BA จะกลับมาฟื้น

พูดถึง BA มีการคาดกำไรจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2562 จากรายได้ฟื้นตัวขึ้น รวมถึงมีการบริหารค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น และหาธุรกิจอื่นเสริม ซึ่งจะเป็นตัวหนุนให้บริษัทเติบโตอีกส่วนหนึ่งนั่นเอง


คุณค่าบริษัท

พูดถึง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ได้มีการคาดกำไรจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2562 จากรายได้ฟื้นตัวขึ้น รวมถึงมีการบริหารค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น และหาธุรกิจอื่นเสริม ซึ่งจะเป็นตัวหนุนให้บริษัทเติบโตอีกส่วนหนึ่งนั่นเอง

ที่สำคัญในปี 2562 จะเปิดเส้นทางบินใหม่ 3 เส้นทาง กรุงเทพฯ-คัมรัน (เวียดนาม) เปิด 25 ม.ค. 2562 เชียงใหม่-กระบี่ (เปิด 31 มี.ค. 2562) และเชียงใหม่-หลวงพระบาง (เปิด 2 เม.ย. 2562) รวมถึงเพิ่มความถี่กรุงเทพฯ-ดานัง จาก 7 เที่ยว เป็น 14 เที่ยวต่อสัปดาห์ และกระบี่-กรุงเทพฯ จาก 21 เที่ยว เป็น 28 เที่ยวต่อสัปดาห์ Codeshare (เที่ยวบินร่วม) เพิ่มอีก 2-3 สายการบิน ช่วยส่งต่อผู้โดยสารมาให้แก่ BA รับช่วงต่อไปในการนำผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ

นอกจากนี้ ทาง BA จับมือกับ OTA (Online Travel Agents) อย่างเอ็กซ์พีเดีย เป็นช่องทางในการขายในยุโรป อเมริกาเหนือ และออสตราเลเซีย โดยอยู่ระหว่างเตรียมร่วมมือกับ OTA ในจีนเพิ่ม รวมถึงการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นในกลุ่ม CLMV และขยายธุรกิจแบบเช่าเหมาลำที่ปัจจุบันมีเพียง 2 เส้นทาง ฝูงบินจะมี 38 ลำ

ทั้งนี้ BA คาดกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น 3.5% และมีเป้า Load Factor เพิ่มเป็น 70% ผู้โดยสารโต 3% เป็น 6.13 ล้านคน และรายได้เฉลี่ยต่อตั๋ว เพิ่มขึ้น 1% ส่วนธุรกิจอื่น ๆ มีแนวโน้มดีขึ้นจากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการบินมีการแข่งขันสูง จึงพยายามหาธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาช่วย เช่นตั้งบริษัทแห่งใหม่ในการอบรมด้านการบิน หลังจากเข้าถือหุ้นในร้านปลอดอากรที่ลาว การเปิดครัวการบินแห่งใหม่ที่เชียงใหม่ และขยายธุรกิจร้านอาหาร

นอกจากนี้ จะเข้าร่วมประมูลสัมปทานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและสัมปทานพื้นที่ร้านดิวตี้ฟรีของ AOT ฝั่งค่าใช้จ่ายจะบริหารจัดการให้ดีขึ้น แม้ทำ Hedging น้ำมันไว้ทั้งปีราว 65% อาจไม่ได้ช่วย เพราะทำไว้ที่ต้นทุนสูง แต่ได้ประโยชน์ส่วนที่เหลือจากราคาน้ำมันที่ปรับลง, การเปลี่ยนผู้ให้บริการ booking online รายใหม่ จะทำให้ค่าธรรมเนียมต่อ booking ถูกลงจาก 8-10 เหรียญ เหลือเพียง 1-2 เหรียญ และค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงจะลดลงหลังการ heavy maintenance หมดไปในปี 2561 รวมถึงการเปลี่ยนฝูงบินใหม่ 20 ลำ คาดว่าจะสรุปได้ในไตรมาส 2/2562 ที่จะทยอยรับ 4-5 ปี ซึ่งเครื่องบินรุ่นใหม่จะประหยัดการใช้น้ำมันในอนาคต

สำหรับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องของ BA เพื่อให้บริษัทกลับมาฟื้นตัวได้แกร่ง นับเป็นเรื่องดีเพราะอย่างไรก็ตามบริษัทยังมีสภาพคล่องทางการเงินดีอยู่ เพราะบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนรวมมากถึง 11,429.83 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนเพียง 8,340.20 ล้านบาท ได้ค่า CURRENT RATIO อยู่ที่ระดับ 1.37 เท่า แสดงว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทค่อนข้างดี ซึ่งยังสามารถขยายธุรกิจ

สิ่งสำคัญทาง BA ยังเด่นกว่ากลุ่ม เนื่องจากรักษากำไรได้อยู่ แม้ว่าผลกำไรในปี 2561 จะทำกำไรได้เพียง 249.26 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 787.91 ล้านบาท

ในขณะที่นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ราคาพื้นฐานปรับเป็น 14.90 บาท ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ 523,387,900 หุ้น 24.92%
  2. นางอาริญา ปราสาททองโอสถ 243,440,900 หุ้น 11.59%
  3. นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 222,777,500 หุ้น 10.61%
  4. น.ส.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ 136,250,000 หุ้น 6.49%
  5. ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 105,000,000 หุ้น 5.00%

รายชื่อกรรมการ

  1. พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ประธานกรรมการ, กรรมการอิสระ
  2. นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร, รองประธานกรรมการ
  3. นางอาริญา ปราสาททองโอสถ กรรมการ
  4. พล.ต.ท.วิสนุ ปราสาททองโอสถ กรรมการ
  5. นายประดิษฐ์ ทีฆกุล กรรมการ

Back to top button