พาราสาวะถี
ช่วงนี้นอกจากพรรคการเมืองและผู้สมัครจะวุ่นอยู่กับการหาเสียงเพราะเวลาหย่อนบัตรงวดเข้ามาทุกขณะแล้ว ในส่วนของผู้สมัครที่ไม่ผ่านการรับรองจากกกต.ก็ต้องดำเนินการรวบรวมหลักฐานไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งมีหลายรายที่เห็นว่าน่าจะเกิดความผิดพลาดจากระบบฐานข้อมูลของกกต.เอง โดยเฉพาะกรณีของ กรวีร์ ปริศนานันทกุล ผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 9 ของพรรคภูมิใจไทย
อรชุน
ช่วงนี้นอกจากพรรคการเมืองและผู้สมัครจะวุ่นอยู่กับการหาเสียงเพราะเวลาหย่อนบัตรงวดเข้ามาทุกขณะแล้ว ในส่วนของผู้สมัครที่ไม่ผ่านการรับรองจากกกต.ก็ต้องดำเนินการรวบรวมหลักฐานไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งมีหลายรายที่เห็นว่าน่าจะเกิดความผิดพลาดจากระบบฐานข้อมูลของกกต.เอง โดยเฉพาะกรณีของ กรวีร์ ปริศนานันทกุล ผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 9 ของพรรคภูมิใจไทย
โดย นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนาอดีตต้นสังกัดเดิม ถึงกับออกโรงว่าพร้อมที่จะไปยืนยันการลาออกจากพรรคของกรวีร์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และเชื่อว่าน่าจะมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ตั้งข้อสังเกตว่าความผิดพลาดน่าจะเกิดจากระบบข้อมูลของกกต.เอง อย่างไรก็ตาม กระบวนการอุทธรณ์ของผู้สมัครต่อศาลฎีกานั้นถือว่าไม่ยุ่งยากและจะมีการพิจารณาในเวลาอันรวดเร็ว
ทาง พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต.ได้ย้ำว่า ศาลฎีกาจะใช้เวลาพิจารณา 1-2 วันก็แล้วเสร็จ โดยศาลจะให้กรอกแบบฟอร์มพร้อมแนบหลักฐาน ไม่ต้องไปเบิกความขึ้นศาลตามที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งระบบนำสืบของศาลไม่ยุ่งยาก โดยจะพิจารณาจากเอกสารหลักฐานที่ยื่นมาเป็นหลัก ถ้าเช่นนั้นหลายคนหลายพรรคก็น่าจะเบาใจได้ หากมั่นใจว่าทุกอย่างได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นอันเกี่ยวข้องกับการรับรองคุณสมบัติของกกต.นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อเท่านั้น คำถามสำคัญอยู่ที่การรับรองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองมากกว่า โดยเฉพาะการถูกร้องของ พลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ ด้วยสถานะเจ้าหน้าที่รัฐและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่น่าจะได้รับการรับรอง
กรณีนี้มีการตั้งข้อสังเกตทั้งกระบวนการ วิธีการวินิจฉัย รวมไปถึงระยะเวลาที่กกต.จะดำเนินการ เพราะนั่นมันหมายถึงมาตรฐานของผู้ควบคุมการเลือกตั้ง ไม่เพียงเท่านั้น ทุกกระบวนท่าที่แสดงออกมันจะเป็นบททดสอบด้วยว่า ผู้ควบคุมการเลือกตั้งนั้นได้ดำรงตนไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมอย่างแท้จริงหรือไม่ หากมีคำถามเรื่องมาตรฐาน มันก็อาจจะหมายถึงชนวนที่จะให้เกิดวิกฤติในอนาคตได้เช่นกัน
ประเด็นคุณสมบัติของผู้นำเผด็จการที่ถูกร้อง ต้องถูกนำไปเทียบเคียงกับการมีมติสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติในทันทีทันใด เพราะจะเป็นภาพสะท้อนที่เด่นชัดว่าด้วยการกระทำและตำแหน่งแห่งหนของทั้งสองเรื่องนั้นมันมีความชัดเจนอยู่ในตัวไม่ต้องแปรความ ตำแหน่งหัวหน้าคสช.ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายแน่นอน อยู่ที่ว่ากกต.จะตีความแล้วอธิบายกับสังคมว่าไม่ได้ขาดคุณสมบัติในการถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯอย่างไร
ผลจากการวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาตินั้น มีคำถามที่น่าสนใจคำถามหนึ่งดังมาจาก พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมชาติ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กไปถึงประธานกกต.ว่า ตระหนักดีใช่ไหมว่าการตัดสินใจของกกต.ที่เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบทษช.นั้นเกิดจากความไม่มี Integrity ของพวกท่าน
คำดังกล่าวนั้น หากไปถอดความหมายในฐานะที่กกต.เป็นองค์กรตรวจสอบการเลือกตั้ง เป็นองค์กรที่ต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนส่วนใหญ่ ก็จะแปลความได้ว่า ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น หรืออันนัยหนึ่งก็คือ พูดอะไรก็ทำในสิ่งที่ได้เคยพูดไว้ ซึ่งพฤติกรรมที่ถูกเรียกเช่นนี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเป็นผู้นำและองค์กรที่ต้องวางตัวเป็นกลาง
ถ้ายึดภาษาวิชาการคงจะอธิบายได้ว่า การที่เรามี Integrity จะทำให้เราเกิดความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากคนอื่น ซึ่งทำให้คนอื่นพร้อมที่จะตามเราในฐานะที่เราเป็นผู้นำ ผู้นำหลายคนที่ทำลายความน่าเชื่อถือของตนเองลงก็ด้วยการไม่รักษาคำพูด การพูดอย่างทำอีกอย่าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้
องค์กรอย่างกกต.คงตระหนักดีอยู่แล้วว่า ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญขนาดไหน และตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้งหรือก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารของคณะเผด็จการคสช. องค์กรแห่งนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ไม่ได้แสดงออกอย่างที่ควรจะเป็น จนถูกค่อนขอดว่าเป็นคณะกรรมการไม่อยากเลือกตั้ง กลายเป็นองค์กรที่มีความเชื่อถือต่ำไปโดยปริยาย
แม้ว่าระหว่างการแบ่งเขตเลือกตั้งกกต.จะขอพึ่งใบบุญมาตรา 44 จนทำให้เกิดภาพว่ายอมสยบอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้อำนาจเต็มและต้องผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม อันจะเป็นการกอบกู้ศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมา 7 เสือกกต.ก็น่าจะต้องกล้าที่จะแสดงบทบาทให้เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้ แต่ดูทรงแล้วน่าจะเป็นเช่นนั้นยาก คงไม่ต้องอธิบายว่าเพราะอะไร
ขณะที่การเลือกตั้งงวดเข้ามา การปฏิบัติหน้าที่ของสนช.ก็ถือว่าใกล้จะหมดวาระลงไปเรื่อย ๆ การพิจารณาข้อกฎหมายต่าง ๆ ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ล่าสุด ก็เป็นร่างพ.ร.บ.ข้าวที่กำลังถูกชาวนาส่วนใหญ่ต่อต้าน มีเพียงพวกจัดตั้งที่พากันไปยกมือหนุนเท่านั้นที่เห็นด้วย ด้วยในมาตรา 22 ของกฎหมายดังกล่าว ระบุเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้หรือขายเองได้ ที่เป็นการจำกัดสิทธิชาวนาให้ต้องซื้อจากผู้ที่ขึ้นทะเบียนการค้าเมล็ดพันธุ์เท่านั้น โดยหากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในมุมของคนเสนอกฎหมายก็พยายามจะอธิบายสารพัด แต่ที่ขัดแย้งกันเองคงจะเป็นในฝ่ายบริหาร เพราะทั้ง กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ชุติมา บุญยประภัสสร รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยห่วงเรื่องการคุมเมล็ดพันธุ์ อำนาจซ้ำซ้อน กับพระราชบัญญัติพันธุ์พืชและกังวลว่าเป็นกฎหมายที่ควบคุมมากกว่าส่งเสริม
แต่อีกด้านเพจไทยคู่ฟ้าก็ออกมาแจกแจงข้อดีสารพัดปฏิเสธเรื่องการเอื้อนายทุน ขณะที่ท่านผู้นำก็ย้ำเรื่องเดิมคือการบิดเบือนข้อมูล กรณีนี้ถึงขนาดที่ 2 รัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงก็คงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะไปใส่ไฟหรือกล่าวหากันได้ง่าย ๆ อยู่ที่เจตนาของคนเสนอกฎหมายเองต่างหาก ต้องอธิบายสังคมให้ได้ทำไปเพื่ออุ้มชาวนาหรือเอื้อประโยชน์นายทุนกันแน่ ของพรรค์นี้มันปิดไม่มิดอยู่แล้วไม่ว่าจะตอแหลยังไงก็ตาม