ปัญหาคุณสมบัติ‘ลุงตู่’
ก่อนจะไปสู่คูหาเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ศกนี้ ก็ยังมีปัญหาทางการเมืองปัญหาหนึ่ง ที่อาจส่งผลสะเทือนในระดับใกล้เคียงกับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ หรืออาจจะส่งผลสะเทือนยิ่งกว่า นั่นก็คือ ปัญหาการดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช.ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าข่ายเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ก่อนจะไปสู่คูหาเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ศกนี้ ก็ยังมีปัญหาทางการเมืองปัญหาหนึ่ง ที่อาจส่งผลสะเทือนในระดับใกล้เคียงกับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ หรืออาจจะส่งผลสะเทือนยิ่งกว่า นั่นก็คือ ปัญหาการดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช.ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าข่ายเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่
ถ้าเข้าข่ายเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” ก็จะเข้าเงื่อนไข “ต้องห้าม” ไม่อาจตอบรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองได้ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 98 และพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ฉบับใหม่
เป็นประเด็นปัญหาฟ้องร้องต่อกกต.โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นเกมหักล้างกันทางการเมืองก็จริง แต่ถ้าหากไม่นำเอาประจักษ์พยานเจ๋งเป้งในทางกฎหมายมาฟ้องร้อง ก็อาจจะถือเป็นข้อต่อสู้ปกติกันในทางการเมืองเท่านั้น
แต่นี่เป็นการนำเอาคำพิพากษาฎีกาในคดีอื่น ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานเทียบเคียงในการวินิจฉัยคดีทั่วไป มาใช้ในการฟ้องร้องต่อกกต. เพื่อให้กกต.ส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การขาดหรือไม่ขาดคุณสมบัติในการรับเชิญเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จากเหตุไม่มารายงานตัวตามคำสั่งคสช. โดยนายสมบัติต่อสู้ว่า หัวหน้าคสช.คือพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน
แต่ศาลแขวงดุสิต พิพากษาว่า ข้ออ้างจำเลยฟังไม่ขึ้น “พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าคสช. มีอำนาจดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว” ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่อมาก็ยืนตามศาลชั้นต้น
ยืนยันสถานะทางกฎหมายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนั้นในปี 2558 ก็ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มนิยามของคำว่า “เจ้าพนักงาน” ว่า ไม่ว่าจะเป็นประจำหรือครั้งคราวหรือจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ ก็ถือว่าเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเอง
คำฟ้องของนายเรืองไกร ขอให้กกต.พิจารณาถอนชื่อพล.อ.ประยุทธ์ออกจากบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ
เรื่องนี้ ถ้าไปถามชาวบ้านตามสามัญสำนึก ก็คงไม่มีใครสงสัยหรอกว่า “พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่” เพราะพล.อ.ประยุทธ์กินเงินเดือนหลวง ใช้ทรัพยากรรัฐทั้งหมด มีอำนาจสั่งย้ายและแต่งตั้งข้าราชการมาทุกปี กระทั่งใช้อำนาจม.44 ที่เกินเลยไปกว่ากฎหมายปัจจุบันกำหนด
แม้กระทั่งตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง ก็ยังลบข้อความระบุสถานะในเฟซบุ๊กของตนที่ระบุเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” มาเปลี่ยนสถานะใหม่เป็น “บุคคลสาธารณะ” เลย
ความเห็นชาวบ้านนั้น พล.อ.ประยุทธ์เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนั้นบรรทัดฐานทางกฎหมายจากคำพิพากษาฎีกา ที่ยืนยันตัวตนของหัวหน้าคสช.คือพล.อ.ประยุทธ์ เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการต่าง ๆ ได้
ถ้าใช้กรณีเทียบเคียงกับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่กระทำการโดยรวดเร็ว เพราะมีประจักษ์พยานหลักฐานเพียงพอ กรณีคุณสมบัติพล.อ.ประยุทธ์ ก็น่าจะรวบรัดได้ เพราะประจักษ์พยานหลักฐานก็ชัดเจนเช่นกัน
ควรจะทำเสียก่อนการเลือกตั้งจะมาถึงด้วยซ้ำ!