SINGER เพิ่มทุน..เพื่ออยู่รอด.!?
บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER น่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนรายแรก ที่ประกาศเพิ่มทุนประเดิมปี 2562 แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ผู้ถือหุ้นเดิมจะใส่เงินลงไปหรือไม่ หรือถ้าใส่เงินลงไปแล้ว จะคุ้มค่าหรือเปล่า ?? ตรงนี้น่าคิด !!
สำนักข่าวรัชดา
บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER น่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนรายแรก ที่ประกาศเพิ่มทุนประเดิมปี 2562 แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ผู้ถือหุ้นเดิมจะใส่เงินลงไปหรือไม่ หรือถ้าใส่เงินลงไปแล้ว จะคุ้มค่าหรือเปล่า ?? ตรงนี้น่าคิด !!
จุดเริ่มต้น…เริ่มจากที่ประชุม SINGER เมื่อวันที่ 8 ม.ค. มีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 702 ล้านบาท จากเดิม 270 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 432 ล้านหุ้น แบ่งเป็น 216 ล้านหุ้น ขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) อัตราส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 4 หุ้นใหม่
ส่วนที่เหลือรองรับการออกวอร์แรนต์ครั้งที่ 1 (SINGER-W1) และครั้งที่ 2 (SINGER-W2)
สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตในการเรียกระดมทุนของ SINGER ครั้งนี้ เป้าหมายเพื่อนำไปล้างหนี้ เพราะเงินเกินกว่าครึ่ง หรือประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท จะถูกนำไปจ่ายหนี้เงินกู้ที่มีกำหนดครบชำระภายในไตรมาส 4 ปี 2562
นั่นเท่ากับว่า จะทำให้ปลดเปลื้องต้นทุนทางการเงินลงไป จากงบงวด 9 เดือนปี 2561 มีอัตราหนี้สินต่อผู้ถือหุ้น (D/E) เฉลี่ยประมาณ 2 เท่า เบื้องต้นน่าจะทำให้ SINGER ตัวเบาขึ้น !!
เรียกว่าเป็นการเพิ่มทุน…เพื่อความอยู่รอดจริง ๆ..!!
ส่วนเงินที่เหลืออีกประมาณ 800 ล้านบาท จะใช้รองรับการขยายธุรกิจ สินเชื่อรายย่อยแบบมีหลักประกัน สินเชื่อเพื่อสินค้าเชิงพาณิชย์ สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
แต่ความท้าทายของธุรกิจนี้อยู่ตรงที่ SINGER จะสู้เจ้าตลาด ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ได้หรือไม่..?
แม้ปัจจุบัน SINGER จะปล่อยสินเชื่อเหล่านี้อยู่แล้ว แต่..ต้องยอมรับว่า ภาพจำของ SINGER เป็นแบรนด์ฉายา “ราชาเงินผ่อน” ขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อหุงข้าว พัดลม ตู้เย็น แอร์ ในระบบเช่าซื้อ หรือเงินผ่อน อาจเป็นข้อจำกัดในการรุกธุรกิจนี้
ทำให้ที่ผ่านมา ธุรกิจปล่อยสินเชื่อของ SINGER ที่คาดหวังจะเป็นเรือธงของบริษัทไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จึงเกิดคำถามชวนให้ขบคิดว่า เงิน 800 ล้านบาท จะเอาไปต่อยอดธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน ??
ตรงนี้อาจทำให้ผู้ถือหุ้น SINGER บางส่วนเกิดอาการกล้า ๆ กลัว ๆ เกรงจะได้ไม่คุ้มเสีย !!
ขณะที่ราคาหุ้น SINGER ก็ไหลรูดลงมาเรื่อย ๆ รอบปี 2561 เคยอยู่ระดับที่ 9-10 บาท รูดมาอยู่ที่ 5.10 บาท (ณ วันที่ 30 ม.ค.)
หันไปดูผลประกอบการของ SINGER ถดถอยลงเรื่อย ๆ จากปี 2558 เคยทำกำไรสุทธิได้ 143 ล้านบาท จากรายได้รวม 3,394 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 4.22% ปี 2559 กำไรสุทธิลดลงมาอยู่ที่ 119 ล้านบาท จากรายได้รวม 2,545 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 4.71% ขณะที่ปี 2560 พลิกขาดทุนสุทธิ 9 ล้านบาท จากรายได้รวม 2,363 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิติดลบ 0.41%
ตอกย้ำด้วยงวด 9 เดือนแรกปี 2561 ที่ขาดทุนสุทธิถึง 98 ล้านบาท จากรายได้ 2,175 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิติดลบ 4.54%
ดังนั้นการประกาศเพิ่มทุนของ SINGER ครั้งนี้ อาจมองได้ว่า..เป็นการแก้ปัญหาชีวิตเฉพาะหน้าได้ช่วงสั้น ๆ ส่วนระยะยาวต้องว่ากันอีกที..!!
…อิ อิ อิ…