แขกไป จีนมา
การแจ้งข่าวของกลุ่มทาทา สตีล ผู้ผลิตเหล็กกล้าสัญชาติอินเดีย ทาทาจากอินเดีย เรื่องขายหุ้นโรงงานเหล็กรีดร้อนรีดเย็น บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) หรือ TSTH ที่ถือกว่า 67% มูลค่า 4,517 ล้านบาท ให้กลุ่มทุนจีน HBIS Group ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของจีนและของโลก ยอมจ่ายแพง หุ้นละ 0.79 บาท ไม่ใช่เรื่องแปลก
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
การแจ้งข่าวของกลุ่มทาทา สตีล ผู้ผลิตเหล็กกล้าสัญชาติอินเดีย ทาทาจากอินเดีย เรื่องขายหุ้นโรงงานเหล็กรีดร้อนรีดเย็น บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) หรือ TSTH ที่ถือกว่า 67% มูลค่า 4,517 ล้านบาท ให้กลุ่มทุนจีน HBIS Group ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของจีนและของโลก ยอมจ่ายแพง หุ้นละ 0.79 บาท ไม่ใช่เรื่องแปลก
ก่อนหน้ากลุ่มทาทา สตีล บริษัทดังกล่าวเคยถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเทกโอเวอร์มาจากเจ้าของเดิมกลุ่มนครไทยสตีลของนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง
การตัดสินใจขายหุ้นทิ้งของกลุ่มทาทา สตีล บ่งบอกชะตากรรมของผู้ผลิตเหล็กเมืองไทยได้ชัดเจน
หากพิจารณาจากงบการเงิน TSTH จะพบว่า แม้ 4 ปีย้อนหลังจะปรากฏตัวเลขกำไรสุทธิมากกว่าขาดทุน แต่ก็ทราบกันดีว่าเป็นกำไรพิเศษมากกว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติ และกำไรต่อหุ้นก็ถือว่าบางมากจนไม่คุ้ม
เหลียวมองไปที่กลุ่มผู้ผลิตเหล็กกลางน้ำอย่างกลุ่มสหวิริยาฯ หรือ จี สตีล จะเห็นว่าอยู่ในสภาพไม่ดีกว่ากันแต่อย่างใดเลย เรียกว่าร่อแร่ในไอซียูกันทั้งนั้น
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพื้นฐานอย่างเหล็ก มีสภาพนี้ เกิดจากองค์ประกอบที่ลักลั่น และนโยบายรัฐที่หาความสม่ำเสมอไม่ได้
หลายปีมาแล้ว นับตั้งแต่ตลาดหุ้นไทยแยกแยะหุ้นกลุ่มเหล็กทั้งผลิตและค้า เข้ามาอยู่ในหมวดหมู่เฉพาะ หุ้นกลุ่มนี้ กลายเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการในลักษณะ “สาละวันเตี้ยลง” ต่อเนื่อง
เริ่มจากหุ้นที่มีการผลิตกลางน้ำ ซึ่งมีการลงทุนขนาดใหญ่ มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ต้องผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ ทั้งที่ความต้องการของตลาดมีมหาศาล
จากนั้นก็แพร่เชื้อลุกลามมาจนถึงปลายน้ำ และทุกระดับ จนกลายเป็นอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” เร็วกว่ากำหนด ทั้งที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้น
ในทางตัวเลข ระบบเศรษฐกิจไทยมีการบริโภคเหล็กทั้งหมดประมาณ 17 ล้านตัน แต่ทำการผลิตในประเทศในทุกระดับได้เพียงแค่ 7 ล้านตัน ถือว่าอุปสงค์มากกว่าอุปทาน ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ แต่ความจริงตรงกันข้าม
ด้วยเหตุผลและข้ออ้างสารพัดทั้งปริมาณและคุณภาพ ทำให้รัฐบาลผ่อนปรนให้สามารถนำเข้าส่วนที่ขาดอีก 10 ล้านตันต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหากมีการเพิ่มกำลังการผลิต จะทำให้สนองตอบความต้องการตลาดภายในได้เพียงพอ โดยไม่ต้องพูดถึงการส่งออก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
เหตุผลเพราะขนาดโรงงานในประเทศที่เล็ก จากโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กที่พิกลพิการมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำที่ไม่มีโอกาสแจ้งเกิดได้เลย เพราะถูกต่อต้านจากบรรดา “คนรักชาติ” และรักสิ่งแวดล้อมเข้ากระดูกดำอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ความไม่สมดุลของอุตสาหกรรมเหล็ก ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากภายนอกเกินขนาด
5 ปีมานี้ เหล็กนำเข้าจากจีนทุกรูปแบบ ทั้งที่ต้องมาแปรรูป และรูปพรรณสารพัด ถูกระบายออกมายังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยในทุกระดับของเหล็ก แม้กระทั่งเกือบสำเร็จรูปด้วยซ้ำ ความเดือดร้อนจึงปรากฏไปทุกหย่อมหญ้า
กลุ่มผู้ผลิตเหล็กก่อสร้าง 30 ราย ได้พยายามรวมตัวไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อรัฐบาลหลายครั้ง ขอให้รัฐหามาตรการเร่งป้องกันการนำเข้าเหล็กเส้นจากประเทศจีน ซึ่งมีราคาที่ต่ำผิดปกติ ประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม แต่ต้นทุนในการผลิตของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม
การที่ราคาเหล็กจากจีนมีราคาต่ำกว่าต้นทุน อาจเกิดจากผู้ผลิตจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในการส่งออกด้วยการคืนภาษีร้อยละ 13 และผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเป็นการช่วยเหลือดำเนินกิจการ ทำให้สร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนผลิตสินค้า
ที่สำคัญภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีจีนและอาเซียน ทำให้กำแพงภาษีทำไม่ได้ แต่ทางรัฐบาลไทยหลายสมัย พยายามให้สำนักงานมาตรฐานผลิตอุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้น โดยกำหนดค่าส่วนประกอบ ห้ามการเจือธาตุอัลลอยด์ในผลิตภัณฑ์เหล็กเส้น เพื่อทำให้เหล็กอัลลอยด์ที่นำเข้าได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอีก 5% ที่ภาครัฐได้ยกเว้นสำหรับเหล็กเกรดพิเศษ
ช่วงหนึ่งที่เหล็กจากจีนหลั่งไหลเข้ามามาก เพราะจีนยอมขายตัดขาดทุนเพื่อระบายเหล็กเหลือใช้ออกจากประเทศ หลังจากที่ตลาดเหล็กในจีนชะลอตัวลงในทุกระดับ มีกำลังการผลิตล้นเกินความต้องการ ต้องหาตลาดต่างประเทศรองรับแทนในทุกระดับผลิตภัณฑ์และทุกราคา
ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างภายใน ซึ่งอยู่ในภาวะล้นตลาดอยู่แล้ว จากกำลังการผลิตเหล็กเส้นที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. รวมกันอยู่ถึง 7 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการภายในประเทศมีเพียง 2 ล้านตันต่อปีเท่านั้น
คำร้องทุกข์ แสดงความกังวลว่า หากรัฐบาลไทยไม่ให้ความช่วยเหลือจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กเส้นภายในประเทศ ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่การตอบสนองเชิงบวกจากรัฐบาลในเรื่องนี้ ทั้งที่ว่าไปแล้ว หากอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานที่รัฐบาลทุกประเทศปกป้อง เพื่อรักษาเอาไว้ในยามสถานการณ์ไม่ปกติ เกิดมีอันล่มสลายไปจริง
สถานการณ์ หุ้นเหล็กในตลาดหุ้นไทยขาดทุนมากกว่ากำไร และการเปลี่ยนมือที่เกิดขึ้นก็สะท้อนจุดอ่อนที่อุตสาหกรรมเผชิญอยู่
โจทย์ที่น่าประหลาดก็คือ บริษัทเหล็กอยู่รอดมาได้อย่างไร ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เอื้อเสียเลย นอกจากบริษัท “เส้นใหญ่” บางรายที่เป็นข้อยกเว้น
การขายหุ้นทิ้งของทาทา สตีล ให้กับ HBIS ของจีน ในลักษณะ แขกไป จีนมา จึงมีคำถามพอสมควรว่า หาก HBIS ที่เคยมีส่วนทำให้ผู้ประกอบการเหล็กในไทยย่ำแย่ เข้ามาบริหารแทนเจ้าของเดิมแล้ว จะสามารถแก้ปัญหาขาดทุนเรื้อรังของอุตสาหกรรมเหล็กไทยได้หรือไม่ หรือมีเจตนาแอบแฝงเพื่อ “บอนไซ” ต่อไป
ถ้าเป็นอย่างหลัง ก็เท่ากับอนาคตเหล็กไทย คืออาณานิคมของจีน เท่านั้น