ทางสามแพร่งของยูโรพลวัต2015

ทันทีที่นายกรัฐมนตรีกรีซประกาศในคืนวันศุกร์ว่าจะให้คนกรีกไปลงคะแนน ให้ประชามติ ว่าจะยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 5 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ หรือจะปฏิเสธ คนกรีกที่มีประสบการณ์ช่ำชอง ก็ทยอยกันออกจากบ้านไปเข้าแถวยาวเหยียดที่ตู้ถอนเงิน ATM ของธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ ตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (ตามภาพ)


ทันทีที่นายกรัฐมนตรีกรีซประกาศในคืนวันศุกร์ว่าจะให้คนกรีกไปลงคะแนน ให้ประชามติ ว่าจะยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 5 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ หรือจะปฏิเสธ คนกรีกที่มีประสบการณ์ช่ำชอง ก็ทยอยกันออกจากบ้านไปเข้าแถวยาวเหยียดที่ตู้ถอนเงิน ATM ของธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ ตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (ตามภาพ)

ถึงบ่ายวันอาทิตย์ เงินในตู้ ATM เกินครึ่งก็หมดไม่มีให้ถอนอีกต่อไป แต่คนกรีกที่มีเงินออม ก็หวังลึกๆ ว่าวันนี้ธนาคารจะเปิดทำการเพื่อให้พวกเขาแห่ไปถอนเงินปิดบัญชีเอาเงินยูโรมาถือไว้ ก่อนที่กรีซจะหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่น หรือ ดรัชม่า (drachma) แบบเดิม

ธนาคารพาณิชย์กรีกทุกแห่งยอมรับว่า ไม่มีเงินยูโรเหลือมากพอจนถึงเช้าวันจันทร์นี้ เพื่อให้ผู้ฝากเงินถอนได้ ต้องรอธนาคารกลางกรีซเอาเงินมาหมุนให้ แต่ธนาคารกรีซก็ต้องรอธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB เสียก่อน

คำถามคือธนาคารพาณิชย์จะเปิดเช้าจันทร์นี้ได้หรือไม่ เป็นประเด็นใหญ่ เพราะถ้าหากเช้าจันทร์นี้ธนาคารแห่งยุโรปประกาศว่าจะไม่อนุญาตให้ธนาคารกลางกรีซใช้วงเงินช่วยเหลือสภาพคล่องฉุกเฉิน หรือ emergency liquidity assistance ตามเงื่อนไขของชาติสมาชิกยูโรโซนที่กำหนดไว้ ธนาคารพาณิชย์กรีซจะไม่สามารถเปิดเพื่อให้ผู้ฝากเงินถอนได้ ต้องปิดทำการจนกว่าจะมีเงินมาให้ผู้ฝากถอนได้เพียงพอ

สถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ เป็นผลพวงต่อเนื่องของความล้มเหลวจากการที่รัฐบาลกรีซไม่สามารถทำให้ชาติเจ้าหนี้หรือ ทรอยก้า เชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถรักษาวินัยทางการคลังได้ตามที่กำหนดเอาไว้ในสัญญาเมื่อ 4 ปีก่อน จนทำให้ทรอยก้าตัดสินใจยกเลิกการจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้กรีซเอามาชำระกองทุนการเงินระหว่างประเทศ  4 งวดของเดือนนี้ ภายในวันที่ 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้

อีกมุมหนึ่ง ภายนอกประเทศกรีซ ชาติสมาชิกยูโรโซนต่างก็หยิบยกประเด็นว่าด้วยแผนการรักษาค่าเงินยูโรเมื่อปราศจากกรีซต่อไปกันอย่างจริงจัง 

แผนดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว เพราะเมื่อ 3 ปีก่อน มีการพูดถึงแผนลับของกลุ่มศึกษา 12 คนในทรอยก้า เรียกว่า Plan Z ที่ระบุว่าในกรณีกรีซต้องออกจากการใช้เงินยูโร จะมีขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่านกลไกทางการเงิน เพื่อให้เงินสกุลใหม่เคลื่อนตัวเข้ามาแทนยูโรในกรีซภายในเวลาไม่เกิน 6 เดือน รวมทั้งการหามาตรการรักษาความแข็งแกร่งของเงินยูโร 

แผนนี้ หลายคนเชื่อว่าได้ถูกนำมาทดสอบเบื้องต้นไปบ้างแล้วอย่างเงียบเชียบ ก่อนที่ผู้นำทรอยก้าจะยื่นคำขาดเพื่อตัดสินใจ “ลอยแพ” กรีซ ก่อนที่จะถึงเวลาวันเสาร์ที่ผ่านมาอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำ

นักการเงินทั่วไปเชื่อกันว่า ผู้นำทรอยก้าได้ร่วมกันตัดสินใจให้บทเรียนแก่รัฐบาลกรีซตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมากันแล้ว โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี อังเกล่า แมร์เคิล และประธานาธิบดี ฟรองซัวร์ ออลองก์ ซึ่งพูดชัดเจนในสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างเย็นชาว่า ข้อเสนอสุดท้ายของทรอยก้านั้น “ใจกว้างอย่างที่สุด” แล้ว และจะ “ไม่ยอมให้กรีซแบล็กเมล์” อีก 

ทางออกในการจัดลงประชามติของรัฐบาลกรีซ ถูกตีความว่าเป็นการโยนความรับผิดชอบทางการเมืองจากความล้มเหลวของพรรคไซรีซ่า ในการหาทางเลือกให้กรีซ จนเข้าสู่มุมอับเสียเองเมื่อกำลังจะกลายเป็นชาติแรกในรอบ 35 ปีของโลกต่อจากแซมเบีย ที่เบี้ยวหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ 

การลงประชามติ ทำให้ประชาชนกรีซเหลือทางเลือกที่เลวร้ายกว่าเดิม บนทางสามแพร่งเท่านั้น คือ 1) ทางเลือกเดิมที่จะหมดเวลาในอีกภายใน 2 วันนี้ 2) ทางเลือกอยู่ในยูโรโซนต่อไปด้วยเงื่อนไขเลวร้ายกว่าเดิมคือขึ้นภาษีใหม่และตัดลดสวัสดิการสังคมลง 3) ออกจากยูโรโซนไปเผชิญชะตากรรมกับค่าเงินสกุลใหม่ ที่ไม่รู้ชะตากรรมล่วงหน้า

ไม่ว่าจะเลือกอย่างไหน หายนะทางเศรษฐกิจของกรีซในเฉพาะหน้า จะเลี่ยงไม่พ้น

นักเศรษฐศาสตร์กรีกเคยสร้างแบบจำลองกรณีกรีซออกจากยูโรโซนในระยะ 1 ปีว่า เงินเฟ้อของประเทศจะพุ่งขึ้น 40-50% จากการเอาเงินสกุลท้องถิ่นใหม่มาใช้ ซึ่งหากจะสกัดเงินเฟ้อได้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางจะต้องพุ่งไปสูงถึงระดับ 30-40% ต่อปี ซึ่งต้นทุนการเงินนี้ จะทำให้คนล้มละลายและหมดปัญญาชำระหนี้มหาศาล 

สถานการณ์ดังกล่าวด้านหนึ่งทำให้รัฐบาลล่มสลายหลายรัฐบาล การประท้วง และความวุ่นวายทางสังคมตามมามหาศาล แต่ก็มีข้อดีอีกด้านซ่อนไว้คือธุรกิจท่องเที่ยวจะเฟื่องฟู และส่งออกจะรุ่งเรือง ขณะที่เงินที่ไหลออกระยะสั้นจะถูกทดแทนด้วยเงินลงทุนซื้อกิจการจากต่างประเทศเข้ามามหาศาล ช่วยให้ฟื้นตัวในระยะกลางและยาวต่อไป

อีกมุมหนึ่ง ยูโรโซนที่ปราศจากกรีซ ก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีกว่าเดิมมากนัก เพราะว่าไม่ว่ากรีซจะอยู่หรือออกไป ค่าเงินยูโรในช่วงเปลี่ยนผ่าน 2-3 ปี จะต้องตกต่ำหรือเสื่อมค่าลงอย่างมากมาย แต่จะฟื้นตัวขึ้นในระยะยาว

นักวางกลยุทธ์ตลาดเงินเชื่อว่า หลังจากกรีซหลุดออกจากยูโรโซน ค่าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 0.9 ยูโร จะเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะค่าเงินยูโรที่เสื่อมค่าลง จะทำให้ใน 1 ปีข้างหน้า ค่าเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐจะมีค่าเท่ากับ 1.3-1.5 ยูโร 

แม้การคาดเดาดังกล่าวจะค่อนข้างสุดขั้วไปบ้าง แต่คนก็คล้อยตามไม่น้อยว่าค่าเงินยูโรต้องเสื่อมค่าลงไม่มากก็น้อย สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินของโลกอย่างมาก ส่วนจะพัฒนาขึ้นเป็นสงครามค่าเงินระดับโลกด้วยหรือไม่ ยังคงต้องจับตาดู

การถอนตัวจากยูโรโซน คือรอยด่างสำคัญของสหภาพยุโรปในการสร้างองค์กรร่วมมือกันของยุโรปตะวันตกที่มีเอกภาพ เสถียรภาพ และมั่งคั่งร่วมกัน ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นทางออกที่มีเหตุมีผล เพราะเป็นการตัดอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต้องอยู่ในสภาพ “เดินสามขาอย่างทุลักทุเล” อีกต่อไป 

Back to top button