ตาบอดสี (จบ)

ข้อเสนออันแหว่งวิ่นของปราชญ์เทียมร่วมสมัยนี้ เป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นนำทั่วโลกอย่างมาก เพราะปฏิเสธการต่อสู้กับอยุติธรรม และเพื่อเสรีภาพ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ ตราบใดที่สังคมยังไม่สามารถบรรลุหลักจริยธรรมของอารยชน 4 ประการ (จิตวิญญาณอลังการ ยุติธรรมในส่วนแบ่งของการทำงาน ผู้นำที่สร้างพื้นที่สาธารณะเติบใหญ่ และมิตรภาพบนความแตกต่างอย่างมีขันติธรรมของมวลชน) ของอริสโตเติลที่เรียกกันว่าเป็น จริยธรรมนิโคมาเชียน


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ข้อเสนออันแหว่งวิ่นของปราชญ์เทียมร่วมสมัยนี้ เป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นนำทั่วโลกอย่างมาก เพราะปฏิเสธการต่อสู้กับอยุติธรรม และเพื่อเสรีภาพ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ ตราบใดที่สังคมยังไม่สามารถบรรลุหลักจริยธรรมของอารยชน 4 ประการ (จิตวิญญาณอลังการ ยุติธรรมในส่วนแบ่งของการทำงาน ผู้นำที่สร้างพื้นที่สาธารณะเติบใหญ่ และมิตรภาพบนความแตกต่างอย่างมีขันติธรรมของมวลชน) ของอริสโตเติลที่เรียกกันว่าเป็น จริยธรรมนิโคมาเชียน

มีคนวิเคราะห์ว่า ภาวะของความล้มเหลวเชิงตรรกะในระบบการศึกษา​​ ที่โจทย์ถูกย่นย่อให้เหลือทางเลือกแค่ 2  ใช่ หรือไม่ใช่ (เพื่อจะบังคับให้ต้องเลือกทางเลือกเดียวในท้ายที่สุด) โดยตัดทางเลือกเพิ่มเติมที่เป็นไปได้อื่น ๆ ทิ้งไป ให้เหลือแค่ขาวหรือดำ เห็นด้วยหรือปฏิเสธ ผสมกับความคลุมเครือและไม่แน่นอนของข้อมูลข่าวสารที่ถูกซ่อนเร้นปมเอาไว้ แล้วอาศัยตรรกะเสมือนจริงลดทอนทางเลือก เพื่อหลบเลี่ยงการพิจารณาความเป็นไปได้อื่น ๆ

การเมืองก็เช่นกัน นับตั้งแต่ที่สังคมเริ่มรู้เรียนรู้ว่า ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งตัวแทนมาทำหน้าที่บริหารอำนาจอธิปไตยนั้น จำต้องมีนักการเมืองเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ เริ่มถูกแทนที่ด้วยมายาคติว่า เทคโนแครตมีคุณภาพและคุณธรรมเหนือกว่านักการเมืองอาชีพหรือสมัครเล่น เพราะคนประเภทหลังมีความหื่นกระหายในอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนเป็นสรณะ แต่เทคโนแครตนั้นนอกจากมีภูมิรู้มากกว่าแล้ว ยังสำรวมต่ออกุศลมูลมากกว่า

เวลาที่นักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ปลิงสูบเลือดร่วงจากอำนาจ สื่อในฐานะตัวแทนทางสำนึกสามัญร่วมของคนจำนวนมากเปล่งเสียงโล่งอก แต่เวลาที่เทคโนแครตตกจากเก้าอี้ กลับห่อเหี่ยวและเชื่อว่าโลกช่างอยุติรรมต่อคนดี

เสียงเรียกร้องให้นำเทคโนแครตที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามารับงานขับเคลื่อนสังคม เพราะเชื่อว่า อัศวินม้าขาวที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะสามารถใช้ “สองมือที่ช่ำชองและสะอาด” สนองตอบเจตจำนงของมวลชนร่วมสมัยและอนาคตได้ดีกว่า

จริง ๆ แล้ว งานวิจัย และข้อเท็จจริงนับครั้งไม่ถ้วนที่แสดงให้เห็นโดยไม่ต้องพึ่งพาข้อแก้ตัวหรือการโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ ว่า อาณาจักรหรือรัฐจำนวนมากมายในอดีตและปัจจุบันล่มสลายเพราะฝีมือ “บกพร่องโดยสุจริต” ของเทคโนแครต มากกว่านักการเมืองที่ฉ้อฉลหลายเท่า เหตุผลหลักสำคัญคือ พวกเขาไม่ใช่ตัวแทนของปวงชน ดังนั้นจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครเลย นอกจากจิตสำนึกและอหังการเพราะตีนไม่ติดดิน

จุดอ่อนด้อยของเทคโนแครต ที่กลายเป็นจุดแข็งซึ่งยากปฏิเสธได้ของนักการเมือง อยู่ที่ การ “ตัดตอน” ปัญหาเฉพาะทางของบรรดาเทคโนแครตในด้านต่าง ๆ เพื่อ “ออกจากการเมือง” ทำให้ความสามารถในการบูรณาการของปัญหาที่ไม่ได้มีแค่สูตรสำเร็จในตำรา ไม่สามารถทำได้ และเพิ่มความเสี่ยงในความล้มเหลวที่จะระดมสรรพกำลังทั้งหลาย ในขณะที่นักการเมืองในฐานะตัวแทนเจตจำนงของมวลชน เข้ามามีบทบาทที่จำเป็นดังกล่าว

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลกทุนนิยม ยืนยันเสมอมาว่า นโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่บัดซบทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย ล้วนมาจากรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีประกาศนียบัตรและปริญญาชั้นเลิศของยุคสมัยที่ไร้ความทะเยอทะยานทางการเมืองและสะอาดบริสุทธิ์ทั้งสิ้น คนเหล่านั้น ไม่เคยถูกข้อกล่าวหาในฐานะแพะแม้แต่น้อย

เช่นกัน คนไทยส่วนใหญ่ มักแสร้งทำลืมไปว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย เป็นเพราะฝีมือของเทคโนแครตคนดีจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่เพราะบรรหาร ศิลปอาชา หรือชวลิต ยงใจยุทธ

ยามนี้ เทคโนแครต ซึ่งปฏิเสธเจตจำนงของมวลชน และปฏิเสธความรับผิดชอบในกรณีผิดพลาดที่คนจำนวนไม่น้อยพากันชื่นชมเพื่อนำมาอ้างเป็นอาวุธทางการเมืองทิ่มแทงนักการเมืองโดยอาศัยจังหวะเหมาะที่สังคมไทยตกอยู่ในอาการตาบอดสีกันอย่างจริงจังมานานกว่า 12 ปี สร้างเกมการเมืองผ่านพรรคการเมืองร่างทรงทหาร หวังครอบงำสังคมไทยต่อไปภายใต้ข้ออ้างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

คำถามคือ คนรุ่นใหม่ และพลเมืองไทยที่ตาไม่บอดสี ได้แสดงพลังออกมาในการเลือกตั้งทั่วไปชัดเจน จะยอมรับการครอบงำจากคนตาบอดสีต่อไปแค่ไหน

Back to top button