มั่นคงเหนือปากท้อง

ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแบบไม่มีเสียงค้าน 133 ต่อ 0 งดออกเสียง 16 รวม สนช.ที่เข้าประชุม 149 คน ขยันจัง ทั้ง ๆ ที่ใกล้หมดวาระ ยังมาประชุมได้เกินกึ่งหนึ่ง จากสมาชิกที่มีทั้งหมด 242 คน


ทายท้าวิชามาร  :  ใบตองแห้ง 

ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแบบไม่มีเสียงค้าน 133 ต่อ 0 งดออกเสียง 16 รวม สนช.ที่เข้าประชุม 149 คน ขยันจัง ทั้ง ๆ ที่ใกล้หมดวาระ ยังมาประชุมได้เกินกึ่งหนึ่ง จากสมาชิกที่มีทั้งหมด 242 คน

ก่อนหน้านั้น กป.อพช.เพิ่งนำเครือข่าย NGO แต่งดำไปเรียกร้องให้ สนช.ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ให้ลาออกทันทีเพื่อประหยัดเงินภาษีเดือนละ 50 ล้านบาท แต่ประธาน สนช.อ้างว่า ลาออกไม่ได้เพราะจะขาดความเป็นรัฐในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีสมดุลอำนาจ 3 ฝ่าย คือนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ฟังแล้วก็ยังขำ ๆ สภาแต่งตั้งยกมือเป็นฝักถั่วนี่หรือ คือสมดุลอำนาจ

กฎหมายฉบับนี้ถูกวิพากษ์อย่างหนักจากภาคประชาสังคม ว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล อ้างเหตุจำเป็นเร่งด่วนและเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ เพียงสงสัยว่าทำผิด ก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตรวจค้นยึดข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล

แน่ละ กระทรวงดีอี เจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญ ก็ดาหน้าออกมาปกป้องว่ากฎหมายนี้มีความจำเป็น ใช้ป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไม่เห็นจะละเมิดสิทธิเสรีภาพตรงไหนเลย แต่ถามว่าระหว่างผู้เชี่ยวชาญแบบ พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ที่ออกมาด่ากราด NGO กับผู้พิพากษาอาวุโส ศรีอัมพร สาลิคุปต์ ที่ชี้ว่าจะกระทบสิทธิมนุษยชน และพาประเทศถดถอย ไม่มีใครกล้ามาลงทุน ประชาชนควรเชื่อใครมากกว่ากัน

ที่แน่ ๆ ชาวเน็ตย้อนความหลัง ตอนผ่านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็พูดแบบนี้แหละ มีไว้ป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ แฮ็กกิ้ง ฟิชชิง โกงเงิน ฯลฯ ไม่ได้มุ่งใช้เล่นงานทางการเมืองหรือความผิดหมิ่นประมาท แล้วของจริงเป็นไงล่ะ พรรคอนาคตใหม่จัดรายการออนไลน์วิพากษ์พลังดูด ก็ถูก คสช.แจ้งเอาผิดฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบ

ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายหายหัวหมด ไม่มีซักตัวออกมาเถียงแทนว่า ข้อมูลเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพ์ ควรจะหมายถึงการเผยแพร่ไวรัสหรือแฮ็กระบบเท่านั้น ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งถ้าผิดก็ควรเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ฉะนั้นอย่าเถียงเลยว่า กฎหมายนี้จะไม่ใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ทางความคิด ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจ เพราะขณะที่ภาคธุรกิจไอทีในประเทศออกมาเถียงแทนรัฐ Asia Internet Coalition (AIC) ตัวแทนของกูเกิล, แอปเปิล, อเมซอน, ไลน์ ก็แถลงแสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงกับกฎหมายฉบับนี้ โดยชี้ว่าปัญหาของ พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์คือการให้น้ำหนักกับ “ความมั่นคงของชาติ” ซึ่งนิยามไม่แน่ชัด แทนที่จะมุ่งเน้นจัดการความเสี่ยงทางไซเบอร์

ทำไมกฎหมายฉบับนี้จึงผ่านออกมาโดยไม่แยแสเสียงค้าน ไม่สนใจผลกระทบ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ต้องผ่านให้ได้ก่อน สนช.หมดวาระ

ก็เพราะมันเป็นกลไกในการสร้างรัฐกึ่งเผด็จการ ซึ่งจะดำรงอยู่ต่อไปแม้มีเลือกตั้ง ควบคู่กับการเลือกนายกฯ โดย 250 ส.ว.

รัฐกึ่งเผด็จการที่วางโครงสร้างในยุค 5 ปี คสช.คือรัฐราชการเป็นใหญ่ ที่ถือเอา “ความมั่นคงของชาติ” เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ใช่แค่เหนือสิทธิเสรีภาพ แต่สำคัญกว่าเศรษฐกิจปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน

นักวิชาการบางคนเทียบว่า กฎหมายไซเบอร์คือโมเดลจีนที่ใช้ปราบฝ่ายประชาธิปไตย พูดอย่างนี้อาจมีคนเข้าใจผิด หลงใหลได้ปลื้มระบอบจีนว่าทำให้ประเทศเจริญ แต่ความจริง มีปัจจัยที่แตกต่างกันมากมาย เช่น พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีรากฐานอุดมการณ์เพื่อประชาชน แต่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม แล้วกลับมาตั้งลำใหม่อาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐ ขณะที่ชนชั้นนำภาครัฐของไทยไม่ได้มีเอกภาพไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ที่สำคัญ พรรคคอมมิวนิสต์จีนแม้ใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่ก็ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ตัวเองครองอำนาจอยู่ได้บนความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงของอำนาจ กับเศรษฐกิจปากท้อง จึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

นี่ตรงกันข้ามกับรัฐไทย ซึ่งถือเอา “ความมั่นคงของชาติ” เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าอุดมการณ์อนุรักษนิยมล่มสลาย ก็คือ “สิ้นชาติ” สิ้นความเป็นไทย ยอมให้ประเทศล่มสลายเสียยังดีกว่า

อุดมการณ์อนุรักษนิยมไทย ทำได้ถึงขนาดยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน ปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ ขัดขวางเลือกตั้ง รัฐประหาร 2 ครั้งทำให้เศรษฐกิจพังพินาศเสียหายหลายแสนล้านมาแล้ว สำมะหาอะไรกับการออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ต่างชาติไม่มาลงทุนก็ไม่เห็นเป็นไร ชาติไทยสำคัญกว่า

 

Back to top button