น้ำผึ้งหยดแรก หรือ ผลสะเทือนผีเสื้อ
คำนิยาม 2 คำข้างต้นนี้ มีความหมายคนละแบบ แต่ให้ผลลัพธ์ต่างกันทั้งปริมาณและคุณภาพ
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
คำนิยาม 2 คำข้างต้นนี้ มีความหมายคนละแบบ แต่ให้ผลลัพธ์ต่างกันทั้งปริมาณและคุณภาพ
น้ำผึ้งหยดเดียว มาจากนิทานเก่าแก่เรื่องที่เกิดจากปรากฏการณ์เล็ก ๆ แต่สภาพแวดล้อมของคนที่เกี่ยวข้องขาดขันติธรรมในการอยู่ร่วมสังคมเดียวกันจึงบานปลายเป็นเรื่องใหญ่โต
ส่วน ผลสะเทือนผีเสื้อ หรือ Butterfly Effect เป็นคำนิยามที่ใช้อธิบายการค้นพบครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1961 ของเอ็ดเวิร์ด ลอเร้นซ์ นักคณิตศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยาผู้นิยมนาซี เริ่มจากที่ได้ออกแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในงานพยากรณ์อากาศ ซึ่งในการคำนวณข้อมูลเพื่อพยากรณ์อากาศครั้งหนึ่ง เขาต้องการจะดูผลการพยากรณ์ซ้ำ จึงได้ทำการคำนวณเป็นครั้งที่ 2 แต่ปรากฏว่าเกิดผลตรงกันข้าม การประมวลผลครั้งใหม่ของเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ผลในครั้งหลังแตกต่างจากการประมวลผลครั้งแรกอย่างมหาศาล เพราะการตัดทศนิยมที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยเพียงแค่ 1 ในพันส่วนของข้อมูลที่ป้อนเข้าไป จะให้ผลที่แตกต่างกันเหลือล้น
ลอเร้นซ์นำกระบวนการคิดนี้ไปค้นพบหลักการที่ใหม่และสำคัญมากเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปรัชญาชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามสูตรของสถาปนิกชื่อดังเยอรมัน มิส ฟาน เดอร์ โรห์ ที่ถือคติทำนองเดียวกันว่า “พระเจ้า (ซาตาน) อยู่ในรายละเอียด” เป็นทฤษฎีใหม่ว่าด้วยความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็สามารถสร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงให้เกิดขึ้นได้ เปรียบเหมือนกับการกระพือปีกของผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงได้ และในทางตรงกันข้ามอาจสามารถหยุดยั้งการเกิดขึ้นของพายุทอร์นาโด
คำทั้งสองนี้ สามารถนำมาเทียบเคียงเพื่อตั้งคำถามกับ หัวหน้า คสช. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ เลขาฯ คสช. พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ว่า การปลุกสร้างกระแส “ล้มเจ้า ภาคล่าสุด” จะกลายเป็นไปดังคำนิยามข้างต้นหรือไม่
เรื่องนี้ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่มีความหมายต่อตลาดหุ้นไทยในอนาคตไม่น้อยทีเดียว
ท่ามกลางคำถามตามมามากมายเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และการนับคะแนนที่เกิดความไม่โปร่งใส ของ กกต. ชุดปัจจุบันว่า มีเรื่องไม่ชอบมาพากลสารพัดเกิดขึ้น อาทิ
– การหยุดนับคะแนนกลางคัน แล้วทิ้งเวลานับใหม่ที่มีการแก้ไขตัวเลข
– จำนวนคะแนนในหีบเลือกตั้งที่มากกว่าจำนวนคนที่มาใช้สิทธิลงคะแนนมากกว่า 5 ล้านคะแนน ไม่มีคำอธิบายที่ดีพอ ว่าเหตุใดบัตรที่เกินมาส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นในเขตที่พรรคพลังประชารัฐได้รับชัยชนะ
– บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์กว่า 1,500 ใบ ไม่ถูกนับ เพราะกกต.อ้างว่ามาถึงช้าเกิน ทั้งที่เป็นความบกพร่องของ กกต.เอง
– ท่าทีรับรองคำสมอ้างของพรรคพลังประชารัฐในการเอาคะแนน popular vote (ซึ่งปกติของการเมืองระบบรัฐสภาจะไม่ใช้) เพื่อเปิดช่องให้พรรคดังกล่าวจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นการเอียงกระเท่เร่ชัดเจน
– ฯลฯ
คำถามมากมายเหล่านี้ นำไปสู่กระแสสูงของการเรียกร้องให้ทำการถอดถอน กกต.ทั้งชุดตามขั้นตอน เพราะถือว่าถ้าปล่อยให้ดำเนินต่อไป เท่ากับผู้ที่ไปเข้าคูหาลงคะแนนถูกหลอกลวงกับ “ปาหี่ตัวเลข” อย่างชัดเจน
นอกจากความพยายามขัดขวางการเคลื่อนไหวดังกล่าวสารพัดโดยกลไกรัฐและมวลชนจัดตั้ง ยังมีความพยายาม “เลี่ยงบาลี” ด้วยการสร้างกระแสขึ้นมากลบเกลื่อนความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของ กกต.
คำว่า เลี่ยงบาลี เป็นคำสำนวนไทย หมายถึง การพูด หรือ การตีความ ให้ตัวเองได้ประโยชน์หรือไม่เสียประโยชน์ เพื่อหวังผลให้เรื่องไม่ดีที่ตัวเองทำ ดูเป็นเรื่องปกติไป
ตัวอย่างที่เห็นชัดในปัจจุบัน มีการกระทำมากมายที่เข้าข่ายที่เรียกว่า เลี่ยงบาลี เช่น การซื้อขายพระเครื่อง ก็เลี่ยงมาใช้คำว่า การเช่าพระ เนื่องจากคนไทยมีความเชื่อว่าพระเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ห้ามซื้อห้ามขายกัน แต่ก็มีการซื้อขายพระกันเกลื่อนเมือง ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจึงเลี่ยงมาใช้คำว่า เช่าพระ แทน ทั้งที่การเช่า หมายถึง การจ่ายเงินเพื่อครอบครองสิ่งนั้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อครบเวลาก็ต้องส่งคืน แต่ในความเป็นจริง การเช่าพระ คือการซื้อขาด ไม่ใช่เช่า เพราะไม่มีใครเอามาคืน ยกเว้นตรวจเจอว่าเป็นของปลอม
การเลี่ยงบาลีของหัวหน้าและเลขาฯ คสช. ด้วยประเด็นสอดรับเสมือนเตี๊ยมกันมาแล้ว คือการเบี่ยงประเด็นต้องการความโปร่งใสเรื่องการนับคะแนนของ กกต.มันกลายเป็นเรื่อง “คิดเปลี่ยนระบอบ” ถึงขั้น “ล้มล้างสถาบัน” เลยทีเดียว
ปฏิบัติการสร้างกระแส “ล้มเจ้า” ภาคล่าสุด จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเจตนาโดยมีเป้าหมายที่นอกเหนือจากปกป้องความชอบธรรมให้กับความไม่ชอบมาพากลของ กกต.
พล.อ.ประยุทธ์บอกอ้อม ๆ ว่า ความศักดิ์สิทธิ์ประเทศไทยอยู่ที่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่าให้ใครมาล้มตรงนี้ เราต้องไม่ยอม จะล้มสถาบันหลักของประเทศไม่ได้
ทันทีทันควัน การต่อยอดกระแส “ล้มเจ้า” เกิดขึ้นโดยมีการโหมโรงตัดต่อคำอภิปรายของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในปี 2556 ขึ้นมาว่ามีเจตนาจะเปลี่ยนแปลงสถาบัน เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เปิดใจให้สัมภาษณ์สื่อเพื่อตอกย้ำกระแสล้มเจ้าระลอกล่าสุดอย่างเอาเป็นเอาตาย
คำกล่าวของพล.อ.อภิรัชต์ ที่ชี้ว่าบ้านเมืองเวลานี้มีการบิดเบือน รับสื่อโชเซียลมีเดียมีอานุภาพ กว่าอาวุธที่กองทัพมีอยู่ ขอหยุดสร้างการแบ่งแยกเผด็จการ-ประชาธิปไตย ย้ำประเทศนี้อยู่กันแบบไทย ๆ ซ้ายตกขอบ เรียนนอก อย่าดัดจริต คิดเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะเราเติบโตในประเทศนี้ ชูประเด็นนี้ชัดเจน
ก่อนที่จะโยงคำพูดสั้น ๆ อย่างกำกวมเพื่อการันตีความชอมธรรมของ กกต. ว่า “เมื่อกรรมการตัดสินแล้ว ถ้ามาโทษกรรมการแบบนี้ การล้างแค้นก็ไม่มีวันจบ”
การจุดประเด็นล้มเจ้า โดยมุ่งเป้าไปที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เช่นนี้ หยาบกระด้างยิ่งนัก
(ยังมีต่อ)