ตาบอดสี (1)
มีโจทย์น่าสนใจว่า มีคนขับรถฝ่าไฟแดงที่สี่แยก แล้วก็หลบคนที่กำลังข้ามทางม้าลายอยู่ จนรถกระแทกเสาขอบถนนและชนเสาไฟฟ้า ได้รับบาดเจ็บสาหัส จราจรเข้าไปสอบถาม พบว่าคนขับมีปัญหาตาบอดสี
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
มีโจทย์น่าสนใจว่า มีคนขับรถฝ่าไฟแดงที่สี่แยก แล้วก็หลบคนที่กำลังข้ามทางม้าลายอยู่ จนรถกระแทกเสาขอบถนนและชนเสาไฟฟ้า ได้รับบาดเจ็บสาหัส จราจรเข้าไปสอบถาม พบว่าคนขับมีปัญหาตาบอดสี
จราจรถามว่า ตาบอดสีอะไร เขาบอกว่าตาบอดสีเหลือง
จราจรปล่อยเขาไปไม่แจ้งข้อหา ทั้งที่หากตรวจสอบข้อเท็จจริง จะพบว่า เขาตาบอดสีแดง
เรื่องตลกด้านเกี่ยวกับ “สงครามสี” ดังกล่าว กำลังย้อนกลับมาสร้างวาทกรรมใหม่ในสังคมไทยหลังเลือกตั้งที่มีปัญหาความโปร่งใสและพรรคการเมืองแย่งยื้อกันจัดตั้งรัฐบาล ทำให้เริ่มมีคนพยายามจุดกระแสว่า การจับขั้วของพรรคการเมือง จะนำสังคมแตกแยกกันจนทหารต้องออกมายึดอำนาจรอบใหม่
การจุดกระแสความกลัวดังกล่าว ว่ากันตามจริงแล้วเกิดจาก 2 ประเด็นหลักเท่านั้นคือ มายาคติที่มีความเกลียดชังนักการเมือง และความไร้เดียงสาทางการเมืองถึงขั้นสอบตกเป็นสำคัญ
150 ปีก่อน เฮอร์มัน เมลวิลล์ นักเขียนนวนิยายอเมริกัน เคยมอบให้กัปตันอาฮับผู้ต้องการชำระแค้นกับปลาวาฬโมบี้ ดิ๊ก ตั้งคำถามเชิงปรัชญาว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ปลาวาฬเป็นปลาวาฬ การพ่นน้ำเหนือหัว หรือขนาดใหญ่มหึมา หรือ เลี้ยงลูกด้วยนม หรือเพราะมันเป็นสัตว์ที่รอให้มนุษย์มาไล่ล่า
คำถามเช่นนี้ สร้างความลำบากให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังแม้ในปัจจุบันในการค้นหาข้อสรุปว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ เพราะ 99.6% ของดีเอ็นเอของมนุษย์เหลื่อมทับกับลิงชิมแปนซี อีกเพียงแค่ไม่ถึง 1% ของการกลายพันธุ์เพราะไวรัสที่แทรกเข้ามาให้จีโนมบางตัวกลายสภาพ ก็ทำให้มนุษย์ครองโลกพัฒนาศักยภาพได้ แต่ชิมแปนซีจมปลักถอยหลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ ด้วยปัจจัยทางกายภาพและจิตวิทยา เกี่ยวกับ สมองที่คิดและจินตนาการ จิตวิญญาณ คุณธรรม การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี หรือปัจจัยทางสังคม ฯลฯ
วาทกรรมในฐานะศาสตร์ที่แยกออกจากศรัทธาที่หาข้อยุติไม่ได้นี้ เป็นความท้าทายทางปัญญาซึ่งชวนให้ตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า มันจะเข้าออกประตูแห่งความโง่เขลาหรือเป็นส่วนหนึ่งในนั้นอยู่เดิม
ถ้าหากว่า ศีลธรรมที่ยั่งยืนและทรงคุณค่าของสังคม เกิดจากฐานรากของปัญญา แล้วสังคมที่ปราศจากปัญญา แต่เปี่ยมล้นด้วยอวิชชา ที่ประกอบด้วย อายตนะ 12 จะเป็นสังคมที่มีศีลธรรมได้อย่างไร
การเมือง ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของสังคมมนุษย์ มีสองด้านคือ ด้านของอำนาจขับเคลื่อนทิศทางสังคม และด้านการมีส่วนร่วมของพลเมือง แต่หลายปีมานี้นับตั้งแต่ 1) การสิ้นสุดของสงครามเย็น 2) ข้อบกพร่องของกระแสโลกาภิวัตน์ 3) ความเฟื่องฟูของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม 4) ความเหลื่อมล้ำของคนร่ำรวยกับคนยากจนที่แก้ไม่ตก ทำให้ท่าทีรังเกียจการเมือง และนักการเมืองเป็นกระแสขึ้นมา บางทีเกินเลยถึงขั้นอ้างนักคิดและนักเสียดสีโบราณอย่างซิเซโร่ ว่านักการเมืองคือนักปล้นที่ตะกละตะกลาม
ผ้าคลุมแห่งอวิชชาที่เกินเลยชนิดสุดขั้วเกิดตรงที่ว่า อาชีพนักการเมืองนั้นจะเกิดได้เฉพาะในสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น ผลข้างเคียงก็เลยมีการปรามาสว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเลวร้าย ด้วยเหตุนานัปการ
บางคนถึงขั้นสรุปมักง่ายว่า ประชาธิปไตยเป็นแฟรนไชส์ที่ปริร้าว
ข้อสรุปของฟรานซิส ฟูกูยามาในเรื่อง จุดจบของประวัติศาสตร์และมนุษย์คนสุดท้าย ที่รื้อฟื้นข้อเขียนเก่าของ แดเนียล เบลล์ ในเรื่องอวสานของอุดมการณ์ : ว่าด้วยความเหนื่อยล้าของความคิดทางการเมืองในทศวรรษ 1950 ถือได้ว่าส่งอิทธิพลทางความคิดทั้งตรงและอ้อมให้กับชาวโลกที่เบื่อหน่าย นักการเมือง และประชาธิปไตย อย่างมากจนถึงทุกวันนี้
ปมประเด็นว่าด้วย ความเหนื่อยล้าทางอุดมการณ์ ถือเป็นข้ออ้างที่ถูกขยายเกินจริงของปัญญาชนผู้อับจนที่ต้องการทรยศแนวทางเดิมที่เคยยึดถือ มักจะถูกยกขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมืออธิบายปรากฏการณ์ในยามผู้คนสับสนทางความคิดและจิตสำนึกครั้งแล้วครั้งเล่า
แดเนียล เบลล์ นักคิดอเมริกันแห่งทศวรรษที่ 1950 ทำการตัดตอนประโยคหนึ่งของคาร์ล มาร์กซที่ว่า เมื่อรัฐทุนนิยมพัฒนาการมาถึงระดับหนึ่งสังคมที่ไร้ชนชั้นจะบังเกิดขึ้นมาส่งผลให้อุดมการณ์กลายเป็นความไร้สาระ แล้วเติมแต่งใหม่เอาเองว่า ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้น จะเปิดช่องให้สังคมถูกครอบงำโดยเทคโนแครตที่มีความชำนาญในการจัดการที่ไม่ต้องมีอุดมการณ์ ซึ่งปัญหาของสังคมที่แข็งกระด้างดังกล่าวจะส่งผลให้อุดมการณ์เก่าคร่ำคร่าทางศาสนากลับมาปักรากมั่นคงอีกรอบหนึ่ง
ในช่วงที่นำเสนอครั้งแรก นักคิดทุกค่าย พากันวิพากษ์เบลล์เสียจมดิน นับตั้งแต่ … มีจุดหมายต่อต้านพลวัตทางสังคมของชนชั้นล่างมิให้ลืมตาอ้าปากได้ ปฏิเสธวาทกรรมทางการเมืองให้สังคมอยู่ในกำมือของผู้ชำนัญเฉพาะเรื่อง สร้างฉันทามติจอมปลอมแบบฟ้าประทานจากผู้กุมอำนาจรัฐ เป็นทนายความแก้ต่างให้กับพวกสังคมประชาธิปไตยที่ปฏิเสธความขัดแย้งทางชนชั้น และต่อต้านแนวคิดเสรีนิยมใหม่ของคนหนุ่มสาวยุคปลายของสงครามเย็น…แต่ก็ไม่ตาย
ข้อเสนอของเบลล์ถูกรื้อฟื้นมาใช้อีก โดยสาวกของลีโอ สเตร้าส์แห่งสำนักนีโอคอนส์ของอเมริกาชื่อ ฟรานซิส ฟูกูยามา ฉวยจังหวะอันดีเยี่ยมหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายด้วยการประกาศว่า ประวัติศาสตร์มาถึงจุดอวสานเรียบร้อยแล้ว เพื่อประกาศชัยชนะของแนวคิดในการเชิดชูโมเดลประชาธิปไตยแบบอเมริกัน
พร้อมกันนั้น ฟูกูยามา ยังขโมยข้อสรุปของ อเล็กซานเดอร์ โคจีฟที่เอาสีข้างเข้าถูว่า การลุกฮือเพื่อขบถโค่นอำนาจรัฐเก่าของมวลชนนั้น ได้จบสิ้นไปแล้วนับแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 มา สร้างข้อสรุปใหม่ว่า ภายใต้ชัยชนะของทุนนิยม ที่นำประชาธิปไตยพร้อมกับพี่น้องอันได้แก่ ตลาดเสรี นิติรัฐ และ การแบ่งแยกอำนาจอย่างถ่วงดุลมอบให้มวลชนทั้งโลก แม้ว่าความยากจน การเหยียดชาติพันธุ์ และ การกดขี่ทางเพศจะยังเป็นสรณะของสังคมมนุษย์ต่อไปก็ตามที
ข้อสรุปอันลือลั่นนี้ ได้รับการปรับปรุงใหม่ หลังพลพรรคอัล-กออิดะฮ์ ของโอซามา บิน ลาเดน ดำเนินปฏิบัติการ 11 กันยายน 2544 อันสะท้านโลก เป็นว่า ประวัติศาสตร์จะจบสิ้นลงก็ต่อเมื่อวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ อันเป็นสัญญะของความก้าวหน้าทางปัญญาของมนุษย์ ได้ยุติลงแล้วเท่านั้น ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาเช่นนั้น
(อ่านต่อฉบับหน้า)