สิ่งแปลกปลอม
บรรยากาศโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วไปเร้าใจขึ้นใกล้ไคลแมกซ์ จนคนจำนวนไม่น้อยลืมไปว่าหลังวันที่ 24 มีนาคมผ่านไป จะมีบรรยากาศแอนตี้ไคลแมกซ์เกิดขึ้น
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
บรรยากาศโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วไปเร้าใจขึ้นใกล้ไคลแมกซ์ จนคนจำนวนไม่น้อยลืมไปว่าหลังวันที่ 24 มีนาคมผ่านไป จะมีบรรยากาศแอนตี้ไคลแมกซ์เกิดขึ้น
คำถามที่เริ่มผุดขึ้นมาช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้งคือ จะเลือกตั้งไปทำไม เพราะเลือกตั้งเสร็จก็ไม่ได้มีประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น อาจจะมีความแตกแยกทางสังคมเสริมเข้ามาอีกด้วย
คำถามเช่นนี้ ถือเป็นสูตรสำเร็จของวิธีคิดที่สืบทอดกันมายาวนานของคนจำนวนไม่น้อย นั่นคือความคิดที่ว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่เปิดทางให้กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่เหมาะกับสังคมไทย ที่เรียกร้องต้องการวิถีไทย
วิธีคิดและข้อสรุปแบบมักง่ายดังกล่าว เหมารวมเลยเถิดไปถึงขั้นที่ว่า อะไรที่เป็นของสากล เช่น ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน คณิตศาสตร์ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติร่วมของมนุษยชาติทั้งหมด ไม่มีใครจะอ้างสิทธิว่าเป็นความคิดของประเทศตนที่เหมาะกับประเทศของตนเท่านั้น ได้กลายเป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับสังคมไทย ประเทศไทย หรือประเทศใด ๆ ในโลก
วิธีคิดแบบนี้ในอดีตพรรคนาซีของเยอรมนีเคยนำมาใช้ชี้นำสังคมด้วยข้อเสนออารยธรรมอารยันที่บริสุทธิ์ ผลลัพธ์คงไม่ต้องบอกว่าเป็นเช่นใด
ถ้ายอมรับกันว่าวิธีคิดอย่างนี้ถูกต้อง เท่ากับการยอมรับโดยปริยายว่า สิ่งแปลกปลอมในสังคมและประเทศไทยนี้มีมากกว่าสิ่งไม่แปลกปลอม รวมทั้ง ศาสนาพุทธ ฮินดู คริสต์ อิสลาม ขงจื้อ หรือแม้แต่ความรู้ทั้งหลายทางคณิตศาสตร์ วิทยาการ และเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ล้วนก็เป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับสังคมไทยด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เรานำเข้าจากต่างประเทศทั้งมวล
ถึงตรงนี้ คำถามย้อนศรคือ ถ้าไม่ยอมรับสิ่งแปลกปลอม แล้วค้นหาความเป็นไทยแท้ จะเลือกยึดถืออะไรได้บ้าง
คนไทยแท้เป็นคนอย่างไร จนถึงวันนี้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา และอื่น ๆ ยังไม่ยืนยันเลย และวัฒนธรรมไทยแท้ ๆ ก็เป็นวัฒนธรรมลูกผสม และสังคมที่เรียกว่าสยามในสมัยตั้งแต่โบราณ ก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษา ซึ่งในพหุสังคมดังกล่าวความหลากหลายมีความสำคัญมากกว่าความเป็นไทยที่หลายคนโหยหา
กล่าวโดยสั้น ๆ คนไทยแท้ ความเป็นไทย และ วิถีไทย จึงเป็นแค่ความเฟ้อฝันแบบยูโทเปียอย่างละเมอเพ้อพก
ในเรื่องโครงสร้างการเมือง อำนาจเหนือรัฐ และระบบการปกครองก็เช่นกัน รูปแบบรัฐไทยที่แท้ก็ไม่เคยมีเช่นกัน เพราะในเชิงภูมิศาสตร์นั้น มีรูปแบบการปกครองหลากหลายระหว่างรัฐในเขตที่สูงตามหุบเขา ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ และชายฝั่งทะเล ก่อนที่จะมีการยืมรูปแบบรัฐของเขมรมาใช้ในสมัยกลางของอยุธยา แล้วมาปรับให้เป็นแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5
ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจากสิ่งแปลกปลอมทั้งสิ้น รวมทั้งระบบราชการ กองทัพ และทหารประจำการด้วย
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รวมทั้งประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งแปลกปลอมเช่นกัน สิ่งที่ติดตามมาจนกลายเป็นผลข้างเคียงคือการรัฐประหาร ก็หนีไม่พ้นฐานะของสิ่งแปลกปลอมเช่นกัน
บางครั้ง การยกเรื่อง “ความเป็นไทย” “เอกลักษณ์ไทย” หรือ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” นั่นต่างหากที่เป็น “สิ่งแปลกปลอม” ต่อวิถีชีวิตตามเป็นจริงในสังคมไทยปัจจุบัน เช่น การรักนวลสงวนตัว ระบบอาวุโส การรู้จักที่สูงที่ต่ำ การยกย่อง “คนดี” ที่ซื่อสัตย์ไม่โกงแต่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย การเรียกร้อง “การเมืองที่มีจริยธรรม” แต่ให้คงไว้ซึ่ง “ระบบอำนาจที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้” ซึ่งขัดต่อหลักจริยธรรมสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ก็ออกมาเพื่อใช้รองรับการใช้อำนาจตามอำเภอใจ
ผลลัพธ์คือเกิดมีการนำเอา “ลักษณะเฉพาะ” ของความเป็นไทยในทางการเมืองอย่างที่พูดกันว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” มาใช้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า “เสียงส่วนใหญ่อาจผิดได้” อย่างที่ฝ่ายไม่เชื่อถือ “การเลือกตั้ง” พยายามตอกย้ำ แต่ปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การดึงดันว่า “เสียงส่วนน้อยของอภิสิทธิ์ชนต้องถูกเสมอ”
รวมทั้งวาทกรรมของคนบางกลุ่มว่าด้วย ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็ง (รวมทั้งข้อเสนอ “สังคมสมานุภาพ” ของหมอประเวศ วะสี ผู้อยู่เบื้องหลัง ประชารัฐ) แต่เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องอย่างจริงจัง ให้แก้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยระดับชาติ คือการปฏิรูป “ระบบอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้” ให้ตรวจสอบได้
วาทกรรมว่าด้วยประชาธิปไตยและการเลือกตั้งคือ สิ่งแปลกปลอม ที่เกิดขึ้นจึงเป็นแค่การประดิษฐ์ขึ้นมาเท่านั้น
24 มีนาคมนี้ จึงสำคัญ ที่คนไทยส่วนใหญ่คิดอย่างไรกับสิ่งแปลกปลอมที่ประดิษฐ์ขึ้นมานี้