พาราสาวะถีอรชุน

วันวานพาดพิงถึงเหตุผลที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่กล้าใช้มาตรา 44 ปลดหรือแขวน หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เพราะกลัวว่าเด้งไปรัฐบาลเองก็ไม่มีปัญญาแก้ปัญหาน้ำท่วมรถติดช่วงฝนตกหนักได้ ดังนั้น จึงอย่าเปลืองตัวดีกว่า อีกประการสำคัญเหมือนอย่างที่ท่านผู้นำว่าไว้ เมื่อคนกรุงเทพฯ เลือกเขามาใช้งานแล้วก็ต้องยอมรับชะตากรรม


วันวานพาดพิงถึงเหตุผลที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่กล้าใช้มาตรา 44 ปลดหรือแขวน หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เพราะกลัวว่าเด้งไปรัฐบาลเองก็ไม่มีปัญญาแก้ปัญหาน้ำท่วมรถติดช่วงฝนตกหนักได้ ดังนั้น จึงอย่าเปลืองตัวดีกว่า อีกประการสำคัญเหมือนอย่างที่ท่านผู้นำว่าไว้ เมื่อคนกรุงเทพฯ เลือกเขามาใช้งานแล้วก็ต้องยอมรับชะตากรรม

วันนี้ผลจากการใช้มาตรา 44 ในการเด้ง 71 ข้าราชการทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ มีความเห็นที่น่าสนใจอยู่หนึ่งรายที่จะข้ามพ้นไม่ได้ นั่นก็คือ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงความเป็นห่วงต่อการสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.

โดยมุมของหมอมงคลที่เป็นห่วงคือผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวคือ เป็นห่วงคนไม่รวยจริง คนเป็นมะเร็ง คนไตวาย คนติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยเรื้อรังต่างๆ ที่กำลังอาศัยใบบุญการรักษาพยาบาลโครงการบัตรทองอยู่ในขณะนี้ เพราะการลงโทษย้ายนายแพทย์วินัยคือการส่งสัญญาณ การล้มโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือคนจน

จะอ้างว่าทำผิดและย้ายเพื่อการสอบสวนก็ฟังไม่ขึ้น เพราะเลขาฯ สปสช.ทำทุกอย่างภายใต้การกำกับของคณะกรรมการหรือบอร์ด เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเชื่อว่าข้อมูลที่ใช้ตัดสินเป็นข้อมูลที่มีอคติส่วนตัว การที่บุคคลมีอำนาจเบ็ดเสร็จและใช้อำนาจโดยขาดความไตร่ตรองที่รอบคอบ ยิ่งนานไปการหลงในอำนาจจะรุนแรงมากขึ้นและความเสียหายจะรุนแรงกว่าการปล่อยให้ประชาชนจัดการกันเอง

โดยท้ายที่สุด หมอมงคลเรียกร้องให้สติกลับมากำกับจิตของทุกคน เพื่อที่คนไทยจะมีความสุขที่แท้จริง ก็ไม่รู้ว่าเรียกร้องไปถึงใคร แต่ในความหมายของคำว่าบุคคลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ น่าจะชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้ว ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเรื่องยากเป็นอย่างยิ่งหากจะให้บรรลุตามที่อดีตปลัดกระทรวงคุณหมอร้องขอ เพราะนับวันดูเหมือนว่า ผู้มีอำนาจจะออกอาการหงุดหงิดง่ายให้เห็นบ่อยครั้ง

กลุ่มคนที่รองรับอารมณ์เป็นพวกแรกๆ ก็หนีไม่พ้นสื่อมวลชนที่ต้องติดตามทำข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กลายเป็นกระโถนท้องพระโรงที่ต้องรองรับอารมณ์โมโหที่ไม่รู้ว่าจะโกรธาเอาวันไหน แต่อีกด้านในยุคทหารครองเมือง สื่อบางสำนักอาจจะยังคงมึนกับสถานะของตัวเองอยู่ เพราะก่อนหน้านั้น เคยเชียร์ทหารให้ไล่รัฐบาลเลือกตั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงจำต้องรับสภาพหน้าชื่นอกตรม

ด้วยเหตุที่เคยโบกมือดักกวักมือเรียกให้ทหารมาโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง อารมณ์ของผู้มีอำนาจจึงรู้สึกว่าสื่อบางสำนักเป็นพวกเดียวกัน แต่ความเป็นจริงไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร ด้วยสถานะของความเป็นสื่อก็ไม่อาจจะละทิ้งกระบวนการตรวจสอบ อันถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประชาชนผู้รับสื่อไม่ว่าจะมีทัศนคติทางการเมืองเลือกข้างหรือไม่อย่างไร เห็นถึงความตั้งใจและยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ

                สรุปแล้ว ไม่ว่าจะรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือการยึดอำนาจไม่อาจที่จะหลุดพ้นของวงจรการตรวจสอบของสื่อได้ แต่จะว่าไปแล้วสิ่งที่รัฐบาลคสช.กำลังเผชิญอยู่ ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น แท้ที่จริงแล้วไมใช่เรื่องของกระบวนการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล หากแต่เป็นประเด็นที่ว่าด้วยความสามารถในการบริหารงานและแก้ไขปัญหา รวมไปองค์กรอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เหตุที่บิ๊กตู่ต้องเป็นเดือดเป็นแค้น นั่นเป็นเพราะไม่ว่าจะองคาพยพไหนก็ล้วนแล้วแต่ผ่านการตั้งมาจากมือของตนเองทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เสียงวิจารณ์ถึงความไม่เอาไหนของกระบวนการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำท่าว่าจะเสียของ จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปด้วย

พลพวงจากเสียงวิจารณ์ที่เริ่มรุนแรงหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เอง จึงเป็นที่มาของการที่เจ้ากรมการทหารสื่อสารต้องเรียกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเข้าพบเป็นคำรบที่สองในห้วงระยะเวลาไม่ห่างกันซักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าจะขอหารือกันแค่ 2-3 เดือนต่อหน เพราะคงไม่มีใครที่จะทนเห็นเจ้านายถูกด่าถูกถามให้เกิดอารมณ์บ่จอยได้อยู่ทุกวี่ทุกวัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับแวดวงสื่อคงเป็นการออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของท่านผู้นำเรื่อง “รับใบสั่งและมีผลประโยชน์” ในการเขียนข่าว ของอุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยหนนี้ถ้อยแถลงไม่มีอะไรต่อเติมพ่วงท้ายในลักษณะที่จะเป็นการออกตัวหรืออุ้มผู้มีอำนาจเหมือนที่ผ่านมา

ข้อสังเกตอีกประการต่อการที่องค์กรสื่อออกมาปกป้องศักดิ์ศรีของตนเอง และการที่มีการเรียกผู้บริหารสื่อเข้าไปพบนั้น เสมือนเป็นการบ่งบอกนัยยะว่า การบริหารงานของรัฐบาลในเวลานี้มีปัญหา สถานการณ์ย่ำแย่ ประชาชนเบื่อหน่าย กระแสเสียงวิจารณ์จึงรุนแรงหนักหน่วง สำหรับบางสำนักแทบจะไม่มีเยื่อใยแห่งความเป็นพวกเดียวกันก่อนหน้านี้เหลืออยู่เลย

ควันหลงจากการเปิดบ้านย่านคลองสี่รับคำอวยพรวันเกิดครบรอบ 70 ปีของ พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนถอดรหัสคำพูดของบิ๊กตุ้ยที่บอกว่านักข่าวอย่าถามบิ๊กตู่มากเพราะท่านเหนื่อยแล้ว มีความหมายแฝงอะไรหรือเปล่า เช่นเดียวกันกับการมอบไฟฉายเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้ร่วมงานเพื่อไว้ส่องหาประชาธิปไตย

ประสาคนผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะทั้งผู้ถูกกระทำในช่วงรับราชการเพราะนามสกุลชินวัตร กับการถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่ปกติหลายๆ ครั้ง คงรู้ดีว่า ผู้มีอำนาจนั้นต้องรับภาระแรงกดดันใดมาบ้าง โดยเฉพาะจากอำนาจเบื้องหลัง แต่ที่เจ้าตัวยืนยันเป็นมั่นเหมาะคือ ไม่ขอก้าวเข้าสู่ถนนสายการเมืองอีกต่อไปเพราะไม่อยากเจ็บตัว

ผิดกับอดีตนายทหารใหญ่บางรายที่มีตำแหน่งแห่งหนอยู่ในเวลานี้ มีกระแสข่าวเล็ดลอดมาว่าได้มีการเจรจาเป็นการลับเฉพาะ จะมีการมอบหัวโขนหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ให้บริหาร นั่นเท่ากับว่า ทำให้เจ้าตัวฝันหวานไปถึงการก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำประเทศอย่างสง่างาม แต่ในสถานการณ์การเมืองที่เชื่อใครไม่ได้ แวดวงพนันขันต่อฟันธงว่า โอกาสที่ท่านผู้ยิ่งใหญ่จะถูกหลอกมีมากกว่าสมหวัง

Back to top button