ถมมหาสมุทร
เมื่อวานนี้ ราคาหุ้นบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ล่าสุดปิดอยู่ที่ 0.25 บาท ปรับตัวลงหลังที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันจันทร์ อนุมัติการลดทุนจดทะเบียน โดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่าย หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2.68 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 1.45 หมื่นล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 1.23 หมื่นล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท แบ่งจัดสรรจำนวนไม่เกิน 8.03 พันล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) ในอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.25 บาท โดยกำหนดจองซื้อและชำระเงินในวันที่ 3-7 มิ.ย. 2562
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ ราคาหุ้นบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ล่าสุดปิดอยู่ที่ 0.25 บาท ปรับตัวลงหลังที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันจันทร์ อนุมัติการลดทุนจดทะเบียน โดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่าย หลังจากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2.68 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 1.45 หมื่นล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 1.23 หมื่นล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท แบ่งจัดสรรจำนวนไม่เกิน 8.03 พันล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) ในอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.25 บาท โดยกำหนดจองซื้อและชำระเงินในวันที่ 3-7 มิ.ย. 2562
ส่วนหุ้นที่เหลือ ออกมารองรับวอร์แรนต์ PACE-W3 ที่แจกฟรีในอัตราหุ้นเดิม 3 หุ้นต่อ 2 หน่วยตามสูตร
การเพิ่มทุนอีกเกือบ 90% ในราคาลดลงครึ่งหนึ่งจากการเพิ่มทุนเมื่อ 2 ปีก่อนที่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนราว 13,024 ล้านหุ้น หรือกว่า 239% โดยมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท จากทุนเดิม 3,758 ล้านหุ้น เป็นทุนใหม่ 16,782 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตรา 1 : 2 ในราคาจองซื้อ 0.50 บาท โดยจะขึ้น XR วันที่ 19 ธ.ค. 2560 ชำระค่าหุ้น 9-15 ม.ค. 2561 และแจกวอร์แรนต์ 2 ชุด ได้แก่ PACE-W1 ให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 5 : 1 ฟรี อายุ 6 เดือน ใช้สิทธิ 1 : 1 ราคา 0.80 บาท และ PACE-W2 ให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 3 : 1 ฟรี อายุ 5 ปี ใช้สิทธิ 1 : 1 ราคา 2 บาท นอกจากนี้จะขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) 1,500 ล้านหุ้น อาจเสนอขายในราคาต่ำกว่าพาร์ เนื่องจากยังมีผลขาดทุน สะท้อนข้อเท็จจริงฐานะการเงินของบริษัทนี้ดี
การเพิ่มทุนมหาศาล เพื่อให้ได้เงินสดเข้ามาใหม่แค่ 2,000 ล้านบาทเศษไม่คุ้มค่าเลยจริง ๆ เพราะจะยิ่งทำให้ ส่วนผู้ถือหุ้นดีขึ้นไม่มากนักเพราะมีส่วนต่ำมูลค่าหุ้นมารบกวน จนทำให้ค่า ดี/อี ที่เดิมมีอยู่ที่ระดับ 13 เท่า ลดลงไม่มากนัก แต่จะกดดันราคาหุ้นให้ย่ำแย่อีกนานจากภาระการแปลงสภาพ PACE-W2 ในอีกหลายปีข้างหน้า
ประเด็นต่อไปคือ มติการเพิ่มทุนดังกล่าวจะติดโรคเลื่อน ถูกขยายเวลาจองและใช้สิทธิออกไปถึง 4 ครั้งแบบคราวก่อนอีกหรือไม่
การเพิ่มทุนจดทะเบียนถี่ แต่ผลประกอบการกลับไม่ฟื้น มีส่วนทำให้หุ้น PACE กลายเป็น “ของแสลง” จนนักลงทุนจำนวนไม่น้อยสลบเหมือดกันเป็นแถว เพราะราคาที่คิดว่าต่ำแล้ว ยังมีต่ำกว่า และยังไม่รู้ว่า จะต่ำเตี้ยไปถึงไหน
ภายใต้การนำของนายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE มีการลงทุนสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่และหรูหรา 5 ดาวกลางกรุงเทพมหานครซึ่งใช้เวลาคืนทุนช้ามาก เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสลับซับซ้อนทั้งทางธุรกิจ และทางการเงินในระดับ “เหนือสามัญ” ที่สำคัญ ต้องเผชิญกับการขาดทุนอย่างหนักตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากยอดหนี้ที่มหาศาลกว่า 2 หมื่นล้านบาท และ ตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่ที่ 9.955 พันล้านบาท
คำถามยอดฮิต แต่ไม่ใช่คำถามใหม่ มีอยู่ว่า การเพิ่มทุนใหม่นี้ จะทำให้ PACE ฟื้นตัวได้หรือไม่และเร็วแค่ไหน คงต้องรอดูผลประกอบการ มากกว่าถามเสี่ยยิ่ง หรือ นายสรพจน์
นับจากเข้าระดมทุนในตลาดเพื่อเพิ่มฐานกองทุน เข้ามาจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป (เพราะมีขาดทุนสะสมมากมาย) งบการเงินของ PACE ไม่เคยสวยงามเลย…..มีตัวเลขขาดทุนต่อเนื่อง แม้ว่าจะเพิ่มทุนหลายวิธีเพื่อทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นยังดีพอสมควร เพราะยังมีเหลือเป็นบวกอยู่ แต่การที่ส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่า ทุนจดทะเบียนชำระแล้วมหาศาล ถือเป็นความเสี่ยงทางการเงินที่ไม่ดีเลย
ฐานะทางการเงินที่ไม่ดี อาจจะทำให้โครงการหลากหลายของ PACE มีปัญหาได้เพราะทั้ง โครงการมหานคร รวมถึงโรงแรมบางกอก เอดิชั่น และ รูฟท็อปบาร์ จุดชมวิว ออบเซอร์เวชั่น เด็ค และรีเทล มหานคร คิวบ์ ก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ต้องการเงินทุนอีกมากพอสมควรเพื่อต่อยอดให้เสร็จ
แม้ว่าโครงการอาคารมหานครของ PACE จะเป็นที่เลื่องลือในความสวยงาม แต่การเงินเบื้องหลังไม่หรูเหมือนตัวอาคาร การตัดสินใจขายหุ้นในบริษัทลูกที่ทำธุรกิจเฉพาะจึงเป็นความจำเป็นใหม่ที่ต้องเกิดขึ้น
ที่ผ่านมา มีความพยายามหาทางออกจากปัญหาหนี้ท่วม ด้วยการตัดขาดสินทรัพย์บางส่วนในมือ และการเพิ่มทุน เพิ่มการขายแฟรนไชส์ร้านอาหาร และอื่น ๆ ที่ทำให้สามารถรับรู้รายได้ได้ทันที ช่วยให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ อาทิ 1) เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน 2) เพื่อการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และ 3) เดินหน้าพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของบริษัทในอนาคต..ยังไม่พอตอบโจทย์ว่าด้วยการเทิร์นอะราวด์กิจการ ต้องอาศัยการเพิ่มทุนจดทะเบียนช่วยให้อัตราหนี้สินต่อทุนลดลง
ประเด็นคือการเพิ่มทุนแบบ “เลือดเข้าตา” หลายครั้งที่ผ่านมา ไม่มีนัยสำคัญให้เป้าหมายที่ว่าจะทำให้เป้าหมายลด ดี/อี เหลือเพียงประมาณ 1.5 เท่าบรรลุได้
ถึงตอนนี้ คนที่คิดจะถือหุ้น PACE ต่อไปหรือเพิ่มขึ้น คงต้องหัดทำความเข้าใจคำว่า a bridge too far ให้ถ่องแท้