พาราสาวะถี
จะว่าไปการเมืองว่าด้วยเลือกตั้งเป็นเหมือนตลก ที่ทำให้คนซึ่งร้อยวันพันปีไม่เคยปรับเปลี่ยนนิสัย จู่ ๆ ก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพียงในช่วงพริบตา ขณะที่บางคนก็ไม่ลงทุนอะไรมาก หากินกับของเก่าหวังลม ๆ แล้ง ๆ สร้างกระแสความเกลียดชัง โดยที่คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังโง่งมงาย ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นอย่างไรก็ยังจะเป็นแบบนั้นต่อไป
อรชุน
จะว่าไปการเมืองว่าด้วยเลือกตั้งเป็นเหมือนตลก ที่ทำให้คนซึ่งร้อยวันพันปีไม่เคยปรับเปลี่ยนนิสัย จู่ ๆ ก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพียงในช่วงพริบตา ขณะที่บางคนก็ไม่ลงทุนอะไรมาก หากินกับของเก่าหวังลม ๆ แล้ง ๆ สร้างกระแสความเกลียดชัง โดยที่คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังโง่งมงาย ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นอย่างไรก็ยังจะเป็นแบบนั้นต่อไป
ใครจะเชื่อจู่ ๆ ผู้นำเผด็จการที่มีมาดดุดัน จะลุกขึ้นมาปฏิรูปตัวเองด้วยรูปโฉมใหม่ กลายเป็นคนแอ็กทีฟ อารมณ์ดี มิหนำซ้ำ ยังบอกนักข่าวที่เปลี่ยนเป็นแบบนี้คือตัวตนที่แท้จริง แต่หากใครได้ฟังคำตอบจาก Salim Ismail นักพูด นักเขียน การพัฒนาธุรกิจแบบก้าวกระโดดซึ่งมาบรรยายเรื่องการเปลี่ยนแปลงโลกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา น่าจะคิดกันออกว่าเป็นอย่างไร
โดยผู้นำเผด็จการได้ดอดไปร่วมงานดังกล่าวโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนที่จะถามซาลิมว่าเชื่อมั่นตนหรือไม่ ซึ่งซาลิมตอบว่า จะพยายามเชื่อ เมื่อคำตอบมันไม่ฟันธงหรือเป็นการพูดแบบมีมารยาท มันย่อมสะท้อนให้เห็นถึงภาวะความเชื่อถือที่มีต่อผู้นำประเทศในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งนี้ ใครก็รู้เพื่อการสืบทอดอำนาจล้วน ๆ ประสานักการเมืองเป็นอะไรก็ได้ในช่วงเลือกตั้ง
ไม่ต่างจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กลับแทงกั๊กเรื่องจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องแปลกใจอะไร การรีบออกตัวเสียแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่เป็นการเสียสัตย์หากหลังการเลือกตั้งแล้วสถานการณ์บีบให้ต้องร่วมมือกับพรรคสืบทอดอำนาจ ในการจัดตั้งรัฐบาล
หรืออีกนัยหนึ่งคือ การแสดงออกเช่นนี้เหมือนเป็นการบีบให้พรรคสืบทอดอำนาจต้องวางตัวคนที่จะมาเป็นนายกฯใหม่ ในที่นี้ก็ย่อมหมายถึงอภิสิทธิ์เองนั่นแหละ แต่ถ้าไม่ชนะเลือกตั้ง โดยทั้งสองพรรคแพ้ต่อเพื่อไทย จะจับมือกันอย่างไรแล้วเลือกใครมาเป็นผู้นำประเทศ หากไม่เอาผู้นำเผด็จการจริง คงไม่มีส้มหล่นอีกหนสำหรับคนชื่ออภิสิทธิ์ เหมือนเมื่อคราวไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
ด้วยเหตุนี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคไทยรักษาชาติ จึงฟันธงว่า การเดินแต้มนี้ถือว่าไม่ธรรมดากะว่าจะได้ทุกมุม ไม่เห็นแก่เสียเลยเห็นแก่ได้อย่างเดียว แหม ! จะพูดตรงอะไรขนาดนั้น คงไม่ต่างจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกมาพาดพิงถึงอภิสิทธิ์ต่อการประกาศไม่หนุนบิ๊กตู่ โดยที่ตัวเองยังคงยืนยันที่จะสนับสนุนผู้นำเผด็จการให้สืบทอดอำนาจต่อไป
พร้อม ๆ กับฉายหนังซ้ำต่อความสำเร็จในการปลุกมวลมหาประชาชนโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อันเป็นลูกไม้เก่า ที่หวังเรียกคะแนนจากพวกม็อบนกหวีดที่ยังคงเชียร์ลุงกำนันแบบไม่ลืมหูลืมตา จะเห็นได้ว่า ช่วงโค้งสุดท้ายนี้ เทพเทือกออกอาวุธหนักที่เข้าข่ายลักษณะปลุกระดมแทนการหาเสียงอย่างสร้างสรรค์ แค่นี้มันก็ทำให้เห็นแล้วว่าการเมืองผ่านกระบวนการปฏิรูปอย่างที่กล่าวอ้างกันจริงหรือไม่
ไม่เพียงแต่เทพเทือกเท่านั้นที่ปลุกผีระบอบทักษิณขึ้นมาช่วงโค้งสุดท้ายเช่นนี้ ยังมีเครือข่ายของม็อบนกหวีดทั้งพวกที่เป็นเซเลบและนักวิชาการบางราย ก็ยังผุดวาทกรรมแบบเดิมคือเผาบ้านเผาเมือง มาทำลายกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองอีกฝั่งหนึ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามพวกสืบทอดอำนาจ เป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายสร้างความขัดแย้งแตกแยกและใส่ร้ายป้ายสีชัดเจน แต่ฝ่ายความมั่นคงและกกต.ยังเฉย
เมื่อทุกอย่างส่อแสดงให้เห็นเหมือนก่อนการยึดอำนาจคือพวกหนึ่งทำอะไรก็ได้ไม่ผิด ส่วนอีกพวกหนึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ขยับหรือทำอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ถูกเล่นงาน เช่นนี้หรือคือการเมืองใหม่ การเมืองที่ผ่านการปฏิรูปแล้ว หากไม่มืดบอดกันจนเกินไป คงคิดกันออกว่า หลังเลือกตั้งนอกจากผู้นำเผด็จการได้สืบทอดอำนาจแล้วประเทศชาติจะได้อะไร
นี่ยังไม่นับรวมสถานการณ์ระหว่างการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง จะมีเรื่องร้องเรียนอะไรตามมาอีกหรือไม่ ซึ่งเชื่อได้ว่าคงมหาศาล และจะเป็นการพิสูจน์น้ำยาของ 7 เสือกกต.ว่าทำงานตรงไปตรงมา ไร้ใบสั่ง ไม่ได้ต่างตอบแทนหรือระแวงการถูกปลดด้วยอำนาจม. 44 แต่อย่างใด เพราะหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกกระทำอยู่ข้างเดียว ขณะที่อีกพวกร้องเรียนหรือมีหลักฐานอย่างไรก็รอดหมด ก็นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าเหตุการณ์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร
ประเภทที่มองกันว่าจะเกิดสึนามิทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ เกรงว่าจะไม่ใช่เรื่องของคะแนนเสียงที่เลือกใครหรือพรรคใดแบบถล่มทลาย แต่จะกลายเป็นสึนามิแห่งความโกลาหลหรือการสร้างความวุ่นวายไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง แน่นอนว่า ถ้าออกมารูปนี้ไม่เป็นผลดีกับพรรคการเมืองฝ่ายใดแน่ แต่จะดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากอยู่ต่อ เพราะจะหาเหตุทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและอยู่ยาว
เริ่มเห็นผลจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่จะต้องมีโจทย์ให้กับผู้ดูแลการเลือกตั้งอย่างกกต.ต้องตีความต่อ กรณีแกนนำพรรคจะเดินสายปราศรัยต่อทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะมีความผิดอย่างไร ตรงนี้ต้องรีบทำให้เกิดความกระจ่างชัด ขณะเดียวกัน การที่ ฐิติมา-วุฒิพงศ์ ฉายแสง น้องสาวน้องชายของ จาตุรนต์ ประกาศเทคะแนนเสียงที่จะสนับสนุนตัวเองไปให้พรรคอนาคตใหม่จะถือเป็นการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างไรหรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น ที่จังหวัดแพร่ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ภาพชาวบ้านจำนวนมากในจังหวัดรวมตัวกันเดินขบวนไปที่บ้านตัวเอง พร้อมระบุข้อความว่า “จังหวัดแพร่ขอเลือกโหวตโนแทนเลือกผู้สมัครส.ส.” ผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัว ตรงนี้จะจัดการกันอย่างไรเพราะตามข้อกฎหมายเลือกตั้งการรณรงค์โหวตโนถือเป็นความผิด
กรณีต้องไปพิสูจน์ว่าชาวบ้านรวมตัวกันเองหรือมีเบื้องลึกเบื้องหลัง ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ที่กกต.จะเพิกเฉยปล่อยผ่านไม่ได้เป็นอันขาด ดังนั้น ใครที่บอกว่ายุบไทยรักษาชาติแล้วจบ คงจบเฉพาะส่วนของผู้บริหารและแกนนำพรรค เพราะหลังจากนี้สมาชิกและผู้ที่สนับสนุนพรรคน่าจะเคลื่อนไหวกันถี่ขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายทั้งในแง่ของกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายความมั่นคง การเล่นกับคนหมู่มากช่วงเลือกตั้งโดยปกติไม่มีใครจะเสี่ยงทำกัน แต่ภายใต้อำนาจเผด็จการจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้