ฝ่าไฟแดงรัฐธรรมนูญ
เลือกตั้งสกปรก พ.ศ.2500 นักศึกษายุคนั้นออกมาเดินขบวนชุมนุมประท้วง ผู้เขียนยังมีอายุแค่ 4 ขวบอยู่เลย แต่เวลาผ่านเลยมาตราบเท่าปี 2562 ตำนานเลือกตั้งสกปรกครั้งนั้น ก็ยังเป็นที่จดจำและถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นตราบเท่าทุกวันนี้
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
เลือกตั้งสกปรก พ.ศ.2500 นักศึกษายุคนั้นออกมาเดินขบวนชุมนุมประท้วง ผู้เขียนยังมีอายุแค่ 4 ขวบอยู่เลย แต่เวลาผ่านเลยมาตราบเท่าปี 2562 ตำนานเลือกตั้งสกปรกครั้งนั้น ก็ยังเป็นที่จดจำและถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นตราบเท่าทุกวันนี้
เลือกตั้งปี 62 ผ่านมาแล้ว 62 ปี ล่อแหลมจะเป็นอีกตำนานหนึ่งของการเลือกตั้งสกปรกอย่างยิ่ง
การคิดคำนวณสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ กลายเป็นปมชี้ขาดที่จะบันดาลให้ขั้วการเมืองใดเป็นฝ่ายข้างมาก ได้เสียงจัดตั้งรัฐบาล และขั้วการเมืองใดเป็นฝ่ายข้างน้อย ต้องตกไปเป็นฝ่ายค้าน
เชื่อได้ว่า หากกกต.ประกาศสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อเสียแต่ก่อนเลือกตั้ง ก็คงจะไม่มีความยุ่งยากและก่อความเคลือบแคลงสงสัยในความสุจริตเที่ยงธรรมของกกต.มากมายขนาดนี้
แต่นี่เป็นการประกาศสูตรคำนวณภายหลังการเลือกตั้งปรากฏผลออกมาแล้ว ที่พรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ตาย และพรรคอนาคตใหม่ก็ได้แจ้งเกิดพรวดพราดกลายเป็นพรรคอันดับ 3 ถึงได้เกิด “สูตรพิสดาร” ขึ้นมา
จะเอาพรรคเล็กที่ไม่ได้คะแนนเสียงถึงเกณฑ์ส.ส.อันพึงมีได้ 1 คน คือ 71,057 คะแนนให้ได้รับปันส่วนส.ส. 1 คนกับเขาด้วย
อันเป็นการคำนวณที่เกินเลยไปจากรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือแม้กระทั่งพ.ร.บ.เลือกตั้ง ประกอบรัฐธรรมนูญที่คนชุดเดียวกันของมีชัย ฤชุพันธุ์ ร่วมกันยกร่างขึ้นมา
รัฐธรรมนูญมาตรา 91 เพียงมาตราเดียว ก็ค่อนข้างจะครอบคลุมแนวทางปฏิบัติตลอดจนข้อห้ามเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ไม่ว่าเกณฑ์คำนวณจำนวนส.ส.อันพึงมี ส่วนต่างจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อจะได้รับ หรือพรรคใดได้ส.ส.เขตเกินจำนวนส.ส.อันพึงมีไปแล้ว ก็จะไม่มีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สักที่นั่งเดียว
แต่ประเด็นข้อห้ามที่สำคัญก็คือ ห้ามจัดสรรเก้าอี้ส.ส.ให้แก่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยส.ส.อันพึงมีได้ นั่นคือ 71,057 เท่านั้น
รัฐธรรมนูญมาตรา 91 หลักเกณฑ์การคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1)นำจำนวนบัตรดีทั้งประเทศ(หักบัตรเสียและโหวตโน) หารด้วย 500 อันเป็นจำนวนเต็มส.ส.ทั้งสภา ก็ออกมาที่ 71,057.4980 คะแนน
(2)นำผลลัพธ์ตาม(1)ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรค จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
(3)นำจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมีได้ตาม(2) ลบด้วยจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตที่พรรคนั้นได้รับ ผลลัพธ์คือจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับ
(4)ถ้าพรรคการเมืองใดได้ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวนส.ส.อันพึงมีได้ตาม(2) ก็ให้พรรคนั้นมีส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับเลือกจากการแบ่งเขต และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
และให้นำจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีนวนส.ส.เขตต่ำกว่าจำนวนส.ส.ที่พรรคนั้นจะมีได้ตาม(2)ตามอัตราส่วน
*แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม(2)
คงไม่มีอะไรที่จะไม่ชัดเจนเท่ามาตรา 90 แห่งรัฐธรรมนูญนี้แล้วนะครับ และก็จะเห็นได้ว่า (2)แห่งมาตรานี้ เป็นสาระหลักที่จะเชื่อมร้อยไปยังประเด็นอื่น ๆ ทุกประเด็น
ซึ่งก็ยืนยันชัดเจนว่า ไม่อาจจะเอาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อไปแจกจ่ายให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำเกณฑ์จำนวนส.ส.อันพึงมีได้อย่างชัดเจน
พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 128 ก็ยังมีข้อความล้อกันไปกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่ มิได้มีข้อความใดขัดหรือแย้งหรือยังเป็นถ้อยคำเดียวกันด้วยซ้ำ
หลักทั่วไปของกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายลำดับรองใด ๆ จะมาขัดหรือแย้งไม่ได้ และเมื่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญชัดแจ้งแล้ว ก็มิพักจะไปพิจารณากฎหมายรองใด ๆ เลยด้วยซ้ำ
รัฐธรรมนูญมาตรา 91 ไม่ได้บอกเลยให้คิดเกณฑ์ส.ส.อันพึงมีได้ในรอบแรกเท่านั้น และก็ไม่ได้บอกเลยว่า จะต้องไม่ให้คะแนนเสียง “ตกน้ำ” โดยเอาไปแจกแก่พรรคจิ๋วที่คะแนนต่ำเกณฑ์ 7.1 หมื่นคะแนน
การที่พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า “พวกที่ชอบเอาชนะกฎหมายเป็นคนเลว” นั้น ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า “พวกที่พยายามเอาชนะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยิ่งเป็นคนเลวด้วยหรือไร”
เส้นแบ่งคนเลว-คนดี ชักลางเลือน ดูจะตัดสินกันที่ว่า ใครมีอำนาจ