3 ข่าวร้าย ทุบหุ้นสัปดาห์นี้

จู่ ๆ ข่าวร้ายก็ท่วมตลาดอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ข่าวเดียว แต่ตั้ง 3 ข่าวใหญ่ ทำให้ภาวะกระทิงที่เริ่มอาละวาดสัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วเอเชีย พลิกผันอีกครั้ง


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

จู่ ๆ ข่าวร้ายก็ท่วมตลาดอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ข่าวเดียว แต่ตั้ง 3 ข่าวใหญ่ ทำให้ภาวะกระทิงที่เริ่มอาละวาดสัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วเอเชีย พลิกผันอีกครั้ง

2 ข่าวแรกมาจากต่างประเทศ ข่าวสุดท้ายเกิดขึ้นจากหน่วยงานรัฐไทยเอง แถมเจาะจงมุ่งเป้าตลาดหุ้นไทยโดยตรง

1) ประธานาธิบดีทรัมป์ยื่นข้อเสนอล่าสุดให้จีนยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรทั้งหมดจากสหรัฐฯ แลกกับการที่สหรัฐฯ จะไม่ขึ้นภาษีจีน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

2) ศาลแคนาดาเตรียมส่งผู้บริหาร Huawei ไปยังสหรัฐฯ ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องขอของศาลนิวยอร์ก สร้างความไม่พอใจต่อจีนมาก อาจจะถึงขั้นที่ทำให้ สี จิ้นผิง ยกเลิกการพบทรัมป์เพื่อแสดงปฏิกิริยาตอบโต้

3) ผู้บริหาร สศช. หรือ “สภาพัฒน์” กินยาผิดซอง ออกมาเสนอแนะทางแก้ความเหลื่อมล้ำเพื่อลดจำนวนคนรวย 10% ที่มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็น 35.5% ของคนทั้งประเทศ ด้วยการทำหลายอย่างรวมทั้งเก็บภาษี กำไรจากการซื้อขายหุ้น หรือ “Capital Gains Tax”

ข่าวแรก ทำให้บรรดานักลงทุนโลกสวยพากันหงายเงิบไปตาม ๆ กันหลังจากที่ดีใจกันมาได้ 2 วัน เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วเพราะทรัมป์ประกาศใน Twitter โพสต์ว่าเขาจะชะลอการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ในวันที่ 1 มีนาคม ในขณะเดียวกันทรัมป์ได้อ้างถึงความคืบหน้าในการเจรจาการค้าซ้ำแล้วซ้ำอีกและเสนอการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เพื่อบรรลุข้อตกลงทางการค้า แต่ข้อเสนอล่าสุด

สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนคิดเป็นมูลค่าถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 โดยเฉพาะถั่วเหลืองซึ่งเป็นสินค้าเกษตรอันดับ 1 มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์

ข้อเสนอดังกล่าว มุ่งสร้างคะแนนนิยมในหมู่เกษตรกรและเจ้าของฟาร์มในสหรัฐฯ ที่ถือเป็นฐานเสียงหลักของพรรครีพับลิกัน และการที่ ทรัมป์ เปิดสงครามการค้ากับจีนช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบหนัก เนื่องจากจีนได้สั่งรีดภาษีแก้แค้นเอากับถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง เนื้อหมู และอื่น ๆ ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรของสหรัฐฯ ส่งไปขายในจีนได้น้อยลง

ข้อเสนอดังกล่าว ยากที่จะทำให้จีนขานรับได้ทั้งหมด เพราะหากจีนยอมสหรัฐฯ จะต้องยอมชาติอื่น ๆ ด้วย

ข่าวต่อมา การที่กระทรวงยุติธรรมแคนาดาในวันศุกร์ (1 มี.ค.) เริ่มต้นกระบวนการส่งตัว เมิ่ง หว่านโจว ลูกสาวผู้ก่อตั้งและ CFO ของหัวเหว่ย ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐฯ เพื่อเผชิญคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับคำกล่าวหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เป็นเรื่องเปราะบางอย่างมาก

CFO ของหัวเหว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีน และน่าจะเป็นของโลกปีนี้ ถูกจับขณะที่เธอกำลังเปลี่ยนเครื่องบินในแวนคูเวอร์ ตามคำร้องขอของวอชิงตัน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ก่อนได้รับอนุมัติประกันตัว ด้วยวงเงิน 7.5 ล้านดอลลาร์ ยึดหนังสือเดินทาง และอยู่ภายใต้ระบบตรวจติดตามทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมแคนาดาได้ออกหนังสือมอบอำนาจในการดำเนินการ เริ่มกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการในคดีของนางสาวเมิ่ง หว่านโจว การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นตามหลังการพิจารณาทบทวนหลักฐานในคดีนี้อย่างละเอียดและแข็งขัน ซึ่งพบว่ามีหลักฐานเพียงพอ มีเหตุอันควร

หากว่าศาลออกคำสั่งส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน อัยการสูงสุดจะเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะส่งมอบตัวเธอให้กับทางการสหรัฐฯ หรือไม่

ข่าวทั้งสองอยู่ไกลตัวคนไทยและนักลงทุนไทยมาก แต่ข่าวสุดท้ายใกล้ตัวจริงกับข้อเสนอเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ของนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. หรือสภาพัฒน์ ที่ออกมาอ้างเหตุความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ว่า แม้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (ปี 2531-2560) สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค โดยปี 2560 ประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด มีส่วนแบ่งรายได้เพียง 12% ขณะที่ประชากร 10% ที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งรายได้สูงถึง 35.5%

สาเหตุของความเหลื่อมล้ำมาจาก 5 สาเหตุ ที่รู้ ๆ กันอยู่มายาวนาน ชนิด “พูดทีไร ถูกทุกที” คือ 1. โครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังคงเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน 2. โครงสร้างทางภาษีที่ไม่สนับสนุนการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม 3. โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนของคนในชนบทยังมีอยู่อย่างจำกัด 4. การกระจายตัวของทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ และ 5. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังมีความเหลื่อมล้ำ

หากพิจารณาในแง่สินทรัพย์ทางการเงินและการถือครองที่ดิน พบว่าสินทรัพย์เหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยในปี 2561 บัญชีเงินฝากที่มีวงเงินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียง 111,517 บัญชี หรือคิดเป็น 0.1% ของบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากสูงถึง 52.8% ของวงเงินฝากทั้งหมด ขณะที่บัญชีเงินฝากขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท มี 84 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 99.9% ของบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากเพียง 47.2% ของวงเงินฝากทั้งหมด

เช่นเดียวกับการถือครองที่ดิน ซึ่งการศึกษาของ ดร.ดวงมณี เลาหกุล (2556) พบว่าในปี 2555 กลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10% แรก มีการถือครองที่ดิน 94.86 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วน 61.5% ของที่จำนวนที่ดินทั้งหมด ขณะที่กลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำสุด 10% แรก มีการถือครองที่ดินเพียง 68,330 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนการถือครองที่ดิน 0.1% หรือมีความแตกต่างกันถึง 853.6 เท่า

สภาพัฒน์จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล 6 ข้อ ได้แก่

  1. การสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างบูรณาการ
  2. การบูรณาการฐานข้อมูลด้านความยากจน และนำมาใช้ในการช่วยเหลือประชากรกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจงอย่างเป็นรูปธรรม
  3. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ
  4. การกำหนดนโยบายการคลังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ตลอดจนปรับโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเชิงบูรณาการและเชิงพื้นที่ที่มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
  5. การเพิ่มมาตรการในการยกระดับรายได้ โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเป้าหมาย 40% ที่มีรายได้น้อยที่สุด โดยการพัฒนาทักษะความชำนาญ การจัดสรรเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอย่างทั่วถึง และส่งเสริมทักษะการบริหารเงินเพื่อให้สามารถจัดการรายได้ เงินทุน และหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
  6. การเพิ่มมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม

ในข้อเสนอที่ 4 มีการสอดแทรกพิจารณาการจัดเก็บภาษีกำไรส่วนเกินทุน (Capital Gains Tax) ซึ่งเคยมีคนเสนอมาหลายครั้ง เสนอทีไรหุ้นร่วงกราวรูดหลายวันทุกครั้ง

อันที่จริง เรื่องกำไรจากการซื้อขายหุ้นหรือเรียกทางการว่า การจัดเก็บภาษีกำไรส่วนเกินทุนพูดกันมายาวนานแล้ว แต่ไม่เคยมีการลงมือกระทำ แม้จะมีคนอ้างว่า ภาษีดังกล่าวเป็นการสร้างความยุติธรรมทางสังคมเพราะเงินได้จากทุนและทรัพย์สินนั้น มากเกินกว่าเงินได้จากน้ำพักน้ำแรง ของคนทำงานและผู้ประกอบการ (ซึ่งพูดไปก็ไม่ผิด) และต้องการให้รื้อโครงสร้างการจัดเก็บภาษีจากเดิมขณะนี้มี 8 ประเภท ตามมาตรา 40 เสียใหม่

ปัญหาคือ การเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น มีประเด็นสำคัญคือ ถ้านักลงทุนขาดทุนจากการซื้อขายหุ้น ต้องคืนภาษีให้นักลงทุนในฐานที่เป็น capital loss ซึ่งในทางปฏิบัติยุ่งยากมาก ทำให้ประเทศที่มีตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในโลกไม่เก็บภาษีส่วนนี้

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าการซื้อขายหุ้นไม่มีการเสียภาษีเพราะว่าในการซื้อขายหุ้นของนิติบุคคล ต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย จะยกเว้นเฉพาะบุคคลธรรมดา แต่บุคคลธรรมดาก็จะเสียค่าใช้จ่าย ดังนี้ 1. ค่านายหน้า (Commission) ตามอัตราที่โบรกเกอร์กำหนด 2. ค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ฯ (Trading Fee) 0.005% 3. ค่าธรรมเนียมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing Fee) 0.0018% 4. นำข้อ 1+2+3 = X   และ 5. ข้อ 4 ได้เท่าไหร่ + VAT 7% คือค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ข้อเสนอของสภาพัฒน์ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่ากระทรวงการคลังจะเอาด้วยหรือไม่ ก็มีผลทางลบต่ออารมณ์คุณตลาดในระยะสั้น ดังนั้นการที่นักลงทุนจะขายหุ้นทิ้งเพราะเรื่องนี้ ก็ไม่ไร้เหตุผลอะไร

ต้องดูว่า แนวรับของ SET ที่ 1,630 จุด จะรับไหวหรือไม่ กับข่าวร้ายที่โถมเข้ามาพร้อมกัน อยู่ที่ว่าจะซึมซับข่าวร้ายดีเพียงใด

Back to top button