ศรีธนญชัยตลาดหุ้น ?

นับเป็นวันที่สุขสันต์หรรษามากของตลาดหุ้นไทยนับแต่เถลิงศกปีกุนเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปลายเดือน ม.ค. ออกมา


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

นับเป็นวันที่สุขสันต์หรรษามากของตลาดหุ้นไทยนับแต่เถลิงศกปีกุนเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปลายเดือน ม.ค. ออกมา

ตลาดหุ้นเริงร่าทุกวันนี้ ก็เป็นผลมาจาก “อีเลคชั่น แรลลี่” ซึ่งนับวันก็ยิ่งสร้างความหนักแน่นยิ่งขึ้นว่าประเทศไทยต้องมีการเลือกตั้งแน่ และวันที่ 8 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ก็จะยิ่งมีความหนักแน่นชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

เป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศตัวชัดรับเชิญเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และอาจจะมีข่าวดีอื่น ๆ ตามมาอีก

ตลาดหุ้นมีเรื่องค้างคาใจอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งผมก็ยังชั่งใจอยู่ว่า จะรอให้เขากระทำการกันให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วค่อยพูดดี หรือขอพูดดักหน้าไว้ก่อนเลย เพื่อจะได้ไม่ปล่อยให้เกิดเรื่องไม่ดีไม่งามขึ้นมาในตลาดหุ้น

นั่นก็คือ ข่าวลือที่ว่า บล.ภัทร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการเงินฝ่าย GPSC จะผ่าทางตันเรื่องเงื่อนไขบังคับก่อนให้มีการซื้อโรงไฟฟ้า SPP1 โดยจะรับซื้อไว้เอง (ชั่วคราว) เพื่อบรรลุดีล GPSC ซื้อ GLOW ก่อน แล้วค่อยขายคืนผู้ถือหุ้นใหญ่ GLOW คือ ENGIE GROUP ในภายหลัง

ผมภาวนาขอว่าเป็นข่าวไม่จริง หรือถ้ามีกระบวนการก่อรูปกันจริง ก็ภาวนาให้มีการล้มเลิกความตั้งใจนี้เสียว่า “อย่าทำเลย” เพราะเคยมีเรื่องเสื่อมเสียเช่นนี้มาแล้วในกรณีกลุ่มการเงินแห่งหนึ่ง รับเป็น “บริษัทไทยเทียม” (ชั่วคราว) ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมต่างชาติในการเข้าซื้อบริษัทสื่อสารไทย

เคสนี้เหมือนกันเด๊ะกับเคสทักษิณขายชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กและบริษัทไทยเทียมกุหลาบแก้ว ซึ่งก็ไม่มีการจ่ายภาษีเหมือนกัน อีกทั้งยังเป็นเคสที่ทำก่อนหน้าดีลทักษิณเสียด้วย

มลทินต่อตลาดหุ้นครั้งนั้นก็คือ บริษัทไอบี ดันไปทำหน้าที่ “ไทยเทียม” ซื้อบริษัทสื่อสารฯ ให้กับต่างชาติ เข้าข่ายทำนิติกรรมอำพราง ส่อเป็นรายการ “เกี่ยวโยง” อันเป็นการขัดกันทางผลประโยชน์ แต่ไม่รู้ว่าบริษัทนี้มีเส้นดีอะไร จึงลอยนวลออกมาได้โดยไม่มีบาดแผล แต่ก็ยังเป็น “บันทึกสีดำ” ตลาดหุ้น จดจำกันมาจนถึงบัดนี้

ถ้า บล.ภัทรจะทำอย่างว่าจริง ในฐานะที่ตนเองเป็นที่ปรึกษาฯ รับค่าฟีจากผู้จะซื้อคือ GPSC แล้วยังจะไปร่วมคิดร่วมก่อการกับฝ่ายผู้จะขายคือ GLOW มารับซื้อโรงไฟฟ้าให้ เพื่อบรรลุดีลซื้อขาย ตามที่คณะกรรมการกิจการพลังงานฯ หรือ กกพ. ตั้งเงื่อนไขให้ GLOW จำหน่ายโรงไฟฟ้า SPP1 ออกไปเสียก่อน

อย่างนี้จะถือเป็น “นิติกรรมอำพราง” ตบตา กกพ.ไหมเนี่ย และ กกพ.ควรจะให้การยินยอมไหม เนื่องจากเป็นนิติกรรมที่มิได้มีการลดการครอบงำหรือลดการได้เปรียบเสีรยเปรียบกันจริง ตามที่ กกพ.ตั้งเป็นเงื่อนไขไว้

การทำหน้าที่เป็น FA ทั้งฝั่งผู้จะซื้อและฝั่งผู้จะขายนั้น จะถือว่า เป็นการทับซ้อนทางผลประโยชน์หรือไม่ ก.ล.ต.จะว่าอย่างไร

และยิ่งหากเอ็นจี ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่โกลว์อนุมัติขายหุ้น และยังมีแผนจะย้อนไปซื้อ SPP1 กลับมา ภายหลังได้บรรลุผลซื้อโกลว์สำเร็จแล้ว มันจะเข้าเกณฑ์ “เกี่ยวโยง” อันเป็นข้อห้ามของทาง ก.ล.ต.หรือไม่

ก็คงต้องไปดูทางกระทรวงพาณิชย์ด้วยล่ะว่า บริษัทที่จดทะเบียนเป็นวาณิชธนกิจหรือที่ปรึกษาการเงิน จะผ่าเหล่ามาเป็น “บริษัทรับซื้อฝากโรงไฟฟ้า” จะเป็นการละเมิดบริคณฑ์สนธิที่จดแจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์หรือไม่

สรุปว่าอย่าหาทางออกด้วยวิธีการง่าย ๆ แบบศรีธนญชัยกันดีกว่า ไหน ๆ จะเป็นดีลการซื้อขายใหญ่โตที่มีมูลค่ามหาศาลเป็นแสนล้านบาท ก็ควรจะเป็นดีลที่มีศักดิ์ศรีแก่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้จะขาย ผู้จะซื้อ รวมทั้งแฟซิลิเตเตอร์อย่างที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย

ใช่ว่า โรงไฟฟ้า SPP1 นี้จะไร้ผู้สนใจซื้อเสียที่ไหน ชื่อที่พูด ๆ กันว่าเป็นผู้สนใจซื้อเช่น WHA อมตะ บีกริม หรือ กัลฟ์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่มีศักยภาพจะซื้อได้ทั้งนั้น ขอให้เป็นราคาที่สมเหตุสมผล

อย่าทำอะไรที่ไร้ศักดิ์ศรีเพราะความละโมภหรือมักง่ายดีกว่า ผมขอภาวนาว่าอย่าให้ข่าวลือเรื่องการขายฝากโรงไฟฟ้าเป็นเรื่องจริง

 

Back to top button