ความเชื่อมั่น (เกินจริง)

คงจะมีน้อยคนที่รู้ว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไม่ได้เป็นเจ้าของตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างเป็นทางการ เพราะเหตุว่าตัวจริงเสียงจริงคือสํานักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ต่างหาก


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

คงจะมีน้อยคนที่รู้ว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไม่ได้เป็นเจ้าของตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างเป็นทางการ เพราะเหตุว่าตัวจริงเสียงจริงคือสํานักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ต่างหาก

แต่ก็อย่างว่า อาศัยความขยันทำนอง “เล่นสั้น ขยันซอย” ทำให้ภาพลักษณ์ตัวเลขมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดูน่าเชื่อถือไม่น้อย แม้แพ้ตัวเลขทางการ ทำนองเดียวกับดัชนีดาวโจนส์และนิกเกอินั่นแหละ

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานว่า ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มกราคมปีนี้ อยู่ที่ 80.7 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 5 เดือน จากระดับ 79.4 ในเดือนธันวาคม 2561 โดยดัชนีปรับตัวดีขึ้นในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากความชัดเจนในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 67.7 จาก 66.3 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 75.8 จาก 74.6 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.7 จาก 97.3 ในเดือนก่อนหน้า

รายงานระบุลงลึกว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้แก่

– การประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562

– สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 4.1% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.9% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น

– สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัว 4.0% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.5-4.5% โดยได้รับแรงส่งจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2562 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและโครงการลงทุน PPP ในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งผลจากความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง

– ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มคลี่คลายลง หลังจากที่สหรัฐฯ และจีนได้มีการเจรจาการค้ากัน 2 ครั้ง หลังจากได้ยุติสงครามการค้าเป็นการชั่วคราว 90 วัน

– นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากประเทศไทยยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA on Arrival

– พืชผลทางการเกษตรบางรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าปศุสัตว์ ทำให้เกษตรกรบางกลุ่มเริ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยในหลายจังหวัดที่ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรส่วนใหญ่ยังเห็นว่าราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ

– SET Index ในเดือนมกราคม 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 77.85 จุด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,563.88 จุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 เป็น 1,641.73 จุด

– ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 32.701 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 เป็น 31.814 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2562 สะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้ามายังประเทศไทย

สำหรับปัจจัยลบ ระบุว่า

1.การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2561 มีมูลค่า 19,381.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.72% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 18,316.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.15% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,064.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในช่วงตลอดทั้งปี 2561 ส่งออกรวม 252,486.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.70% และมีการนำเข้ารวม 249,231.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.51% ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 3,254.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2.ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.60 บาทต่อลิตร จากระดับ 25.48 และ 25.75 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 ตามลำดับ มาอยู่ที่ระดับ 26.08 และ 26.35 บาทต่อลิตร ณ สิ้นเดือนมกราคม 2562 ตามลำดับ สำหรับราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันประมาณ 0.90 บาทต่อลิตร จากระดับ 24.79 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ระดับ 25.69 บาทต่อลิตร

3.ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน

4.ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้รายได้เกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก

5.ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าในระดับโลก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต แม้ว่าสหรัฐฯ กับจีนจะอยู่ในช่วงเจรจายุติปัญหาสงครามการค้า

6.ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว และผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

หากใช้ตัวเลขนี้อ้างอิงและเชื่อมั่นเต็มที่ว่าค่าดัชนีไม่ได้มั่ว โอกาสที่จะได้เห็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “นอนมา ไม่มีพระนำ” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง เป็นไปได้สูงยิ่ง

ในทางทฤษฎี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เป็นการประมาณการล่วงหน้าจากความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมและสถานการณ์เศรษฐกิจส่วนตน การที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจต่อเสถียรภาพของรายได้ของตน จะตัดสินกิจกรรมการใช้จ่าย และถูกใช้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเศรษฐกิจโดยรวม

ดังนั้น เมื่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงขึ้น ผู้บริโภคจะมีการบริโภคมากขึ้น และส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่หากความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำลง ผู้บริโภคจะประหยัดกิจกรรมใช้จ่ายของตนมากขึ้น และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจ (Business Expectation Index) ที่จัดทำขึ้นจากการสอบถามความคิดเห็นของนักธุรกิจทั่วประเทศ ต่อภาวะธุรกิจในปัจจุบัน และคาดการณ์ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า โดยสำรวจเป็นรายไตรมาสจากนักธุรกิจ 6 สาขา คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ก่อสร้าง การเงิน และบริการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวนำมาใช้เป็นข้อมูลทดสอบทิศทางจุดวกกลับของดัชนีวัฏจักรเศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เกิดขึ้นภายหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 จากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดภาวะเศรษฐกิจผันผวนอย่างรวดเร็ว ระบบเศรษฐกิจประสบภาวะชะงักงัน และเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจล่วงหน้า

ในทางสถิติ หากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่า ผู้บริโภคไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยมากกว่าระดับ 80 จุด จึงถือว่าแข็งแกร่ง

ใครเห็นว่าไม่แข็งแกร่ง ก็ “ลองมาไล่กูสิ”

แล้วจะรู้สึกว่าประชาธิปไตย “กูมี” เป็นเช่นใด

 

Back to top button