ลุ้น‘นาโนไฟแนนซ์’ลูบคมตลาดทุน

มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับนาโนไฟแนนซ์แล้วสิ


ธนะชัย ณ นคร

 

มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับนาโนไฟแนนซ์แล้วสิ

ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ของผู้ประกอบการบางรายสูงขึ้นแตะ 10% ไปแล้ว

และนั่นทำให้บรรดาผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต หรือกำลังยื่นขอทำธุรกิจ อาจต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้กันใหม่

หุ้นหลายตัวที่เปิดบริษัทลูก เพื่อปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ กำไรอาจไม่รุ่งอย่างที่คาดก็ได้

รื้อฟื้นเกี่ยวกับนาโนไฟแนนซ์กันหน่อย

เดิมนั้น รัฐบาลชุดก่อน จะทำเรื่องไมโครไฟแนนซ์ ให้คนรากหญ้ากู้เงิน จะได้ไม่ต้องไปกู้เงินอาบัง หรือหนี้นอกระบบ

แต่ไมโครไฟแนนซ์นั้นเงื่อนไขเยอะ ต้องมีคนค้ำประกัน และอื่นๆ อีกมากมาย

พอมาถึงรัฐบาลของ “ลุงตู่” ก็ดัดแปลงมาเป็นนาโนไฟแนนซ์ ที่มีหลักการเดียวกัน เพียงแต่ว่าเงื่อนไขในการกู้เงินจะแตกต่างกัน

ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ไม่ต้องเอาสินทรัพย์อะไรมาวางทั้งสิ้น

วงเงินที่ให้กู้ได้ต่อ 1 ราย ไม่เกิน 1 แสนบาท

อัตราดอกเบี้ย (แบบคำนวณความเสี่ยงเข้าไปแล้ว) ต้องไม่เกิน 36%

ส่วนรายละเอียดจิปาถะอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่ผู้ประกอบการนั้นๆ ว่าจะวางเงื่อนไขอย่างไร เช่น ดอกเบี้ย (บางรายให้ไม่ถึง 36%) ระยะเวลาการคืนเงินกู้ ฯลฯ

วัตถุประสงค์ของนาโนไฟแนนซ์ เพราะต้องการให้คนกู้เงินไปลงทุนทำมาค้าขาย

นี่คือหัวใจของนาโนไฟแนนซ์

ส่วนวิธีการตรวจสอบก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ซึ่งแต่ละแห่งก็คงมีวิธีแตกต่างกัน ใครทำผิดเงื่อนไขหรือไม่ อย่างไร

หลังจากผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ เริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หรือครบ 2 เดือนพอดีหลังจากเริ่มปล่อยสินเชื่อวันแรก

ปรากฏว่า มีการ “ชักดาบ” ให้เห็นกันแล้ว

บางคนที่กู้เงินไป ก็นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือหายวับ หายเข้ากลีบเมฆไปก็มี

บางคนเป็นหนี้นอกระบบอยู่แล้ว ก็มากู้เงินนาโนไฟแนนซ์เพื่อไปลงทุนเพิ่มเติม ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า  “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ไหนจะต้องจ่ายคืนอาบัง หรือหนี้นอกระบบ

และจะต้องมาคืนกับผู้ประกอบการนาโนฯ กันอีก

การค้าขายช่วงนี้ ก็ไม่ได้ดี เพราะเศรษฐกิจมันยังไม่ฟื้น  ตัวเลขจีดีพีแทบจะถูกปรับลดเป็นรายวัน

ยังไม่รวมปัญหาภัยแล้งที่ทำให้รัฐบาลกุมขมับอีกนะ

และนั่นจึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการเริ่มมีการกลั่นกรองลูกค้าที่จะมาขอสินเชื่อกันเข้มข้นขึ้น จนบ่นไปตามๆ กันว่า  “กู้ยาก” เพราะมีเงื่อนไขจิปาถะ

แม้ว่าดอกเบี้ยที่กำหนดออกมาไม่เกิน 36% จะคำนวณเพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีเป็นหนี้เอ็นพีแอลไว้แล้ว

แต่ก็ไม่มีใครประมาท และประมาทไม่ได้

อาจมีคำถามว่า ผู้ประกอบการนาโนฯ ไม่มีประสบการณ์การทำตลาดรากหญ้าหรือเปล่า

วิสัชนา ก็คือ ไม่ใช่แน่นอน

เพราะผู้ประกอบการแต่ละราย ต่างมีฐานลูกค้าเป็นระดับรากหญ้าทั้งนั้น หลายคนเป็นลูกค้าเก่า เคยกู้เงินกันมาก่อนในสินเชื่อประเภทอื่นๆ

แล้วถามว่า ทำไมถึงเป็นเอ็นพีแอลล่ะ

เรื่องนี้ ก็คงมีความผิดพลาดกันบ้าง

อาจด้วยเพราะจะเร่งปล่อยสินเชื่อมากเกินไป ทำให้ขาดความระมัดระวัง ก็เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องเข้ามากำชับฝ่ายพิจารณาสินเชื่อกันอีกครั้ง

ผมเชื่อว่า เขาก็คงดูว่า คนกู้นั้นจะนำเงินไปทำอะไร

ดูธุรกิจที่เขาทำว่ามันจะรอดไหม คล้ายๆ กับนายแบงก์ธนาคารพาณิชย์ที่จะปล่อยให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี ที่จะเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจทั้งหมด ความสามารถของคนกู้เงินในการค้าขาย อะไรแบบนี้

จริงแล้วมีกรณีศึกษาน่าสนใจของหุ้น SAWAD

SAWAD ก็ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อทำนาโนไฟแนนซ์

รูปแบบการปล่อยสินชื่อ เขาก็จะร่วมกับแฟรนไชส์ต่างๆ เช่น ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ลูกชิ้นแชมป์ ลูกชิ้นหมูพริกกะเหรี่ยง และแฟรนส์ไชส์อื่นๆ

คือ เมื่อลูกค้าคุยกับแฟรนส์ไชส์เสร็จ ก็มากู้เงินกับ SAWAD

รูปแบบนี้ทำให้มั่นใจได้ว่า คนกู้เงินไป ไม่ใช้จ่ายแบบซี้ซั้ว

ส่วนตัวผมก็เอาใจช่วยสุดๆ นั่นแหละครับ กับนาโนไฟแนนซ์ อยากให้โครงการเดินหน้า ประสบความสำเร็จ และรัฐบาล “ลุงตู่”จะได้มีผลงานด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ยิ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับรากหญ้าด้วยแล้ว ก็ต้องลุ้นกันมากๆ

เพราะหากรากหญ้าไม่มีเงินในมือ

เศรษฐกิจฟื้นยากครับ

 

 

 

 

Back to top button