บาทแข็ง กับ ธปท.
วันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนี SET ปิดตลาดที่จุดสูงสุดในรอบ 2 เดือน เหตุผลมาจากฟันด์โฟลว์ไหลเข้าต่อเนื่อง
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
วันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนี SET ปิดตลาดที่จุดสูงสุดในรอบ 2 เดือน เหตุผลมาจากฟันด์โฟลว์ไหลเข้าต่อเนื่อง
ข้อมูลล่าสุดระบุชัดว่า ตัวเลขซื้อสะสมสุทธิของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยนับแต่ต้นปีจนถึงวันศุกร์อยู่ที่ระดับ 7.6 พันล้านบาทเศษ แม้ไม่มากนัก แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นข่าวร้ายเมื่อเทียบกับยอดขายสะสมสุทธิตลอดทั้งปีก่อน 2.3 แสนล้านบาท
การเริ่มไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ระลอกใหม่ แม้จะไม่มากมาย ก็ส่งผลสะเทือน 2 ด้านพร้อมกัน คือ ดัชนีตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น และบาทแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์
เรื่องแรกดีแน่นอน แต่เรื่องหลังทำให้เกิดคำถามว่าท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินการอย่างไร
อย่างน้อยที่สุด ตอนนี้ประเด็นเรื่องบาทแข็งกระทบผู้ส่งออกก็ถูกยกขึ้นมาเป็นเรื่องชวนทะเลาะ เมื่อนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ว่า เป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่ต้องดูแลไม่ให้เงินบาทแกว่งตัวมากเกินไป และต้องปรับสมดุลให้เงินบาทอยู่ในระดับเดียวกันกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งของไทย เพราะถ้าหากเงินบาทแข็งค่าเกินไป ผู้ส่งออกจะเสียเปรียบคู่แข่งในเวทีการค้าโลก
นายอภิศักดิ์ ระบุว่า แม้ผู้ประกอบการที่นำเข้าและส่งออก (นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบเพื่อส่งออกเป็นสินค้าสำเร็จรูป) เช่น รถยนต์ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก แต่ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากสินค้าเกษตรมีการใช้วัตถุดิบและแรงงานในประเทศ 100% หากเงินบาทแข็งค่า ทำให้สินค้าเกษตรกรได้รับเงินน้อยลง ธปท.ต้องชั่งน้ำหนักว่า จะบริหารจัดการค่าเงินบาทอย่างไร
เรื่องนี้ คู่กรณีโดยตรงของกระทรวงการคลังอย่างนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.ต้องออกมาปกป้องตนเองตามสูตร โต้แย้งว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในรอบ 9 เดือน ไม่อยากให้มองค่าเงินบาทต้องอยู่ที่อัตราเท่าไร เพราะการแข็งค่าของเงินบาทขณะนี้ เกิดขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐ เป็นปัจจัยในต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แข็งค่าขึ้นมาก เช่น ค่าเงินรูเปียของอินโดนีเซียก็แข็งค่าขึ้นมาก และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในภูมิภาค
จากนั้นนายวิรไทก็โยนปัญหาให้ธุรกิจเอกชนรับไปว่า เรื่องนี้นักธุรกิจไทยต้องอย่าชะล่าใจ เพราะค่าเงินขณะนี้มีความผันผวน ไม่มีใครสามารถกำหนดอัตราของค่าเงินบาทให้ได้ว่าต้องอยู่ที่อัตราใด
ดราม่าสงครามน้ำลายเรื่องบาทแข็งระหว่าง รมว.คลัง กับผู้ว่าการ ธปท.บนพื้นที่สื่อดังกล่าว กลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่า ธปท.เองก็ไม่ชอบให้ค่าบาทแข็งเช่นกัน
หากยังไม่หลงลืมกัน เมื่อ 2-3 ปีก่อน เคยมีประเด็นว่าตัวเลขขาดทุนในงบการเงินของ ธปท.ต่อเนื่องหลายปีจากพิษบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ อาจจะทำให้ ธปท.ถึงขั้นล้มละลายเพราะมีส่วนทุนติดลบระดับ 7.45 แสนล้านบาท ในสิ้นปี 2559 อาจจะทำให้คนบางคนตกอกตกใจกันยกใหญ่ แต่สำหรับคนที่ผ่านร้อนหนาวมามาก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมา 20 ปีแล้ว และยังมีต่อไป
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกครั้งที่บาทแข็ง ตัวเลขงบกำไรขาดทุน และงบดุลของ ธปท.ย่ำแย่ได้เสมอ แม้ว่าจะทำให้ตัวเลขทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก มีสาเหตุจากรากเหง้าเก่าแก่กลยุทธ์ “2 ขาดทุน” ของผู้บริหาร ธปท.ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกเช่นกัน เพียงแต่จะเกิดเป็นข่าวเมื่อมีคนตั้งคำถาม เกี่ยวกับฐานะการเงินการคลังที่ร่อยหรอของรัฐบาล แล้วหาคำตอบตรงไปตรงมาไม่ได้ ก็งัดตัวเลขนี้มาทำเป็นเรื่องขึ้นใหญ่โต
การขาดทุนจนถึงขั้นทุนติดลบของ ธปท. เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ของนโยบายการเงินอย่างแยกไม่ออก อธิบายให้เกิดจินตนาการชัดแจ๋วก็ไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกินจะเข้าใจ
เรื่องทั้งหมดต้องย้อนไปไกลถึงช่วงเวลาฟองสบู่เศรษฐกิจ ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540
สมัยนั้น นโยบายการเงินของ ธปท.ใช้แนวทางอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่โดยการบริหาร “ตะกร้าเงิน” หรือ basket-currency monetary policy โดยคณะกรรมการ กนง. ใต้ร่ม ธปท.
เมื่อเกิดฟองสบู่เศรษฐกิจ ทำให้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินแบบคงที่ที่ใช้มายาวนานในอดีต โดยการบริหารจัดการตะกร้าเงินที่ใช้อยู่ ไม่สามารถรับมือกับการโจมตีค่าเงินจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ข้ามชาติที่นำโดยจอร์จ โซรอส จนกลายมาเป็นวิกฤติค่าเงินบาท เพราะ ธปท. นำทุนสำรองไปต่อสู้กับกองทุนจนขาดทุนเกือบ 6 แสนล้านบาทในต้นปี 2540 เป็นวิกฤติเศรษฐกิจร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ไทย และส่วนทุน ธปท.ติดลบเรื้อรังหลายปี
ตัวเลขเมื่อสิ้นงวดบัญชีปี 2540 ธปท.มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 170,449 ล้านบาท เป็นการขาดทุนที่เกิดขึ้นจริง 87,026 ล้านบาท และการขาดทุนทางบัญชี หรือยังไม่เกิดขึ้นจริง 83,418 ล้านบาท โดยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2540 อยู่ที่ 47.247 บาท และมีบัญชีทุนติดลบ 36,413 ล้านบาท
ความล้มเหลวครั้งนั้น ทำให้ ธปท.และรัฐบาลไทยต้องหันมาใช้นโยบายการเงินอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ผสมกับ นโยบายบริหารกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่เป็นรากเหง้าของกลยุทธ์ “2 ขาดทุน” ของ ธปท.มาถึงทุกวันนี้
ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวนั้น หากเมื่อใดบาทอ่อน ธปท.จะมีกำไร แต่ถ้าบาทแข็ง ธปท.จะขาดทุน แต่ตัวเลขขาดทุนหรือกำไรไม่มีความหมายต่อฐานะทางการเงิน
นอกจากนั้น ในกติกาบริหารเสถียรภาพทางการเงิน ด้วยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting policy) มีข้อเท็จจริงว่า ธปท. ต้องทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนมากเกินไป และยังต้องดูแลสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย ดังนั้นเมื่อมีการซื้อดอลลาร์เข้ามา หรือมีเงินไหล (ฟันด์โฟลว์) เข้ามาจำนวนมาก ทำให้บาทแข็งเกิน จึงต้องออกพันธบัตร ธปท. (ซึ่งแตกต่างจากพันธบัตรกระทรวงการคลัง ซึ่งมักจะมีคนสับสนเรื่องนี้มาก) เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของเงินบาท แต่พันธบัตรที่ ธปท.ออกมานั้นมีภาระดอกเบี้ยจ่าย ถือเป็นต้นทุนในการดำเนินนโยบายการเงิน (ปัจจุบันอยู่ที่ 2-3%) โดยภาระดอกเบี้ยจ่ายของ ธปท. เฉลี่ยคร่าว ๆ ดูได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อัตราดอกเบี้ยที่ ธปท.กำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และเป็นเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน)
พูดโดยสรุปง่าย ๆ คือ นโยบายที่ ธปท.ใช้อยู่เป็น 2 เสาหลักคือ อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว และกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อรักษาเสถียรภาพ คือต้นธารของกลยุทธ์ “2 ขาดทุน” ไม่มีทางเลือกอื่น
บาทแข็งเมื่อใด ธปท.ก็ขาดทุนจากการออกพันธบัตร ธปท. (จากนโยบายการเงินตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ) และขาดทุนจากการทุ่มทุนสำรองแทรกค่าดอลลาร์ (จากนโยบายการเงินรักษาเสถียรภาพค่าบาท) และบาทอ่อนเมื่อใดก็กำไรอีกครั้ง
ครั้งนี้ก็คงซ้ำรอยเดิมอีก
ดราม่าน้ำเน่า คงวนเวียนกลับมาอีกครั้ง ตามปกติ