ยุคทองมนุษย์เงินเดือนภาครัฐไทย

วิวาทะระหว่างรมว.คลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กับ ผู้บริหารแบงก์ชาติ และ กนง. เรื่องขึ้นดอกเบี้ย ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นประเด็น "สองคนยลตามช่อง"


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

วิวาทะระหว่างรมว.คลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กับ ผู้บริหารแบงก์ชาติ และ กนง. เรื่องขึ้นดอกเบี้ย ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นประเด็น “สองคนยลตามช่อง”

ในทางเศรษฐศาสตร์ ความไม่ลงร่องระหว่างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ (ที่แสดงผ่านอัตราดอกเบี้ย) เป็นปัญหา “คนละด้านของเหรียญ” มาโดยตลอด จะบอกว่าเป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจทุนนิยมเลยก็คงไม่ผิด แม้จะไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด

โดยทั่วไป เมื่อเศรษฐกิจเติบโตดี มีการผลิต (วัดจากดัชนีผลผลิตทั้งหลาย) มีการค้าขายคึกคัก มีการจ้างงานสูง จะมีแนวโน้มเกิดเงินเฟ้อ 2 ด้านตามมาคือ เงินเฟ้อจากอุปสงค์เพิ่ม และเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตเพิ่ม จากหลายปัจจัยพร้อมกันเช่น ค่าแรงสูงขึ้น กำลังซื้อประชาชนเพิ่ม ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นรุนแรง และปริมาณเงินในท้องตลาดเพิ่มขึ้น

ระดับเงินเฟ้อที่มากกว่า 7% ต่อปี ถือว่าอันตรายหากควบคุมไม่ได้ แต่ระดับเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า 3% ก็ส่งสัญญาณลบฝั่งตรงข้ามว่าอาจจะเกิดภาวะเงินฝืดหรือกับดักสภาพคล่องได้

โดยภารกิจ การกำกับดูแลเงินเฟ้อด้านสินค้า เป็นหน้าที่รัฐบาลที่มีหลายกระทรวงดูแลเช่นพาณิชย์ อุตสาหกรรม เกษตร คมนาคม ท่องเที่ยว และมหาดไทย ส่วนการกำกับดูแลด้านปริมาณเงินเป็นภารกิจของธนาคารกลางผ่านการควบคุมสินเชื่อสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ย และเครื่องมืออื่น ๆ

ผลพวงของเงินเฟ้อที่ตกเป็นภาระกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกัน สำหรับพ่อค้า และภาคบริการ เป็นผลบวกแน่นอน แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนและรับจ้างรายวันทั้งหลายแหล่ จะเป็นผลร้ายเพราะรายได้วิ่งไม่ทันรายจ่ายที่พุ่งแรงกว่า ทำให้รู้สึกยากจนลง

มนุษย์เงินเดือนกลุ่มที่ได้รับผลพวงจากเงินเฟ้อรุนแรงสุดคือมนุษย์เงินเดือนในภาครัฐ เพราะรายได้จะเพิ่มช้ากว่าเงินเฟ้อเสมอ ยิ่งในยามที่มีข่าวว่าจะปรับเพิ่มรายได้ข้าราชการไม่ว่าเรื่องอะไร ราคาสินค้าในท้องตลาดจะพุ่งแรงกว่าอัตราเพิ่มของรายได้ปรับใหม่เสมอ ผลลัพธ์คือยิ่งเงินเฟ้อ คนกลุ่มนี้ยิ่งยากจนลงโดยเปรียบเทียบ เข้าสู่ภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง

หากไม่นับข้าราชการบางคนที่สามารถหารายได้พิเศษเบี้ยบ้ายรายทางจากการทำงานทั้งใต้โต๊ะ และอื่น ๆ (เรียกว่า​ Gift Economy) และไม่มีเงินออมนำไปลงทุนอย่างอื่น ถือว่ามนุษย์เงินเดือนภาครัฐเป็นเหยื่อและศัตรูหมายเลขหนึ่งของภาวะเงินเฟ้อโดยตรง

รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภค ค่าการศึกษาบุตรธิดาหรือทายาท ค่าความบันเทิงนิด ๆ หน่อย ๆ และภาษีสังคม ที่วิ่งแซงหน้ารายได้ ล้วนทำให้มนุษย์เงินเดือนภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนชั้นดีให้กับแรงต้านเงินเฟ้อโดยธรรมชาติ

ความรู้สึกหวาดผวาภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว กลายเป็นผลข้างเคียงที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนภาครัฐเพิกเฉยต่อการเพิ่มอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

จุดนี้ ทำให้เกิดเป็นข้อแตกต่างในทางจุดยืนที่ชัดเจนระหว่างมนุษย์เงินเดือนภาครัฐและเอกชน เหตุผลเบื้องหลังเพราะภาครัฐมีความเสี่ยงต่ำต่อการตกงาน (ไม่นับลูกจ้างชั่วคราว) ในขณะที่ภาคเอกชนมีความเสี่ยงปรากฏชัดเจนเป็นกรณีให้เห็นบ่อยครั้ง

ในช่วงเวลาที่ประเทศอยู่ใต้อำนาจเผด็จการทหารทุกรูปแบบ มนุษย์เงินเดือนภาครัฐจะมีความปลอดภัยมากที่สุดจากภาวะเงินเฟ้อต่ำ เพราะอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่และลากลู่ถูกังจากการลงทุนภาคเอกชนที่ต่ำ และกำลังซื้อที่ถดถอยในท้องตลาด

ข้อเท็จจริงในช่วง 5 ปีของอำนาจเผด็จการ คสช.ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไม่เคยเกิน 4.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำกว่าเป้าหมายมาโดยตลอด จึงถือเป็น “ยุคทอง” ของมนุษย์เงินเดือนภาครัฐที่หาได้ไม่ง่ายนัก

ยิ่งรัฐบาลทหารมีมาตรการปรับเพิ่มรายได้และสวัสดิการให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนหลายครั้ง ยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้พึงพอใจและรู้สึกปลอดภัยกับรัฐบาลเผด็จการมากเป็นพิเศษ

ต่อให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่เลวร้ายแค่ไหน หากอัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ไม่ว่าเศรษฐกิจภาคเอกชนจะย่ำแย่แค่ไหน มนุษย์เงินเดือนภาครัฐนี้จะยังเป็นแนวร่วมเผด็จการที่ซื่อสัตย์เหนียวแน่น

ยิ่งปีนี้ สัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มแผ่วเบาอีกครั้ง จากตัวเลขเศรษฐกิจจีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ ล่าสุด ยิ่งเข้าทางของมนุษย์เงินเดือนภาครัฐในการยอมรับอำนาจลุงตู่ต่อไป

คำมั่นสัญญากระตุ้นเศรษฐกิจของบางพรรคการเมืองไม่มีความหมายต่อคนกลุ่มนี้ ตราบใดที่วันเวลาของยุคทองยังดำเนินต่อไป

 

Back to top button