิดขึ้น
ความคาดหวังมีขึ้นในทุกสถานการณ์ ขึ้นกับระดับของความเชื่อ
ที่แน่นอนคือทั้งความหวัง และคาดหวัง ไม่จำเป็นต้องมีผลลัพธ์ตามนั้น แต่เป็นปฏิกิริยาของมนุษย์ต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต
นักลงทุนที่มีเพื่อนสนิทชื่อคุณตลาด จึงต้องควบคุมและบริหารความหวังกับความคาดหวังให้มั่น อย่าได้หลงทาง เหตุเพราะล้วนมาจากความเชื่อ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
หากจำแนกดูแล้ว เหตุปัจจัยที่ขับเคลื่อนดัชนี SET ขึ้นมายืนเหนือ 1,620 จุด รอบล่าสุด มาจากความเชื่อบางประการต่อไปนี้ 1) การเลือกตั้งทั่วไปที่รอคอยเริ่มชัดเจน 2) สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน มีแนวโน้มสดใส มีข้อยุติบางส่วน 3) ราคาหุ้นต่ำใกล้เคียงพื้นฐาน 4) บาทแข็งเพราะฟันด์โฟลว์ไหลเข้า
ความเชื่อดังกล่าว แฝงด้วยความไม่แน่นอนทั้งสิ้น ดังนั้น ความหวังและความคาดหวังที่กลายมาเป็นความเชื่อเชิงบวกยามนี้ จึงสอดรับกับปรัชญาเรื่อง “เจตจำนงที่จะเชื่อ” ของนักปรัชญาอเมริกัน วิลเลียม เจมส์ ต้นกำเนิดสำนัก “Pragmatism” นั่นเอง
เจมส์ ระบุว่า การยอมรับความเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักฐานความจริงก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อทางศาสนา แต่อ้างถึงเหตุผลของความศรัทธา เป้าหมายคือการปกป้องสิทธิ และตรรกะโดยไม่ถูกบีบบังคับ
แนวคิดของเจมส์ แยกแยะความเชื่อสัมบูรณ์ (อาศัยเหตุผลมากกว่าข้อเท็จจริง) ออกจากวิธีคิดพึ่งพาประจักษ์พยาน โดยย้ำว่า อย่างแรกที่อาศัยสัญชาตญาณหรือฌาน ไม่จำเป็นต้องเป็นความเชื่อที่ไร้สาระเสมอไป และอย่างหลังอาจจะไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับความเชื่อและข้อสรุปของพวกเขามากกว่า
เจมส์ ระบุว่า ความถูกต้องและผิดพลาดในความเชื่อ มาจากระดับคุณภาพของความเชื่อเป็นสำคัญ แต่คุณภาพจะเกิดขึ้นมาได้ต้องผ่านประสบการณ์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เช่นนั้น วิชาสถิติก็คงไร้คุณค่าในการเรียนและนำไปใช้ เพื่อสร้างผลลัพธ์สุดท้าย
เพียงแต่เจมส์ก็ย้ำเตือนว่า “ความตั้งใจที่จะเชื่อ” ต่างจาก “สิทธิ์ที่จะเชื่อ” และ “หน้าที่ที่จะเชื่อ” แล้วยังมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างการแสวงหาความจริง (รวมทั้งการหลีกเลี่ยงความเท็จ) ที่ทำให้บางครั้ง การระงับความเชื่อมีความจำเป็นในบางครั้ง จนกว่าเราจะมีหลักฐานเพียงพอ จนกว่าจะยืนยันได้ว่าไม่มีการหลีกเลี่ยงความเท็จโดยเจตนา
ข้อเสนอเจตจำนงที่จะเชื่อของเจมส์ ได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่า ใช้การได้เฉพาะเรื่องหรือประเด็นนามธรรมมากกว่าเรื่องหรือสาระที่เป็นรูปธรรม เพราะในโลกที่เป็นรูปธรรมนั้น ข้อเท็จจริงเชิงปริมาณมีความสำคัญมากกว่า และเป็นตัวชี้วัดความถนัดความถูกต้องของความเชื่อเชิงนามธรรม
ตัวอย่างเช่น ราคาหุ้น หรือดัชนีตลาดหุ้น ที่เคลื่อนไหวนั้น ไม่สามารถขึ้นหรือลงเกินขีดจำกัดของมูลค่าพื้นฐานของกิจการหรือของตลาด
เจตจำนงที่จะเชื่อ ของนักลงทุน จึงต้องการคำถามมากกว่าปกติเสมอ และไม่ควรคล้อยตามทุกเรื่อง จนกว่าจะมีประจักษ์พยานชัดเจนว่าความเชื่อนั้นเชื่อมโยงกับข้อเท็จจริง
อย่าลืมว่า แนวรับ หรือ แนวต้านนั้น เป็นแค่สถิติว่าด้วย “ความเป็นไปได้” เท่านั้น