ทุกข์ของเจ้าหนี้หุ้นกู้ EARTH

น่าแปลก! ปัญหาเรื่องสินเชื่อและหุ้นกู้ของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ที่มีต่อธนาคารกรุงไทย กลายเป็นเรื่องการตอบโต้กันอย่างครึกโครม ระหว่างผู้กล่าวหา คือ ผู้บริหารธนาคารปัจจุบัน และผู้ถูกกล่าวหา คือ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

น่าแปลก! ปัญหาเรื่องสินเชื่อและหุ้นกู้ของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ที่มีต่อธนาคารกรุงไทย กลายเป็นเรื่องการตอบโต้กันอย่างครึกโครม ระหว่างผู้กล่าวหา คือ ผู้บริหารธนาคารปัจจุบัน และผู้ถูกกล่าวหา คือ นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่

แต่ไม่ยักจะมีเรื่องการเยียวยา “ผู้ถือหุ้นกู้เอิร์ธฯ” จำนวน 2,300 ราย มูลค่า 5,500 ล้านบาท ซึ่งออกโดยธนาคารกรุงไทย จำนวน 2 รุ่น โดยที่พวกเขาไม่มีส่วนกระทำความผิดด้วยเลยสักนิด แต่ต้องได้รับความเสียหายใน “บาป” ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

นักลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นพวกนักลงทุนรายใหญ่หรือที่เรียกว่า “ไฮ เน็ตเวิร์ธ” ที่พอจะรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นพวกผู้มีเงินออมหลังเกษียณ อันมีทั้งอดีตข้าราชการและภาคเอกชน ส่วนนี้เป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจที่สุด แต่ถึงจะเป็นพวก “ไฮ เน็ตเวิร์ธ” ก็เถอะ ก็ไม่ควรจะรับความเสียหายด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะหากยังมีแนวทางเยียวยาอื่น ๆ หลงเหลืออยู่บ้าง ไม่ใช่เอาแต่คิดจะสาดโคลนใส่กัน และมุ่งแต่การประหัตประหารกันสถานเดียว

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากหุ้นกู้หรือตั๋วบี/อี บมจ.เอิร์ธฯ รวมทั้งผู้ถือหุ้นสามัญของเอิร์ธฯ ก็ได้รวมตัวกันมาประมาณ 80 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อธนาคารกรุงไทย ให้ชี้แจงรวม 5 กรณี มาแล้วดังนี้

1.ให้ชี้แจงเหตุผลของธนาคารกรุงไทยในการระงับสินเชื่อบริษัทเอิร์ธฯ 2.ให้ชี้แจงการอายัดเงินในบัญชีของบริษัทในเดือน ธ.ค. 2561 ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจ และไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 300,000 บาทได้

3.ให้กรุงไทยหยุดกล่าวโทษในกรณี B/L (ใบรับส่งสินค้า) ปลอม เพราะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคู่ค้าและกระทบต่อการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่น

4.ให้กรุงไทยชี้แจงเรื่องไม่ออกหุ้นกู้จำนวน 5,000 ล้านบาทให้กับบริษัท ทั้งที่จะนำเงิน 3,500 ล้านบาท มาคืนให้กับธนาคารกรุงไทย

และ 5.ให้ชี้แจงนโยบายและจุดประสงค์ของกรุงไทยในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท เนื่องจากกรุงไทยเป็นผู้หยุดสินเชื่อทุกประเภทของบริษัท และทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

ครับ แพะก็มิสิทธิอันชอบธรรมที่จะร้อง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีรายงานคำตอบว่า ธนาคารชี้แจงกลับมาเป็นประการใดเช่นกัน นอกจากเรื่องจะห้ำหั่นกันเช่นที่ว่า

น่าแปลกอีกเหมือนกันนะครับ ที่ผลการสอบสวนออกมาถึงขั้นกล่าวโทษผู้มีส่วนกระทำผิดกันแล้ว แต่จนบัดนี้ ก็ยังไม่มีผลสอบยืนยันในเรื่องที่บริษัทเอิร์ธฯ ใช้ B/L ปลอมแต่ประการใด

ตอนกล่าวโทษ “โจ้” กิตติพันธ์ ทำรายงานปล่อยกู้ 4.5 พันล้านบาท เมื่อปี 2558 บมจ.เอิร์ธฯ ก็ยังเป็นลูกค้าปกติ ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด ผู้สอบบัญชีเอิร์ธฯ ก็ใช้บริการสำนักบัญชี “บิ๊กโฟร์” ระดับโลก และ “โจ้” ก็ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ

เป็นแต่เพียงผู้นำเสนออนุมัติเท่านั้น ใครเป็นผู้อนุมัติ ไม่เห็นจะมีการถามไถ่กันเลยว่าไปหลงข้อมูลดราม่าอะไร “โจ้”

ยิ่งน่าคิดหนักเข้าไปใหญ่ เมื่อภายหลังชุดวรภัค ธันยาวงษ์ หมดวาระลง และกิตติพันธ์ลาออกไปแล้ว กลับมีคณะผู้บริหารกรุงไทยอนุมัติออกหุ้นกู้ให้กับเอิร์ธฯ ถึง 2 ชุด รวมเป็นมูลค่า 5,500 ล้านบาท อีก ตรงนี้แหละที่ไประดมเงินนักลงทุนและผู้มีเงินออมเกษียณฯ เข้ามา

ถ้าจะบอกว่าดุลยพินิจ “โจ้” แย่ ที่เสนอรายงานดราม่ามาให้อนุมัติ ก็ต้องบอกว่าผู้บริหารที่อนุมัติหุ้นกู้ ก็แย่พอกัน เพราะใช้เกณฑ์พิจารณาเดียวกันเป๊ะเลย

คนอนุมัติหุ้นกู้นี่สิ น่าจะแย่ยิ่งเสียกว่าเพราะเป็น “ผู้อนุมัติ” ส่วน “โจ้” เป็น “ผู้นำเสนออนุมัติ” เท่านั้น

นี่จะเป็นรายการ “ขว้างงู ไม่พ้นคอ” หรือเปล่า ผมว่าไม่ใช่เรื่องที่ท่านประธานเอกนิติ จะออกหน้าสั่งลุยดำเนินคดี โดยไม่รู้ตื้นลึกหนาบางมาก่อนแต่ประการใด

ผู้ที่น่าจะรู้เรื่องดีที่สุด แต่ก็ไม่เห็นจะออกมาชี้แจงความเคลือบแคลงให้สังคมภายนอกเข้าใจแต่ประการใด ก็เห็นจะเป็นท่านประธานบริหาร ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย และ กจญ.ผยง ศรีวณิช นะครับ

ช่วยตอบให้สังคมหายคลางแคลงว่า ไม่ได้เล่นเกมห้ำหั่นกันจนลืผู้ถือหุ้นกู้ 5.5 พันล้านบาท ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง

 

Back to top button