สินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์สิ้นสุดทางลง!
ภาพรวมสินเชื่อของ 9 ธนาคารพาณิชย์นับว่าโมเมนตัมดีขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาทางสินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนมกราคม และเพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่หากคำนวณ 2 เดือนแรกยังคงหดตัว 0.4% เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้มากในช่วงต้นปีนั่นเอง
เส้นทางนักลงทุน
ภาพรวมสินเชื่อของ 9 ธนาคารพาณิชย์นับว่าโมเมนตัมดีขึ้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาทางสินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนมกราคม และเพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่หากคำนวณ 2 เดือนแรกยังคงหดตัว 0.4% เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้มากในช่วงต้นปีนั่นเอง
ขณะที่ทางเงินฝากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนมกราคม รวมถึงเพิ่มขึ้น 3.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 2 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 0.6% ส่วนด้านเงินกู้ยืมเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 3.0% จากเดือนมกราคม และเพิ่มขึ้น 0.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน อีกทั้ง 2 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 1.0% ส่งผลให้ LDR (สัดส่วนของสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของธนาคาร) อยู่ที่ 92.2% ในสิ้นกุมภาพันธ์ 2562 เทียบกับ 93.1% ในสิ้นธันวาคม 2561
ขณะเดียวกันเห็นว่า ทางสินเชื่อของ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เติบโตทุกประเภทในเดือนกุมภาพันธ์
ส่วนทางด้านสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวมากสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เทียบกับเดือนมกราคม 2562 คือ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP และ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB โดยมีการเพิ่มขึ้น 0.5%
ทางธนาคารพาณิชย์ที่มียอดสินเชื่อสะสม 2 เดือนแรกปี 2562 เติบโตดีสุดเป็น บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.6% รองลงมาเป็น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.4% ต่อมา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.3% และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.2%
ส่วนธนาคารที่มียอดสินเชื่อสะสม 2 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวมากสุดคือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ยอดสินเชื่อลดลง 1.7% รองลงมาเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ยอดสินเชื่อลดลง 0.9% ต่อมา ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ยอดสินเชื่อลดลง 0.6% ต่อมา บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ยอดสินเชื่อลดลง 0.4% และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ยอดสินเชื่อลดลง 0.3% สำหรับยอดสินเชื่อลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าชำระคืนหนี้ & ภาคธุรกิจระดมทุนโดยตรงผ่านการออกตั๋ว B/E และหุ้นกู้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามถือว่ายอดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาดีขึ้นดูได้จากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะเติบโตดีขึ้นในอนาคต พร้อมกับจะสิ้นทางลงของสินเชื่อหากเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปด้วยความสดใส…ถึงตอนนั้นจะมีแต่การลงทุน ! ซึ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะได้ประโยชน์จากการลงทุนที่เติบโต
สิ่งสำคัญการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในประเทศยังคงเดินหน้าต่อและเป็นบวกกับธนาคาร สำหรับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ผู้บริหารมองว่าในระยะสั้นเห็นการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย แต่ในระยะยาวก็ต้องปรับตัวรับห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาคส่งออกของไทย ด้านการเลือกตั้งคาดว่าจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจดีขึ้น
ทั้งนี้ทาง บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ยังคงให้ BBL และ KKP เป็นหุ้น Top Picks ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์
เนื่องจากเห็นว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL จะได้ประโยชน์จากการลงทุนที่ฟื้นตัวเพราะมีสัดส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจสูง รวมทั้งยังมีสินเชื่อต่างประเทศมากที่สุดในธนาคารพาณิชย์ของไทย (สัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศคิดเป็น 17% ของทั้งหมด)
ประกอบกับเป้าหมายธุรกิจปี 2562 ทาง BBL ตั้งเป้าสินเชื่อโต 4-6% เน้นสินเชื่อรายใหญ่ ส่วน NIM คาดว่าจะเพิ่มเล็กน้อย รายได้ค่าธรรมเนียมโต 5% จากธุรกิจบลจ.และประกัน ส่วนการจับมือกับ AIA ยังทำรายได้ไม่มากและต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะให้รายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ
มีการแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาพื้นฐาน 250 บาท
เหมือนกับ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP จะยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2562 โดยตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 8%, ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) 4.5-4.7%, ROE 14-15%, Credit cost 100-120bps และ NPL ratio ต่ำกว่า 4% ซึ่งประมาณการของฝ่ายวิจัยฯ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส เป็นไปตาม Guidance ของธนาคาร
นอกจากนี้ในปี 2562 ทาง KKP มีดีลวาณิชธนกิจใหญ่ เช่น ดีล IPO หุ้น PTTOR (บริษัทย่อย PTT), ดีลที่ปรึกษาการเงินการซื้อขายโรงไฟฟ้า, ดีลที่ปรึกษาการควบรวมกิจการ เป็นต้น ส่วนธุรกิจบริหารสินทรัพย์นั้นเน้นลูกค้า HNW ที่มีศักยภาพ รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ ๆ
สิ่งสำคัญ KKP ที่มีการเติบโตได้ดีจากการมีธุรกิจและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน และจ่ายปันผลสูง โดยคาดการณ์เงินปันผลปี 2562 ไว้เท่ากับปีก่อนที่ 5 บาทต่อหุ้น (จ่ายปีละ 2 ครั้ง) ซึ่งให้ Yield ณ ราคาหุ้นปัจจุบันที่ 70 บาทสูงถึง 7% ขณะเดียวกันหุ้นก็มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูงด้วย
พร้อมยังมีคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 97 บาท
ดังนั้น เชื่อว่ากลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่างจะมุ่งเน้นไปที่การขยายกลุ่มสินเชื่อที่ให้อัตรากำไรสูงให้มากขึ้น !!!
…