พาราสาวะถี

ยิ่งฟังคำอธิบายยิ่งทำให้เห็นกระบวนการทำงานของกกต.ได้เป็นอย่างดีว่าดำเนินไปในรูปแบบใด ต่อกรณีการเปรียบเทียบการลงมติยุบพรรคไทยรักษาชาติ กับการพิจารณาคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ โดย พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. อ้างว่า กรณีแรกปรากฏหลักฐานให้กกต.เห็นและเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดตามมาตรา 92 ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองจริง


อรชุน

ยิ่งฟังคำอธิบายยิ่งทำให้เห็นกระบวนการทำงานของกกต.ได้เป็นอย่างดีว่าดำเนินไปในรูปแบบใด ต่อกรณีการเปรียบเทียบการลงมติยุบพรรคไทยรักษาชาติ กับการพิจารณาคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ โดย พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. อ้างว่า กรณีแรกปรากฏหลักฐานให้กกต.เห็นและเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดตามมาตรา 92 ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองจริง

ส่วนกรณีพปชร.ที่ยื่นคำร้องมาให้นายทะเบียนพรรคการเมืองหรือให้กกต.ขณะนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐาน ปรากฏแต่คำร้อง จึงต้องไปตรวจสอบหลักฐานเพื่อรวบรวมให้กกต.พิจารณา คำถามก็คือ จะไปหาหลักฐานอะไร ในเมื่อคำร้องที่มีการยื่นไปนั้นระบุชัดว่า กรณีการเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯนั้นผิดกฎหมาย เพราะเจ้าตัวยังมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่

กกต.จะไปหาหลักฐานอะไรมาแสดงว่าผู้นำเผด็จการไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ สิ่งเดียวที่ควรเร่งดำเนินการคือ ยืนยันเสียให้ชัดว่าการเป็นผู้นำที่มีอำนาจเต็มไม่เหมือนรัฐบาลรักษาการ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐและมีคุณสมบัติที่จะถูกเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกฯได้ หรือถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วแต่สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯได้มีข้อกฎหมายใดมารองรับหรือให้ได้รับการยกเว้น

ประเด็นเช่นนี้ที่เลขาฯกกต.อ้างว่าต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐาน 1-2 สัปดาห์ก่อนที่จะเสนอให้ 7 เสือกกต.นั้นถือว่าช้าเกินไป และยิ่งยึดยื้อ ยึกยัก ยิ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของกกต.เอง คนส่วนใหญ่ไม่ได้ติดใจเรื่องยุบทษช. แต่ที่ข้องใจคือในเมื่อมีการร้องในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยใช้กระบวนการตีความไม่ต้องแสวงหาหลักฐานใดมาประกอบ ทำไมจึงออกลีลาแบบนี้ นี่แหละที่เป็นต้นเหตุให้คนไม่ไว้วางใจ

ไม่ต่างกันเรื่องของการชวนแคนดิเดตนายกฯจากพรรคสืบทอดอำนาจขึ้นเวทีดีเบต ฟังคำชี้แจงจาก สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  เลขาธิการพปชร.อ้างติดขัดเรื่องข้อกฎหมายเพราะเป็นนายกฯต้องปฏิบัติหน้าที่ เกรงว่าถ้าไปขึ้นเวทีดีเบตแล้วจะเป็นปัญหา ทีอย่างนี้รีบอ้างกติกา แต่ที่พรรคการเมืองอื่นเขาตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคที่เสนอชื่อตัวเองเป็นนายกฯต่อกลับไม่ยอมพูดถึง

มิหนำซ้ำ ยังมีความพยายามที่จะหาช่องทางเพื่อให้ผู้นำเผด็จการสามารถไปช่วยพรรคของตัวเองหาเสียงได้อีกต่างหาก ไม่เห็นเกรงอกเกรงใจต่อข้อกฎหมายหรือแม้กระทั่งคำเตือนของ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรประจำรัฐบาลแม้แต่น้อย จนเจ้าตัวหัวเสียถึงขั้นบอกว่า ไม่รู้จะไปทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงให้เป็นปัญหาทำไม ต้องเข้าใจในเมื่อจุดขายอื่นไม่มี ก็ต้องใช้หัวหน้าเผด็จการนี่แหละไปเป็นตัวชูโรง

แต่ไม่ต้องกังวลว่าประชาชนจะไม่รู้จักพรรคการเมืองนี้ ถ้าย้อนกลับไปคราวที่ผู้นำเผด็จการไปลงพื้นที่ที่จังหวัดพะเยา มีประชาชนตะโกนบอกท่านผู้นำพลังประชารัฐไม่ต้องห่วง จนต้องรีบเบรกกันหัวทิ่มอ้างว่าไม่เกี่ยวเรื่องการเมือง นี่ขนาดคนบ้านนอกคอกนายังรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ในแง่ของการสร้างแบรนด์ถ้ายึดตามตำราของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจและผู้อยู่เบื้องหลังพรรคสืบทอดอำนาจต้องว่า ประสบความสำเร็จแล้ว

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าเหตุที่ต้องดิ้นกันทุกทาง คงเป็นเพราะเมื่อลงพื้นที่วัดกระแสกันตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ปรากฏการณ์เสียงดีไม่มีคะแนนน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ได้ชัดเจน ดังนั้น จึงอย่าได้แปลกใจหากจะเห็นผู้นำเผด็จการขยันเป็นพิเศษในช่วงนี้ลงพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดถี่ยิบทุกสัปดาห์ อย่าอ้างเลยว่าไม่มีวาระซ่อนเร้นเป็นการทำงานในฐานะผู้นำรัฐบาลล้วน ๆ กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา

เพียงแต่ว่า ในช่วงนี้คงไม่มีใครจะไปถือสาหาความใคร เพราะอยู่ในบรรยากาศการเลือกตั้ง ไม่ว่าประชาชน นักการเมืองและพรรคการเมือง ต่างมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในกรณีที่บางคนจุดเดือดต่ำแล้วไล่ให้ใครบางคนบางพวกไปฟังเพลงประเภทปลุกปั่นนั้น ก็คงต้องไปปรับทัศนคติกันเสียใหม่ว่าอย่าให้เสียบรรยากาศที่กำลังจะเดินไปบนถนนสายประชาธิปไตย เว้นเสียแต่จะเป็นพวกปากอย่างใจอย่างนั่นก็อีกเรื่อง

ปมร่างพระราชบัญญัติข้าวที่ฟากสนช.ทำท่าว่าจะดันทุรังผ่านเป็นกฎหมายให้ได้ ดูท่าจะออกลูกยื้อ เพราะฟังวิษณุล่าสุดเห็นสัญญาณชัด ถ้าไม่เสร็จในสมัยนี้ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่และสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เห็นจะต้องเร่งรีบกันไปเพื่ออะไร ก่อนจะออกตัวนิ่ม ๆ ว่างานนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลเผด็จการ คงต้องให้ฝ่ายที่เสนอกฎหมายและอ้างว่าฟังความเห็นชาวนามาแล้วกว่า 2 ปี รับผิดชอบไปเต็ม ๆ

ทั้งนี้ ความเห็นผ่านบทความของ นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ที่ชี้ว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายข้าวที่สนช.ผ่านความเห็นชอบวาระแรก ยังมีมาตราสำคัญบางมาตราที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพข้าวไทย อีกทั้งยังไม่มีมาตราชัดเจนเรื่องการพัฒนาอาชีพทำนาที่มั่นคง และการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตข้าว หากดันทุรังผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อวงการข้าวไทย โดยเฉพาะการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าว

ขณะเดียวกัน ได้มีการชี้จุดอ่อนของร่างกฎหมายดังกล่าวอีกหลายประการ ก่อนที่จะตบท้ายว่า หากสมาชิกสนช.ต้องการเห็นร่างกฎหมายนี้เป็นประโยชน์แท้จริงต่อชาวนา และอนาคตวงการข้าวไทย ขอความกรุณาระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาข้าวตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อเพิ่มเติมหรือแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างรอบคอบก่อนตราเป็นกฎหมาย ทิ้งประเด็นการเมือง โดยเอาผลประโยชน์ของชาวนาและการค้าข้าวเป็นหลักในการพิจารณา

นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ขอให้เพิ่มมาตราจัดตั้งกองทุนวิจัยและสร้างระบบและกลไกความร่วมมือด้านการวิจัยและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ระหว่างนักวิจัย นักส่งเสริมเกษตร 4 ฝ่ายคือ กรมการข้าว มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวนา และความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน รอดูว่าความเห็นนักวิชาการจากสถาบันที่ไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใด จะกระตุกเตือนและหยุดต่อมความกระสันที่จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ของสนช.ได้หรือไม่

Back to top button