พาราสาวะถี
สถานการณ์การเมืองและบ้านเมืองเช่นนี้ การเสพสื่อเป็นสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวังมากที่สุด โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย อย่างกรณีการเผยแพร่เอกสารปลอมว่าด้วยคำสั่งของหัวหน้าคสช.ปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ทำกันถึงขั้นออกประกาศราชกิจจานุเบกษาเลยทีเดียว แน่นอนว่าคนทำไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนแค่ต้องการปั่นป่วน สร้างความแตกแยก
อรชุน
สถานการณ์การเมืองและบ้านเมืองเช่นนี้ การเสพสื่อเป็นสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวังมากที่สุด โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย อย่างกรณีการเผยแพร่เอกสารปลอมว่าด้วยคำสั่งของหัวหน้าคสช.ปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ทำกันถึงขั้นออกประกาศราชกิจจานุเบกษาเลยทีเดียว แน่นอนว่าคนทำไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนแค่ต้องการปั่นป่วน สร้างความแตกแยก
เนื่องจากการแต่งตั้งโยกย้ายระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้น หากเป็นสมัยก่อนอยู่ภายใต้การบัญชาของฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายบริหารทั้งหมด แต่หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 กับการกำเนิดเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหาราชการกระทรวงกลาโหม ทำให้ฝ่ายการเมืองไปแทรกแซงการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ได้อีกต่อไป
นั่นหมายความว่า กรณีเอกสารปลอมดังกล่าวจะทำไปด้วยความไม่รู้หรือเห็นว่ามาตรา 44 อยู่เหนือกฎเกณฑ์ใด ๆ อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องคำนึงว่ากระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายผบ.เหล่าทัพจะต้องผ่านอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวคงหนีไม่พ้นเพื่อให้สอดคล้องกับข่าวการรัฐประหารซ้ำ ซึ่งตามมาอย่างสอดประสานกับการปลอมเอกสารดังว่า
คงเป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจะกระชากหน้ากากของคนที่ทำในเรื่องดังกล่าว ซึ่งต้องไม่ใช่แพะและคงไม่ใช่เรื่องยากที่จะลากตัวคนดำเนินการมาดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารซ้ำ หากมองไปยังสถานการณ์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มันก็มีแนวโน้มที่ชวนให้คนเชื่อได้ ยิ่งมีการเคลื่อนขบวนรถถังเพื่อไปซ้อมรบด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนหวั่นไหวกันไปใหญ่
ไม่เพียงเท่านั้นการที่ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เคยลั่นวาจาไม่การันตีว่าจะเกิดการรัฐประหารอีกหรือไม่ ถ้านำมาปะติดปะต่อกับข่าวลือข่าวลวง มันก็ทำให้คนอดที่จะเชื่อเช่นนั้นไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะธรรมชาติของการทำรัฐประหารทุกครั้ง มักจะเริ่มต้นด้วยการปฏิเสธของบุคคลที่เกี่ยวข้องเสมอมา
เพียงแต่ว่าในสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน มองความเป็นไปได้น่าจะน้อย ด้วยเหตุผลว่าประเทศกำลังจะมีพระราชพิธีที่สำคัญซึ่งคนไทยทุกคนตั้งตารอ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งที่ถือเป็นความหวังของคนส่วนใหญ่ว่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาปากท้อง ที่รัฐบาลเผด็จการไม่อาจจะช่วยได้ ดังนั้น ใครก็ตามที่คิดจะใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอีก คงต้องพึงสังวรณ์ว่าอาจจะเกิดเหตุความไม่พอใจของประชาชนจนกลายเป็นการลุกฮือขึ้นมาได้
ชะตากรรมของพรรคไทยรักษาชาติอยู่ที่ 7 เสือ กกต.ว่าจะเคาะกันมาอย่างไร แค่ไม่ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เหมือนว่าพรรคการเมืองดังกล่าวไม่ได้ส่งแล้วทุกอย่างจบกันไป หรือมีความเห็นทางข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาประกอบ นำไปสู่การยุบพรรค ตรงนี้ต้องให้เกิดความชัดเจนและอธิบายต่อสังคมได้ ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม มิเช่นนั้น อาจจะเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งได้
หากพิจารณาจากกระแส พวกสุดโต่งที่เคยออกอาการผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อช่วงเช้าต่อเนื่องถึงค่ำของวันศุกร์ที่ผ่านมา ย่อมต้องการเห็นการยุบพรรคและเอาผิดกับกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ จึงมีข้อเรียกร้องสารพัดออกมาจนถึงวันนี้ ขณะที่กองเชียร์พรรคดังกล่าวก็อยากให้ กกต.พิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะมีมติอย่างไรก็ช่วยอธิบายให้เกิดความกระจ่าง
กระนั้นก็ตาม สดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ในเมื่อมีพระราชโองการซึ่งเราต้องรับเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม จะต้องยุติในเรื่องต่าง ๆ ทั้งข้อเท็จจริงเเละข้อกฎหมาย ไม่ควรนำเรื่องนี้เข้ามาสู่การพิจารณาของ กกต.ด้วยซ้ำ ไม่ควรมองว่าพรรคไทยรักษาชาติควรรับผิดชอบในเรื่องการเสนอชื่อหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ผ่านมาเเล้ว เเละกฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ห้ามไม่ให้เสนอชื่อบุคคลใดบ้าง
ส่วนถ้ามีการร้องเรียนเเละมีการเสนอยุบพรรค กกต.จะต้องมีการสืบสวนไต่สวน เเละอาจจะต้องทำเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย ถามว่าเราจะดึงพระองค์ท่านเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะเรื่องนี้น่าจะจบกันด้วยดี เพราะมีพระราชโองการอย่างชัดเจนแล้ว เเละทุกอย่างก็ถือว่าเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะดำเนินงานกันต่อไป
ความห่วงใยของสดศรีก็คือ การนำเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น กกต.หรือศาล จะบาดเจ็บกันทุกฝ่าย พรรคการเมืองจะต้องนัดสืบพยานผู้เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น ควรเดินหน้ากันต่อไปในการเเข่งขันต่อสู้ในวันเลือกตั้งที่ 24 มีนาคมนี้ ต้องยอมรับกันว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีแล้ว ถือว่าคนไทยและประเทศไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของสดศรีก็ถูกฝ่ายสุดโต่งตอบโต้ในทันที โดยยกเหตุผลสารพัดเพื่อสร้างแรงกดดันให้ กกต.ต้องเดินตามสิ่งที่พวกตัวเองต้องการ แน่นอนว่า ขบวนการปั่นกระแสในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและทำสำเร็จเกือบทุกครั้ง หากฝ่ายถูกเล่นงานคือเครือข่ายของระบอบทักษิณ นี่อาจเป็นความจริงที่ต้องยอมรับกันว่า ฝ่ายตรงข้ามคนแดนไกลไม่เคยก้าวข้ามแม้แต่น้อย
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จึงเป็นภาระหน้าที่ของ กกต. ที่จะพิสูจน์การทำงาน เป็นหนทางที่จะสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ เข้ามาทำหน้าที่เพื่อเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชน มาพัฒนาประชาธิปไตยหรือเพื่อรับใบสั่งใครหรือไม่ ไม่มีโอกาสไหนที่จะได้แสดงศักยภาพเท่ากับการเลือกตั้งและพิจารณาเรื่องสำคัญเท่ากับครั้งนี้อีกแล้ว
กระบวนการทั้งหมดต้องยึดโยงด้วยหลักการ ข้อกฎหมาย ไม่ใช่อิงกระแสเหมือนอย่างที่องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญเคยทำมาแล้วในอดีตกับกรณียุบ 3 พรรคการเมืองที่อดีตประธานองค์กรยอมรับด้วยตัวเองว่าตัดสินตามกระแสหรือแรงกดดันมากกว่าการยึดโยงข้อกฎหมาย ถ้าทำได้ กกต.จะหลุดพ้นข้อครหาถูกครอบงำและจะสามารถเดินบนเส้นทางการจัดการเลือกตั้งได้อย่างสง่างาม และเป็นที่ยอมรับทั้งจากคนไทยและนานาประเทศ