ฝันของคนไทย
ผลการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดของไทย และความพยายามทุลักทุเลจัดตั้งรัฐบาลใหม่ (มีความเป็นไปได้ว่าจะจัดตั้งในค่ายทหารอีกครั้ง) ทำให้เกิดคำถามว่า ประชนชนคนไทยที่พากันเข้าคูหาใช้อธิปไตย 5 นาที สามารถจะพูดหรือคิดแบบมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ที่ว่า “ข้ามีฝัน” หรือ I have a Dream ได้เต็มปากเต็มคำหรือไม่
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ผลการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดของไทย และความพยายามทุลักทุเลจัดตั้งรัฐบาลใหม่ (มีความเป็นไปได้ว่าจะจัดตั้งในค่ายทหารอีกครั้ง) ทำให้เกิดคำถามว่า ประชนชนคนไทยที่พากันเข้าคูหาใช้อธิปไตย 5 นาที สามารถจะพูดหรือคิดแบบมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ที่ว่า “ข้ามีฝัน” หรือ I have a Dream ได้เต็มปากเต็มคำหรือไม่
ก่อนถูกยิงเสียชีวิตไม่นาน มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ เคยประกาศประโยคอมตะจากสุนทรพจน์ของเขา (เพื่อต่อต้าน “พันธกิจของคนขาว”) อันโด่งดัง (อย่างน้อยก็โด่งดังกว่า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของนายเข้ม เย็นยิ่ง ที่กินใจคล้ายคลึงกัน) มันได้สร้างจินตนาการสำหรับนักอุดมคติผู้อยากเปลี่ยนแปลงโลก รวมทั้งคนที่ชอบร้องเพลง Impossible Dreams แบบดอน กิโฆเต้แห่งลามันช่า และ Imagine ของจอห์น เลนนอน
ความฝันดังกล่าวถูกหักลบด้วยประสบการณ์แห่งชีวิตมากขึ้น ผ่านร้อนหนาวโชกโชน เราก็เรียนรู้ที่จะสยบต่ออำนาจแบบเดียวกับดาโมคลีส จนกระทั่งคำตอบล่องลอยในสายลม แบบที่บ็อบ ดีแลน เขียนเพลงเอาไว้
ในนิทานเก่าแก่ของกรีกโบราณ ดาโมคลีส ขุนนางปากเปราะของไดโอนีเชียสที่ 1 ครั้งหนึ่งได้กล่าวชมถึงการใช้อำนาจทรราชอันเกินเลยของเจ้านายตนเองว่า เต็มไปด้วยเกียรติยศที่น่าอิจฉาอย่างยิ่ง และปรารถนาว่าวันหนึ่งในชีวิต หากได้นั่งตำแหน่งเดียวกันบ้าง เขาจะทำอะไรได้บ้าง
เพื่อให้บทเรียน ไดโอนีเชียส จัดการให้เป็นเช่นนั้น หลังจากตื่นนอนในเช้าวันหนึ่ง ดาโมคลีส ก็ถูกอุปโลกน์ให้เข้านั่งตำแหน่งของไดโอนีเชียส พร้อมกับอาญาสิทธิ์ที่ไดโอนีเชียสได้รับทุกประการ ทันทีที่นั่งบนเก้าอี้แห่งอำนาจ ดาโมคลีส พยายามจัดการออกคำสั่งแบบที่ไดโอนีเชียสกระทำอย่างเต็มที่ โดยไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ระหว่างนั้น เขาพบว่า สายตาของคนที่รับคำสั่งจากเขาเกือบทั้งหมดในห้อง ไม่ได้มองตรงมาที่ตัวเขา หากมองไปที่เหนือศีรษะของเขาเอง ดาโมคลีส ฉุกใจได้คิด จึงแหงนมองขึ้นไปเบื้องบน สิ่งที่เขาเห็นทำให้สะท้านเยือกไปถึงขั้วหัวใจ มันมีดาบใหญ่ปลายแหลมแขวนอยู่เหนือที่นั่งเขาอยู่พอดี โดยผูกโยงด้วยเส้นผมเข้ากับเพดานห้อง พร้อมจะร่วงลงมาเมื่อใดก็ได้
ไดโอนีเชียสเป็นคนสั่งให้แขวนดาบนั้นเอาไว้ เพื่อเตือนสติว่า อำนาจนั้นหมิ่นเหม่เพียงไหนกับหายนะ คนที่ยิ่งอยู่ในอำนาจมากเท่าใด ยิ่งมีความเสี่ยงทวีคูณ
คิเคโร่ (คนที่ถูกชอบเรียกชื่อผิด ๆ ว่า ซิเซโร่) นักพูดชั้นยอดประเภทลิงหลับของโรมันยุคสาธารณรัฐ หยิบยกเรื่องดาบของดาโมคลีส ขึ้นมากล่าวในสภาซีเนต เพื่อสนองวัตถุประสงค์ในการทำลายน้ำหนักข้อเสนอว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าว่าเป็นการละเมอเพ้อพก ชื่นชมความรุนแรง กระหายอำนาจ และละเมิดกติกาสังคม ในฐานะที่เป็นอคติเฮงซวย
สังคมไทยหลังการเลือกตั้งคงต้องมีการต่อสู้ที่เข้มข้นระหว่างแนวทาง “ดาบของดาโมคลีส” กับ “ข้ามีฝัน” ในฐานะขั้วตรงกันข้ามหลัก โดยฝ่ายแรกมีแต้มต่อเหนือกว่าชัดเจน
ถ้าหากอนาคตเป็นแค่ข้อสอบที่ถามว่า ความฝัน หรือความจริงอันกักขฬะ อย่างไหนขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้ากันแน่ คำตอบคงง่าย ๆ แต่ข้อเท็จจริงว่าด้วยจิตสำนึกเทียมของคาร์ลมาร์กซ ที่ระบุว่า ความสามารถที่จะแยกแยะความชอบธรรมของทรราช กับคำอ้างของโจรของมวลชนทั่วไปนั้น มักจะเลอะเลือน ทำให้คำตอบยากเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะความสับสนไม่รู้จบว่า ประชาธิปไตยกับเผด็จการ ใต้กรอบ “ความรักชาติ” อย่างไหนดีกว่าสำหรับขับเคลื่อนอนาคต
สำหรับคนที่ใฝ่ฝันถึงสังคมประชาธิปไตย คงต้องเริ่มต้นด้วยการยอมกล้ำกลืนข้อเท็จจริงกับคำพูดของอนาโตล ฟรองซ์ ที่เคยบอกว่า คนทุกคนต้องจ่ายค่าโง่ที่แพงเสียก่อนที่จะมีความสุข (ไม่ต้องถามว่าความสุขนั้นมันแค่ชั่วคราวหรือค้างคืน) ดังนั้น ความฝัน (จะเรียกมันว่าความปรารถนา ความใฝ่ฝัน ความคาดหวัง หรือ กิเลส) ไม่ว่ายามหลับหรือตื่น จึงต้องมีต้นทุนเสมอ ไม่มีคำว่าฟรี หรือไร้ต้นทุน แต่หากไม่มีความฝัน มนุษย์ก็คงเป็นเดรัจฉานหาใบไม้หรือไข่มดกินไปวัน ๆ
ความฝันกับความจริงเป็นวิภาษวิธีซึ่งกันและกัน แล้วความฝันก็ไม่ใช่ความพยายามหลบหนีออกจากความจริง หรือการย้อนกลับไปค้นหามนุษย์ต้นแบบ แบบที่คาร์ล ยุง พยายามบอกกับเราว่า ความฝันจงเจริญ อย่าได้ปิดกั้นความฝัน เพราะเมื่อใดความฝันถูกปิดกั้น มนุษย์จะหลุดเข้าสู่กับดักของความละเมอเพ้อพกแบบคนบ้าหรือเซอร์เรียลด้วยพลังขับที่ไม่อาจปิดกั้นได้ ผ่านสัญญาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อไล่ล่าหาปฏิมาของต้นแบบที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันคืออะไร
ความยุติธรรม เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเสมอภาค หรือระบอบสังคมแห่งอุดมคติ หรือกระทั่งเทคโนโลยี (ที่มีคนพยายามอ้างว่าเป็น “สิ่งแปลกปลอม” สำหรับวิถีไทย) ไม่ได้มีอยู่ดั้งเดิมในธรรมชาติ หากเกิดขึ้นจากจินตนาการประดิษฐ์สร้างขึ้นมา ดังที่ไอน์สไตน์บอกว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้นั่นเอง หากปราศจากจินตนาการและการต่อสู้เพื่อให้กลายเป็นความจริงเชิงรูปธรรม มนุษย์ก็คงต้องสวมใส่ความโง่เป็นอาภรณ์ ชั่วกาลนาน
ความฝันและใฝ่ฝันที่ไม่หลุดโลก “ขาลอย” มากเกิน ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ก็ทำให้คนเรากลับไปสู่อนาคตของตนเองได้ แม้จะมีต้นทุนแสนแพง เพราะความฝันไม่เคย “ดีเกินคาด” และไม่เคยต่ำกว่าบุ๊กแวลู เพียงแต่ปลายทางของความฝัน อาจจะมีผลลัพธ์ต่างกัน
ความฝันของทุรโยธน์ คือครองเมืองอินทรปัตถ์แต่ผู้เดียวโดยไม่มีพวกปาณฑพ มีรางวัลคือความสูญสิ้น
ความฝันของอีฟ คือการกินผลไม้แห่งปัญญาเพื่อจะเข้าใจว่าทำไมจึงถูกห้ามกิน มีรางวัลคือถูกขับออกจากสวนอีเดน
ความฝันของอะเบลที่สังเวยพระเจ้าด้วยสัตว์เลี้ยงของตน (พระเจ้าก็ชอบให้มนุษย์ทำบาป) มีรางวัลคือถูกเคน พี่ชายตนเองฆ่าตาย
ความฝันของฮิตเลอร์ คือล้างเผ่าพันธุ์ยิวเพื่อให้โลกบริสุทธิ์เหมือนอาหารมังสวิรัติที่ตนชมชอบ มีรางวัลคือหายนะ
ความฝันของจอห์น มิลตัน คือทำลายล้างระบอบกษัตริย์ที่อ้างสิทธิธรรมจากสวรรค์ เพื่อกดขี่สามัญชนอย่างไม่ชอบธรรม มีรางวัลคือตาบอดในโลกมืด
ความฝันของคณะราษฎรเพื่อสร้างรัฐของสามัญชน มีรางวัลคือการทรยศของทหารที่แปลงสภาพเป็นโจรปล้นเสรีภาพ
ความฝันของคนหนุ่มสาวครั้ง 14 ตุลาคม เพื่อพ้นจากอำนาจเผด็จการทหาร มีรางวัลคือการถูกอำมาตย์สมคบกันปล้นชิงกลับไปอย่างแนบเนียนเกือบจะในทันที
กรณีศึกษารูปธรรมเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนน้อยที่มากเกินพอ เพื่อย้ำว่า “ข้ามีฝัน” ของลูเธอร์คิงส์ มิใช่เป็นคำตอบ แต่เป็นคำถามเกี่ยวกับพลังขับเคลื่อนประวัติศาสตร์มนุษย์ ว่าระหว่างมวลชน กับวีรชน ใครสำคัญกว่ากัน ซึ่งตอลสตอยแทรกเป็นปริศนาใน “สงครามและสันติภาพ”
แน่นอน ความฝันทุกชนิดล้วนมีต้นทุน แต่ต้นทุนย่อมน้อยกว่าการละทิ้งความฝัน
คนไทยจะยอมทำลายฝันของตนหรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน