พาราสาวะถี
วันนี้ 5 มีนาคม วันนักข่าว พิธีกรรมรำลึกและการให้ความสำคัญขององค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องก็เป็นไปโดยปกติเหมือนทุกปี แม้ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบวิชาชีพจะถูกคุกคามหรือปิดกั้นด้วยอำนาจวิเศษและกฎหมายพิเศษอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ไม่แสดงออกว่าต่อต้าน แต่สิ่งที่ทำกันมันยังไม่มากพอที่จะบอกได้ว่ามันคือการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของผู้ที่ประกอบวิชาชีพที่ได้รับการยกให้เป็นฐานันดรที่ 4 ในสังคม
อรชุน
วันนี้ 5 มีนาคม วันนักข่าว พิธีกรรมรำลึกและการให้ความสำคัญขององค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องก็เป็นไปโดยปกติเหมือนทุกปี แม้ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบวิชาชีพจะถูกคุกคามหรือปิดกั้นด้วยอำนาจวิเศษและกฎหมายพิเศษอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ไม่แสดงออกว่าต่อต้าน แต่สิ่งที่ทำกันมันยังไม่มากพอที่จะบอกได้ว่ามันคือการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของผู้ที่ประกอบวิชาชีพที่ได้รับการยกให้เป็นฐานันดรที่ 4 ในสังคม
คงจะหวังอะไรได้ยากในบริบทที่การเมืองว่าด้วยเรื่องอำนาจในการปกครองประเทศ ยังเต็มไปด้วยอคติ ความเกลียดชัง มิหนำซ้ำ ในแวดวงยังมีพวกโจรใส่สูทสมคบคิดกับสื่อโจร ใช้หัวโขนที่มีผนวกเข้ากับการถือหางจากฝ่ายกุมอำนาจ ช่วยกันนำเสนอประเด็นเรื่องราวที่เห็นได้ชัดว่า เป็นการแบ่งเขาแบ่งเรา สร้างความแตกแยก ขัดกับเจตนารมณ์ของคนที่เข้ามายึดอำนาจเมื่อปี 2557 แต่เพื่อการสืบทอดจึงปล่อยให้ทุกอย่างเดินกันอย่างสบายใจเฉิบ
สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องของสำเหนียก ความสำนึกในวิชาชีพและจรรยาบรรณของคนที่อ้างตัวว่าเป็นสื่อ ในเมื่อปราศจากความละอายเสียแล้ว ก็ย่อมที่จะยัดเยียดอะไร ยังไงก็ได้ให้ผู้รับสาร ยิ่งมีนายทุนที่ผูกตัวเองเข้ากับอำนาจสืบทอดยิ่งไปกันใหญ่ เห็นได้ชัดจากกรณีของ อรวรรณ (กริ่มวิรัตน์กุล) ชูดี ผู้ประกาศข่าวช่อง 9 ที่ถูกถอดจากการจัดดีเบต ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ
วันรุ่งขึ้นนอกจากการปฏิเสธของฝ่ายบริหารแล้ว ยังมีสื่อในเครือข่ายแมวเทาออกมากล่าวหาเธออย่างสาดเสียเทเสีย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีเบื้องหลังที่ใครก็รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่ใช้หน้าฉากของความเป็นสื่อมาเล่นงานเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน เรียกได้ว่ามันเป็นสันดานเหมือนอย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับเคยว่าไว้ก็ไม่ผิด เมื่อจิตสำนึกต่ำ มีผลประโยชน์มาครอบงำ มันจึงทำให้การแสดงความคิดเห็นเต็มไปด้วยความโสมม
อย่างที่บอกคำชี้แจงของผู้บริหาร มีหลายวรรคตอนที่ต้องขีดเส้นใต้ กรณีนี้คงจบไปแบบไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ความเห็นและคำขอบคุณที่อรวรรณโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวนั้น ยังเป็นโจทย์ให้กับสมาคมวิชาชีพสื่อขบคิดกันต่อไปว่าจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากเหล่านี้อย่างไร ความหมายของคำว่าให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์โดยขอให้กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาบ่งบอกอะไรได้ชัดเจน
ตามมาด้วยสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องในการผลิตรายการที่อรวรรณถูกสั่งปลดได้เผชิญและรับรู้มีความแตกต่างจากสิ่งที่มีการชี้แจงจากผู้บริหาร แต่เจ้าตัวก็เลือกที่จะจบเพื่อไม่ให้เกิดการขยายความขัดแย้งอีกต่อไป เช่นเดียวกับการตอกย้ำความเป็นจริงที่ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งล้วนมีความเข้าใจต่อความเป็นสื่อของรัฐ ในแง่ของการตอบสนองภารกิจรัฐมากกว่าต่อภารกิจประชาชนเสมอ
ได้ฤกษ์แล้วว่าจะขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ที่โคราชพื้นที่ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตัวว่าเป็นบ้านเกิด ซึ่งนั่นไม่ได้สำคัญหรือมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง ทุกอย่างที่ท่านผู้นำจะพูดในวันที่ 10 มีนาคมนี้ต่างหากคือจุดชี้วัดว่าจะขายอะไรเพื่อซื้อใจประชาชน มาถึงตรงนี้ไม่ต้องพูดถึงกันแล้วว่า หัวหน้าคสช.พูดอะไรได้หรือไม่ได้
ทุกอย่างเมื่อผู้คุมกติกาที่กลัวการถูกปลดด้วยมาตรา 44 ฟันธงว่าทำได้ ในแง่กฎหมายแทบจะไม่มีความหมายใด ๆ ก็ขนาดแค่คำว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐยังออกตัวแรงและใช้วิธีการอธิบายกันชนิดที่ใครฟังเป็นต้องส่ายหน้า แล้วเรื่องอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนี้จะต้องไปตีความหรือถามหาความถูกต้องให้เมื่อยตุ้มกันอีกทำไม
ถูกแล้วที่มีการพูดว่าเลือกตั้งหนนี้มีแค่สองแนวทางคือ เอากับไม่เอาประยุทธ์ หรืออีกนัยคือ ฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ ส่วนพวกที่อ้างประชาธิปไตยแต่ไปพินอบพิเทาเผด็จการก็อย่าได้เที่ยวไปแถอะไรให้ชาวบ้านเขาเอือมระอาอีก ในยุคที่คนเข้าถึงสื่อได้ง่ายแค่พริบตา ไม่ต้องมีใครไปชี้นำสั่งสอน เพราะทุกคนรู้กันหมดว่าอะไรเป็นอะไร
ทุกสิ่งที่เตรียมการกันมาไม่ว่าจะเตรียมการรัฐประหาร 6 เดือน จนถึงการร่างกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ เตรียมการตั้งพรรคกระทั่งมาถึงบทสุดท้ายที่ให้ผู้นำเผด็จการขึ้นเวทีปราศรัยได้ ท้ายที่สุดมันอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนในวันที่ 24 มีนาคม ถ้าทุกอย่างโปร่งใส เป็นธรรม อาจบอกได้ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็อาจจะราบรื่นได้ แต่ถ้าไม่ใช่ไม่ต้องถามว่าแล้วอะไรรออยู่ข้างหน้า
ยังแก้ปัญหากันไม่จบกับการบริหารจัดการฐานเสียงของพรรคไทยรักษาชาติ ที่จะถูกสั่งยุบพรรคโดยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 มีนาคมนี้ เพราะด้วยรูปแบบที่ทำกันไว้ในพื้นที่แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหากพรรคถูกยุบ ไม่ได้มีผู้สมัครจากพรรคสำนักงานใหญ่อย่างเพื่อไทยส่งชิงชัยด้วย คำถามจึงตามมาว่าแล้วจะจัดสรรปันส่วนคะแนนที่เตรียมการกันไว้ไปให้พรรคการเมืองใด
อย่าโลกสวยว่าไปชี้นำประชาชนได้อย่างไร ความเป็นจริงที่รู้กันและทำกัน นอกจากฐานคะแนนที่นิยมชมชอบแล้ว ฐานคะแนนจัดตั้งต้องมีกันทุกพรรคจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่กำลัง ศักยภาพของหัวคะแนนที่มี ด้วยเหตุนี้เมื่อไทยรักษาชาติถูกยุบ จึงเกิดการหารือกันว่าจะเทคะแนนไปให้พรรคใด อนาคตใหม่ กับ เสรีรวมไทย ที่ดูเหมือนแรง คำถามตัวโตสำหรับผู้มีอำนาจของเพื่อไทยและทษช.คือ หัวหน้าของสองพรรคนี้ไว้ใจได้และคุมได้หรือเปล่า
สิ่งที่แสดงออกกันมาโดยตลอดเป็นตัวบ่งบอกชัดเจน พรรคที่เหลือและแข็งแรงมากพอคือเพื่อชาติ ด้วยการชูความเป็นพรรคของคนเสื้อแดงชัดนั่นประการหนึ่ง แต่อุปสรรคสำคัญคือกองเชียร์พรรคอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ ที่แม้ภายนอกอาจจะมองว่ามีปัญหากับนายใหญ่แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น ปัญหาเวลานี้อยู่ที่การไม่ลงรอยกับ ยงยุทธ ติยะไพรัช กองเชียร์อีกรายของพรรคต่างหาก
เหตุเกิดตั้งแต่หลังการยื่นบัญชีผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จนกระทั่งการลาออกจากพรรคของ พันตำรวจโทสมชาย เพศประเสริฐ ทั้งหมดเป็นเรื่องของคนที่หวังประโยชน์ทุกเม็ดทุกดอกกับผู้ที่เดินเกมการเมืองแบบเต็มที่ไม่มีการถามถึงผลตอบแทน สุดท้ายกลายเป็นเกมเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด เคลียร์กันหลายรอบแต่ไม่จบ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายเผด็จการตีอกชกตัว เพราะการรบถ้าศัตรูแตกแยกกันภายใน ก็เห็นชัยชนะอยู่รำไรแล้ว